โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

          กลุ่มคนงานสมานฉันท์ บางบอน เกิดจากการรวมตัวของคนงานโรงงานเบด แอนด์บาธ ที่ผลิตสินค้าแบรด์เนม เช่น Nike Rebox และ Adidas หลังจากการถูกเลิกจ้างกะทันหัน เมื่อโรงงานปิดตัวลงในวันที่ 7 ตุลาคม 2445 โดยไม่มีการแจ้งให้คนงานได้รู้ล่วงหน้า ไม่มีการจ่ายค่าจ้างและเงินชดเชยค้างจ่าย ส่งผลให้คนงานกว่า 800 ชีวิตต้องเคว้งคว้าง และคนงานจำนวน 350 คน ได้รวมตัวชุมนุมนาน 3 เดือน จนเกิดการแก้ระเบียบกฏหมายแรงงานโดยขยายการจ่ายเงินกรณีค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชย จากนั้นคนงานจำนวน 40 คน ได้ร่วมตัวจัดตั้ง “โรงงานกลุ่มสมานฉันท์ Solidarity Group” ภายใต้คำขวัญที่ว่า “โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน” และได้เช่าตึกแถว 3 ชั้นจำนวน 3 หลังในซอย 64/2 เขตบางบอน เพื่อตั้งโรงงาน


          ผ่านมา 18 ปี กลุ่มคนงานสมานฉันท์ยังคงความตั้งใจในการสร้างโรงงาน ถึงแม้เกิดเรื่องราวล้มลุกคลุกคลานมากมายมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคนงานคนแล้วคนเล่า จากคนงานที่ร่วมก่อตั้ง 40 คน เหลือเพียง 4 คนที่ยังยึดเป้าหมายความเป็นศักดิ์ศรีของแรงงานที่ต้องได้รับความเป็นธรรม และมีความเท่าเทียมกัน ไม่ถูกกดขี่จากนายจ้าง บางส่วนต้องออกไปเพราะอายุที่มากขึ้นและต้องการกลับไปทำเกษตรที่บ้านเกิดในต่างจังหวัด อย่างไรแล้วสำหรับโรงงานเล็กๆ แห่งนี้ความเหมาะสมของคนงานจะอยู่เฉลี่ยราว 30 คนซึ่งจะสอดคล้องกับปริมาณงานที่บางช่วงมีมาก บางช่วงแถบไม่มีงานให้ทำ และเรื่องราวของกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีพลังยืนยัดบนสถานการณ์วิกฤตต่างๆ และร่วมฝ่าฟันกันมา ซึ่งต้องน้อมยอมรับความมุ่งมั่นในบทเรียนของกลุ่มคนงานนี้เป็นอย่างยิ่ง

สถานะและความเป็นอยู่ของกลุ่มคนงานสมานฉันท์

          ทั้งในภาวะปกติและวิกฤตต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มคนงานสมานฉันท์เป็นกลุ่มคนเปราะบางที่เมื่อครั้งเป็นหนุ่มสาวได้ออกจากบ้านเกิด ซึ่งล้มเหลวจากอาชีพเกษตรกรรมที่ต้นทุนในการผลิตสูงกว่ารายได้และเป็นหนี้เป็นสิน และด้วยความหวังที่ว่าการมารับจ้างทำงานในเมืองหลวงจะทำให้ชีวิตของตนและครอบครัวดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงาน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายแต่ได้ส่งเงินกลับไปบ้านเพื่อเป็นทุนในการทำเกษตรมาอย่างไม่ขาด ถึงแม้สถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะติดลบ ต้องกู้เงินทั้งในและนอกระบบเพื่อใช้จ่าย และเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นย่อมซ้ำเติมความอยู่รอดของคนงานไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของโควิด ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันโรงงานแทบจะไม่มีงานเข้ามา แต่กลุ่มคนงานสมานฉันท์ที่ตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเล็กๆ แห่งนี้ ยังคงมีความหวังที่จะเป็นต้นแบบ “โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน” และความเป็นอยู่ของกลุ่มที่ได้ปฏิบัติมาอย่างเช่น


