โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ปองซา บ้านลัวะที่เมืองน่าน กินข้าวพื้นบ้านบนดอยภูคา

เดินทางแวะเวียนไปเยือนถิ่นภูเขาสูงแห่งเมือง น่านหลายครั้งหลายคราแล้ว แต่ดอยภูคายังคงมนต์ขลังอยู่ไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าช่วงนี้จะย่างเข้าหน้าร้อนแล้ว แต่พื้นที่สูงแถบนี้ก็ยังคงมีสายหมอกขาวๆ สายลมเย็นๆให้สัมผัสอยู่ได้เสมอๆ แถมยังคงได้ตื่นเต้นกับเส้นทางสูงชันของเทือกเขาแห่งนี้ได้พอสมควร ครั้งนี้เราไม่ได้มาเพื่อทำความรู้จักกับชมพูภูคาพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นหายาก ของที่นี่ แต่มาเพื่อเรียนรู้วิถีแห่งชนเผ่าลัวะซึ่งใช้ชีวิตแบบเกื้อกูลกับธรรมชาติมา ช้านานแล้ว

จากพื้นที่ซึ่งมีระดับความสูงมากกว่า 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง รายรอบด้วยยอดภูสูงอีกหลายต่อหลายลูก เลยทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนแอบอิงอยู่กับป่าไม้ ลำน้ำและทรัพยากรจากดอยภูคาเป็นหลัก มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองท้องถิ่นชื่อหลายชนิด เช่น มะขม มะแขว่น ต๋าว มะโก เมี่ยง ก๋ง เป็นต้น

วัฒนธรรมชนเผ่าซึ่งวิถีการดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า ทำไร่ข้าวแบบหมุนเวียน กำลังถูกวิถีแห่งโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการหมุนไร่ไม่สามารถทำได้เหมือนดังเดิม พื้นที่ในการหมุนเวียนจาก 5-9 ปีลดลงเหลือไม่เกิน 4 ปี ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลง ผลผลิตก็ลดน้อยตามลงไปด้วย ซ้ำร้ายคนที่ไม่เข้าใจในระบบไร่หมุนเวียนยังกล่าวหาว่า เป็นผู้ทำลายป่า ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ระบบไร่หมุนเวียนนั้นเป็นการปลูกข้าวไร่ ผสมกับพืชผักชนิดอื่น เช่น พริก มะเขือ งาดำ ฟักเขียว ฟักทอง น้ำเต้า มะระ ถั่ว ข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองและพืชตระกูลแตง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปแปลงอื่นที่ได้ปล่อยไว้ให้พักตัวแล้ว และปล่อยให้พื้นที่ซึ่งเพิ่งทำการผลิตได้มีการพักตัวตามธรรมชาติ โดยอาศัยกลไกธรรมชาติจากพื้นที่ป่าที่อยู่โดยรอบแปลงในการพื้นฟูความอุดม สมบูรณ์ของดิน 1

ข้าวไร่ที่ปลูกในแต่ละบ้านหลากหลายสายพันธุ์ โดยแต่ละครอบครัวจะรักษาพันธุ์ข้าวไร่พื้นบ้านไว้ประมาณครอบครัวละ 3 -4 สายพันธุ์ เท่าที่ได้เห็นมีข้าวกว่าสิบสายพันธุ์ อาทิ ข้าวห้าว ข้าวลือ ข้าวป็อก ข้าวซีว ข้าวเจ้าไร่ ข้าวก่ำ ข้าวหนอน ข้าวลาย ข้าวต่วย สันป่าตองดอสะเกิ้น ข้าวแพร่นา ข้าวเหลือง ข้าวหอมจันทร์ ข้าวป้อม ข้าวหนอนในแดง ข้าวหัวลายแดง นับว่าเป็นความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวที่ค่อนข้างมาเมื่อเทียบกับพื้นที่ ราบของภาคเหนือที่แทบไม่มีข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านของท้องถิ่นอยู่เลย

ข้าวไร่สายพันธุ์พื้นบ้านเป็นข้าวที่เหมาะกับลักษณะนิเวศชุมชน มีรสอร่อย จนนำมาสู่การเรียนรู้เพื่อให้เข้ากับวิถีที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันมากยิ่ง ขึ้น ทั้งการทำการทดลองนำสายพันธุ์ข้าวไร่มาปลูกในระบบแบบไร่/นาขั้นบันได เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความจำกัดมากยิ่งขึ้น จากการไม่สามารถหมุนทำไร่หมุนเวียนเช่นอดีต ทั้งนี้ชุมชนก็ยังคงยึดหลักความหลากหลายภายในแปลงซึ่งมีการปลูกพืชชนิดอื่น ให้เก็บกินได้เหมือนเคย

พระอาทิตย์เลยหัวมานิดๆกะเวลาน่าจะเกือบบ่ายโมงเศษๆแล้ว ได้ยินเสียงเพื่อนชาวลัวะตะโกนเรียกมาแต่ไกลๆว่า ปองซาๆ เลยละจากกิจกรรมที่ทำเพื่อไปร่วมวงอาหารเที่ยง หากเป็นช่วงก่อนหน้านี้คงงงไปพักใหญ่ จนได้มารับรู้ว่า ปองซา ในภาษาลัวะ หมายถึง กินข้าวนั่นเอง

ข้าวที่คนลัวะเมืองน่านกินส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง กินกับน้ำพริก พร้อมผักสดๆ ไร้สารเคมีจากไร่ แถมลาบคั่วอีกหนึ่งจาน บอกได้เลยว่าลำแต้ๆ(อร่อยมากๆ) แม้ว่าวิถีการทำเกษตรกรรมจะปรับเปลี่ยนจากการทำไร่ข้าวมาเป็นไร่หรือนาขั้น บันได ด้วยสมองและสองมือของเหล่าเกษตรกรเชื้อสายลัวะจากดอยภูคา จังหวัดน่านจะดำเนินมาได้ไม่นาน แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาความของพืชผักไว้ให้ได้กินอย่างเช่นเคย และวัฒนธรรมของชนเผาก็ไม่ถูกทิ้งขว้าง ความเชื่อดั้งเดิมในการเข้ากรรมหรือการงดเว้นกิจกรรมในไร่ก็ถูกถ่ายทอดมายัง ระบบนาเช่นกัน

การก้าวทันกระแสโลกของคนที่นี่เป็นการปรับเอาความรู้จากภายนอกให้เข้ามาผสม ผสานกับวัฒนธรรมของตนเอง แทนที่เราจะไปวิ่งตามกระแสของภายนอก คนที่นี่ยังคงเชื่อมั่นในวิถีแห่งธรรมชาติ วัฒนธรรมของตนเอง รักษาป่าไม้แหล่งน้ำไว้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน รวมทั้งยังปลูกข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ด้วยวิธีการทำการทดลองแบบวิทยาศาสตร์แบบชาวบ้านได้ จนมีข้าวปลาอาหารให้กินอย่างอุดมสมบูรณ์

คราวหน้าหากได้ยินพี่น้องลัวะ ร้องเรียกว่า ปองซาแล้วละก็ อย่าลืมแวะไปร่วมวงกินข้าวกินปลากับพวกเขาหละ จะได้ลิ้มรสข้าวพื้นบ้านแสนอร่อย ที่ปราศจากสารพิษอย่างแน่นอน

บทความแนะนำ