ฟื้นคืนวิถีชาวนาในเมืองหลวงปาล์มน้ำมัน ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนห้วยน้ำขาว จังหวัดกระบี่
รายงานโดย ถาวร ศร่างเศร้าเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดกระบี่
กลุ่มชาวนาตำบลห้วยน้ำขาว เป็นกลุ่มที่รวบรวมสมาชิกทั้งที่ยังมีพื้นที่ทำนาเป็นของตนเอง และไม่มีที่ทำนาเป็นของตนเอง และยังอยากที่จะทำนา เข้ามารวมกลุ่มได้ 16 คน เพื่อที่จะสืบทอดวิถีการทำนา รักษาพื้นที่นา และพันธุกรรมข้าวท้องถิ่นเอาไว้
ที่ผ่านมาคนในตำบลห้วยน้ำขาว มีอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ แต่พอพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา กับ ปาล์มน้ำมัน เข้ามา ทำให้วิถีของคนตำบลห้วยน้ำขาวเปลี่ยนไป หันไปทำสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันเพื่อขายผลผลิตแล้วมาซื้อข้าวสารกิน แทนการทำนาปลูกข้าวกินเอง อีกทั้งจากสภาพดิน ฟ้า อากาศเปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้พื้นที่ทำนาถูกแปลงไปเป็นพื้นที่ทำสวนยางและสวนปาล์ม พันธุกรรมข้าวดั้งเดิมสูญหาย ทางกลุ่มจึงเห็นว่า ควรจะสืบทอดวิถีการทำนา และรักษาพื้นที่นา และพันธุ์กรรมข้าวดั้งเดิมเอาไว้
สำหรับปีการผลิตนี้ (ปี 2552) ทางกลุ่มได้รวบรวมพื้นที่นา ได้ 4 แปลง 24 ไร่ และรวมรวมพันธุ์ข้าวได้รวม 23 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ ข้าวมะลิขาว ข้าวหอมจันทร์ ข้าวเบาหอมสารแดง ข้าวนกเขา ข้าวเก้ารวง ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวนมวัว ข้าวเหนียวกาบอ้อย ข้าวเหนียวลูกผึ้ง ข้าวเหนียวหมากแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวลอย ข้าวเหนียวเถาแตก ข้าวสันป่าตอง ข้าวช้างสาน ข้าวเล็บนก ข้าวลูกขอ ข้าวเข็ม ข้าวมะลิแดง ข้าวสังหยด ข้าวหอมนิล ข้าวหน่วยเขือ
แปลงที่ 1 เป็นแปลงนา ของนายหม้อหราด หวังสป มีเนื้อที่ 4 ไร่ ได้ปลูกข้าวไว้เพื่อกินเอง และรักษาพันธุ์ข้าว สำหรับพันธุ์ข้าวทีปลูกมี 8 ชนิดพันธุ์ เช่น ข้าวเล็บนก ข้าวลูกขอ ข้าวเข็ม ข้าวมะลิแดง ข้าวสังหยด ข้าวหอมจันทร์ ข้าวหอมนิล
แปลงที่ 2 เป็นแปลงนาของนายอุไร เหลนเพ็ชร มีเนื้อที่ 10 ไร่ ได้ปลูกข้าว ไว้เพื่อกินเอง และรักษาพันธุ์ข้าว สำหรับพันธุ์ที่ปลูกมี 16 ชนิดพันธุ์ เช่น ข้าวมะลิขาว ข้าวหอมจันทร์ ข้าวเบาหอมสารแดง ข้าวนกเขา ข้าวเก้ารวง ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวนมวัว ข้าวเหนียวกาบอ้อย ข้าวเหนียวลูกผึ้ง ข้าวเหนียวหมากแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวลอย ข้าวเหนียวเถาแตก ข้าวสันป่าตอง ข้าวช้างสาน
แปลงที่ 3 เป็นแปลงนา ของ นางมยุรี เจือทอง มีเนื้อที่ 3 ไร่ ได้ปลูกข้าว ไว้เพื่อกินเอง และรักษาพันธุ์ข้าว สำหรับพันธุ์ที่ปลูก มี 3 ชนิดพันธุ์ เช่น ข้าวเก้ารวง ข้าวเล็บนก ข้าวหน่วยเขือ
