ตอนที่ 33 ความหลากหลายพันธุกรรมพืช…ฟื้นฟูและสร้างความสมดุลของนิเวศ
“ละอองฟ้า” สวนอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนมากกว่า 50 สายพันธุ์ เหมราช เม็ดในกระดุม ละเวง ฟักข้าว ลำเจียก ซ่อนกลิ่น กำปั่นบางสีทอง อีลวง กบแม่เฒ่า กบตาขำ ชายมังคุด สาวน้อยเรือนงาม แดงสาวน้อย นมสด ฯลฯ และ “ละอองฟ้า” อันเป็นที่มาของชื่อสวนซึ่งมีรสชาติดี “……. พันธุ์ละอองฟ้า น่าจะเกิดจากการผสมข้ามตามธรรมชาติของดอกทุเรียนระหว่างสายพันธุ์หมอนทองกับก้านยาว เพราะถ้ากินละอองฟ้าจะนึกถึงหมอนทองกับก้านยาว นี่เป็นความมหัศจรรย์ของความหลากหลายที่มีคุณค่าและธรรมชาติเป็นตัวคัดสรรและสร้างขึ้นมา….” ชาตรี โสวรรณตระกูล ผู้สืบทอดดูแลสวนละอองฟ้า บ้านหุบลึก ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
ความเป็นมา ละอองฟ้า สวนอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียน
เริ่มจากพ่อมาก่อน ที่ทำสวนไม้ผลติดแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนจรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพฯ แต่ในปี 2508 เกิดน้ำท่วมใหญ่รวมทั้งความเป็นเมืองขยายเข้าไป จึงต้องอพยพโยกย้ายมาทำสวนที่จังหวัดนครนายก แต่พ่อได้เอาสายพันธุ์ทุเรียน และไม้ผลหลากหลายชนิดและสายพันธุ์มาด้วย ซึ่งช่วงนั้นเกษตรกรหลายรายได้อพยพไปซื้อที่ทำสวนไม่ว่าที่จันทบุรี ระยอง ไปถึงภาคใต้ แต่ไม่ได้ทำอย่างพ่อ ส่วนใหญ่จะเลือกเอาเฉพาะสายพันธุ์ที่คิดว่าปลูกแล้วจะทำรายได้ให้ครอบครัว ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ด้วยมีนโยบายส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรเลือกปลูกบางสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกหรือได้รับรางวัลในเวทีประกวดไม้ผลแต่พ่ อยังคงเลือกที่จะปลูกไว้หลายสายพันธุ์ อาจด้วยวัฒนธรรมการกินที่สืบทอดกันมาของครอบครัวก็เป็นได้ และเมื่อตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวในสวนที่พ่อได้ทำไว้ก่อนแล้ว จึงได้สานต่อและเรียนรู้ความเป็นไปของสวน จนเป็นสวนที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและสายพันธุ์ไม้ผล โดยเฉพาะทุเรียนจนเป็นที่รู้จักของผู้ที่ชอบกินทุเรียน
ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ทำ ที่เห็น
เวลาผ่านไป ต้นทุเรียนเจริญเติบโตออกดอกออกผล เกิดการผสมดอกข้ามกันไปมา จนกำเนิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีสีเนื้อ รสชาติ รูปร่างของต้นและผล แตกต่างๆ มากมาย ซึ่งธรรมชาติมีความมหัศจรรย์ ในการคัดสรรความหลากหลายของสายพันธุ์ทุเรียนที่เกิดขึ้น จนได้กลายมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมา และยังทำให้ได้เรียนรู้ว่า การรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางพันธุกรรม มีปัจจัยหลายประการ ตัวอย่างเช่น
- ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินใจความชอบ ความต่างของรสชาติทุเรียนแต่ละสายพันธุ์นั้น ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินใจว่าเลือกกินชนิดใด ด้วยต่างคนต่างมีความชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบกินเนื้อห่ามๆ บางคนชอบกินสุกแบบปลาร้า บ้างชอบเนื้อเนียน รสหวานมัน ฯลฯ ดังนั้น ความหลากหลายสายพันธุ์ย่อมเป็นที่พึ่งพอใจของผู้บริโภคที่สามารถเลือกตามความชอบของตน และผู้บริโภคคือผู้ที่สร้างความหลากหลายสายพันธุ์ให้คงอยู่และพัฒนาต่อไป
- ช่วงเวลาในการกินทุเรียนที่สุกตามธรรมชาติมากขึ้น ด้วยทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ให้ผลผลิตในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้ช่วงฤดูการกินทุเรียนยาวขึ้น ผู้บริโภคก็สนุกและมีความสุข ซึ่งต่างกับการหาซื้อทุเรียนในตลาดมาบริโภคที่เลือกสายพันธุ์กินได้น้อย และมีการใช้สารเร่งให้ผลผลิตออกนอกฤดูกาลทำให้รสชาติทุเรียนด้อยค่าไป
- ธรรมชาติสร้างและฟื้นฟูระบบนิเวศ จากที่สวนละอองฟ้าไม่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตร และมีพืชพันธุ์หลากหลายชนิดที่นอกเหนือจากทุเรียน เช่น เงาะ มังคุด มะยงชิด สับปะรด และไม้พันธุ์ป่าอื่นๆ ทำให้มีนก ผึ้ง กระรอก เข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งสัตว์เหล่านี้เอง ที่ได้เข้ามาฟื้นฟูระบบนิเวศในสวนให้มากยิ่งขึ้น เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ จากที่มีนก มีผึ้งมาช่วยผสมเกสร ถึงแม้บางครั้งจะพบว่ามีสัตว์อื่นๆ เช่น กระรอกมาขโมยไม้ผลสุกกินไปบ้าง ก็แบ่งปันกันไป
- ปล่อยต้นไม้ที่เกิดและเติบโตในสวนอย่างธรรมชาติ สวนละอองฟ้าจะเก็บต้นทุเรียนที่เติบโตขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ต้นนั้นเนื้อไม่เยอะ แต่มีทรงพุ่มดี ทรงลูกสวย เพราะนั่นอาจเป็นต้นตอที่ให้กำเนิดสายพันธุ์ใหม่ๆ หรือเป็นส่วนสำคัญในการขยายพันธุ์ต่อไป
การไปเรียนรู้ที่่อื่นเป็นการพัฒนาตัวเอง ชาตรีได้มีโอกาสไปทางตอนใต้ของประเทศพม่า ได้เป็นเห็นชุมชนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน พื้นที่บริเวณรอบๆ บ้านได้ปลูกพืช ผัก ไม้ผลไว้หลากหลายซึ่งสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่าย วิถีชีวิตเป็นแบบเรียบง่ายและพอเพียง มีพืชหลักที่เป็นรายได้คือหมาก ซึ่งส่งออกเป็นอุตสาหกรรม แต่ทุเรียนก็อยู่ร่วมกันกับต้นหมาก ความหลากหลายของพันธุกรรมที่นั่นสมบูรณ์มาก เป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ในขณะที่บ้านเราความหลากหลายลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศได้ จำเป็นต้องมีการรักษาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการรักษาความหลากหลายพันธุกรรม
ความหลากหลายของพันธุกรรมพืชสามารถฟื้นฟูและสร้างระบบนิเวศให้สมดุล ดังนั้น มีความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันไม่เฉพาะคนในวงการเกษตรหรือนักอนุรักษ์เท่านั้น แต่ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างความหลากหลายของพันธุกรรม
อ้างอิง ข้อมูลจากเวทีเสวนา “พันธุกรรมไม้ผล : นวัตกรรมของการอนุรักษ์และพัฒนาบนฐานภูมินิเวศและความยั่งยืน วันที่ 25 มิถุนายน 2563 มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านปี 2563