          ตั้งกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล โดยเน้นการบริหารที่มีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคน เช่น พิจารณาศักยภาพของสมาชิกกลุ่มในการกำหนดบทบาทหน้าที่ ใช้เวทีประชุมในการวางกฎระเบียบกติกาการอยู่ร่วมกัน เช่น ห้ามส่งเสียงดังทั้งเวลาทำงานและเลิกงาน ห้ามเสพยาและครอบครองยาเสพติด ทุกคนต้องช่วยกันรักษาและทำความสะอาดเนื่องจากโรงงานไม่มีแม่บ้าน เมื่อมีปัญหาต้องมาพูดคุยหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ดังนั้นการทำงานจึงให้ความเคารพ ให้สิทธิ ให้เสรีภาพอย่างเท่าเทียมเปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน

        
          มีสวัสดิการที่ดีและง่าย นอกจากการมีระบบประกันสังคมทั้งมาตรา 33 ที่โรงงานจ่ายเงินสมทบ และมาตรา 40 สำหรับแรงงานนอกระบบที่ต้องจ่ายเอง คนงานสามารถเบิกค่าจ้างล่วงหน้าตามความจำเป็นได้ครั้งละ 2,000 บาท สามารถลางานเพื่อกลับไปช่วยทำนาได้ตามที่ต้องการ ด้านที่พักอาศัยนั้นได้ใช้ชั้น 3 และดาดฟ้ากั้นเป็นห้อง โดยคนงานจ่ายค่าที่พักรวมค่าน้ำและค่าไฟในราคา 600-750 บาท/เดือน/ห้อง และสามารถเอาลูกเอาหลานมาอยู่ด้วยได้ มีการเก็บรวบรวมเศษผ้าที่เหลือใช้และขวดน้ำไปขายและนำรายได้มาซื้อเครื่องทำน้ำดื่มสำหรับคนงาน มีการใช้พื้นที่ว่างเปล่าบนดาดฟ้าสำหรับปลูกผักไว้บริโภคร่วมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย เปิดโอกาสให้คนงานสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มทักษะ ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เป็นต้น


          ที่สำคัญจากภาวะเศรษฐกิจที่ติดลบและคนงานต้องพึ่งพิงแหล่งเงินกู้ทั้งในและนอกระบบมาใช้จ่าย กลุ่มได้มีการพูดคุยและเห็นร่วมกันว่าหนี้นอกระบบนั้นคิดดอกเบี้ยในอัตราสูง จึงได้พัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการปลดหนี้นอกระบบขึ้นในปี 2563 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีระเบียบการออมทุก 15 วัน สมาชิกสามารถออมขั้นต่ำสุด 300 บาท แต่ไม่เกิน 1,500 บาท กลุ่มเปิดให้กู้ทุกเดือน โดยกำหนดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน และต้องมีการคืนทุกเดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากไม่คืนไม่สามารถกู้ใหม่ได้ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน กลุ่มตั้งเป้าหมายที่จะให้ผลกำไรนำมาจัดเป็นสวัสดิการ เช่น ได้ค่าชดเชยในยามเจ็บป่วย เป็นต้น การมีกลุ่มออมทรัพย์ ทำให้สมาชิกให้ความสำคัญต่อการออมและวิเคราะห์ความจำเป็นในการใช้จ่ายมากขึ้น และเรียนรู้ถึงการเอาเปรียบจากแหล่งเงินกู้นอกระบบมากยิ่งขึ้น


         ปรับรูปแบบการจัดการของโรงงาน จากเดิมที่โรงงานใช้วิธีรับช่วงงานต่อจากโรงงานอื่นๆ หรือรับงานขององค์กรภาคีหรือบริษัทต่างๆ ที่อาศัยความคุ้นเคยหรือแนะนำต่อๆ กันมา ถึงวันนี้กลุ่มได้เพิ่มวิธีการดำเนินงานโดยการเข้ารับประมูลชิ้นงานแล้วมาจัดการบริหารเอง ซึ่งได้เริ่มในช่วงปี 2563 ทำให้โรงงานเติบโตมีงานต่อเนื่อง ถึงแม้ในช่วงต้นของการรับงานประมูลเป็นเรื่องใหม่และไม่มีประสบการณ์ที่ต้องเข้าไปแข่งขันกับคู่แข่งที่ส่วนใหญ่มีต้นทุนมากกว่า ทำให้โรงงานเล็กๆ ไม่สามารถสู้ราคาประมูลที่ต่ำกว่าได้ เพราะนั่นหมายถึงการกลับมากดค่าแรงงานจากคนงานในโรงงาน ทำให้โรงงานต้องพลาดโอกาสไปหลายครั้ง ต่อเนื่องมาเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้งานเข้าประมูลลดน้อยลงไป พร้อมกับชิ้นงานอื่นๆ ที่ไม่มีเข้ามา