แปลงที่ 4 เป็นแปลงนาของ นายสมปอง นุชทอง มีเนื้อที่ 7 ไร่ ได้ปลูกข้าว ไว้เพื่อกินเอง และรักษาพันธุ์ข้าว สำหรับพันธุ์ที่ปลูก มี 3 ชนิดพันธุ์ เช่น ข้าวนกเขา ข้าวเล็บนก ข้าวหอมจันทร์
วีถีการทำนาของชาวนาทางภาคใต้ของพื้นที่ฝั่งตะวันตกหรือพื้นที่ที่ได้รับ อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกที่พัดจากทะเลอันดามันทำให้ฝนเริ่มตก ลักษณะของพื้นที่นาส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ลาดเอียงจากที่ราบสูงหรือเทือกเขา ลงสู่ทะเล และเป็นพื้นที่นาแบบสายน้ำไหลผ่านจึงเหมาะแก่การทำนาปีตามฤดูกาล ในเดือนหก หรือ ระหว่างเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ชาวนาเริ่มเตรียมพื้นที่ตกกล้าโดยการถางป่าเพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ (เรียกว่าหว่านกล้า) และเตรียมดิน ที่เรียกว่าไถดะโดยใช้ควายเป็นตัวลากคันไถที่ทำด้วยไม้ ซึ่งประกอบไปด้วย หางยาม คันไถ หัวหมู ผานเหล็ก สายพาน และโกะ หรือใช้ควายหลายตัวเหยียบโคลนที่ขังน้ำไว้ในแปลงนาจนเป็นเทือกที่สามารถปัก ดำต้นกล้าได้ แต่ในปัจจุบันวิถีดั้งเดิมเปลี่ยนไป หันมาใช้รถไถเดินตามแทนทำให้ควายพลอยสูญหายไปด้วย
ในระหว่างเดือน สิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงที่ชาวนาเริ่มไถแปรและคราดทำเทือกเพื่อปักดำต้นกล้า โดยการไปถอนกล้ามาจากแปลงเพาะทำเป็นมัด ก่อนดำจะนำรากกล้ามาจุ่มปุ๋ย เมื่อก่อนไม่ใช้ปุ๋ยเคมีชาวนาจะไปเอาขี้ค้างคาวมาจากถ้ำมาละลายน้ำพอเปียก แล้วจุ่มโคนกล้าลงไปก่อนนำไปปักดำ และหว่านขี้ค้างคาวที่เหลือหลังปลูกได้หนึ่งเดือนเพื่อนเป็นปุ๋ยบำรุงต้น ข้าว และขังน้ำในแปลงนาจนข้าวพองกอและตั้งท้อง จึงจะปล่อยน้ำออก เมื่อข้าวออกรวงและเป็นเมล็ดอ่อนพอเป็นน้ำนม ศัตรูข้าวที่สำคัญคือ นก (ภาคใต้เรียกว่า นกลา) จะกัดเมล็ดข้าวดูดเอาน้ำนมข้าว ทำให้ข้าวลีบ ไม่มีเมล็ด ช่วงนี้ควรต้องเฝ้าระวังนก หรือใช้ภูมปัญญาชาวบ้านในการป้องกัน เช่น ทำหุ่นไล่กา ชักแร่ง ดักตาข่าย ดักยาง หรือนำเหยี่ยวมาตากให้แห้งแล้วนำมาแขวนไว้กลางนา ทำให้นกกลัว
เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยว ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครัวเรือน หรือลงแขก โดยใช้ แกะ เก็บทีละรวง สวนภาชนะที่ใส่ ใช้กระสอบที่ทำจากใบเตย ก่อนนำขึ้นยุ้งข้าว ภาคใต้เรียกว่าเรือนข้าวและเข้ากอง ส่วนการการขนย้ายจากแปลงนาแบบดั้งเดิม จะใช้แสก ที่ทำจากหวาย และไม้หาบ ที่ทำจากไม้ไผ่ หาบข้าวทีละ 2-4 สอบ มาที่เรือนข้าว
ปกติการทำนาของคนบ้านห้วยน้ำขาวจะเริ่มหว่านกล้า เดือนต้นกรกฎาคม และเริ่มปักดำในปลายเดือนสิงหาคม แต่สำหรับปีฝนไม่ตกตามฤดูกาลทำให้นาไม่มีน้ำ และในพื้นที่เกิดโรคระบาด คือ โรคชิกุลคุณย่า ทำให้ชาวนา เจ็บไข้ได้ป่วยกันเกือบทั้งหมู่บ้าน จึงได้ปักดำในเดือนตุลาคม สำหรับเรื่องพิธีกรรมข้าว จะทำเหมือนกับการทำข้าวไร่ทุกประการ