         การสร้างพื้นที่อาหารเพื่อการบริโภคและแบ่งปัน พื้นที่ว่างจากการกั้นห้องบนดาดฟ้าเนื้อที่ประมาณ 24 ตารางเมตรได้ถูกแปรสภาพให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและมีอาหารปลอดภัยไว้บริโภค กิจกรรมนี้ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2553 คนงานทุกคนสามารถเข้ามาดูแลจัดการและนำผักไปกินได้ ผักที่ปลูกจึงเป็นผักที่ชอบกินซึ่งมีมากกว่า 30 ชนิด ตัวอย่างเช่น พริก กะเพรา โหระพา ต้นห้อม ผักชี ข่า ตะไคร้ มะกรูด ผักบุ้ง ผักกาด คะน้า ผักแพว และผักกินผล เช่น มะระ แตงกวา ฟักเขียว มะละกอ มะเขือเปราะ หลังเลิกงานช่วงเย็นหรือวันหยุดคนงานมาช่วยกันดูแล เมื่อได้ผลิตสามารถเก็บไปทำอาหารหรือแบ่งปันได้ ผักบนดาดฟ้าที่นี้จึงมีผลผลิตต่อเนื่อง และกลุ่มเคยประเมินมูลค่าผักที่เก็บมากินเป็นตัวเงินพบว่าตกเฉลี่ยเดือนละเกือบ 1,000 บาท ซึ่งสามารถลดรายจ่ายด้านอาหารไปได้มาก ที่สำคัญผักบนดาดฟ้าได้มีบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับกลุ่มในทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น


          สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีต่างๆ กลุ่มคนงานสมานฉันท์ได้ประสานความร่วมมือภาคีต่างๆเพื่อร่วมมือและขับเคลื่อนให้เกิด “โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน” อย่างแท้จริงนอกเหนือจากปฏิบัติการต่างๆ ไม่ว่าการสร้างกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล การมีสวัสดิการที่ดีและง่าย การปรับรูปแบบการทำงานที่ทันสถานการณ์ การสร้างพื้นที่อาหารเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งโรงงานสามารถจัดการกันเองได้ภายใน แต่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานเพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง และมีระบบสวัสดิการที่ได้ได้รับการยอมรับในทางกฎหมาย และมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียม จำเป็นที่ต้องร่วมมือและประสานกับภาคีต่างๆ เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) หรือการประสานร่วมมือกับโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการสร้างพื้นที่อาหารของโรงงาน รวมทั้งร่วมศึกษาวิจัยร่วมกับโครงการ “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของคนเมือง กรณีศึกษา : เกษตรในเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เพื่อศึกษารูปแบบเกษตรในเมืองในมิติต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของคนเมือง รวมถึงการเกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มชุมชนเมืองที่อยู่บนฐานความรู้ และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม


          ที่สำคัญในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เป็นช่วงไม่มีงานเข้ามา สมาชิกต้องหางานภายนอกเป็นรายวันมาเสริมรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงได้วางแผนการพึ่งตนเองด้านอาหารเพื่อลดรายจ่ายให้มากที่สุด การปลูกผักบนดาดฟ้าจึงมีปริมาณมากขึ้น ในขณะเดียวกันได้รับการช่วยเหลือการแบ่งปันอาหารจากกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต เพื่อให้มีอาหารดูแลคนงานที่ยังพักอยู่ในโรงงาน นอกจากนั้นกลุ่มคนงานสมานฉันท์ได้สำรวจพื้นที่รอบๆ โรงงาน พบว่า มีคนตกงานและได้รับผลกระทบเรื่องรายได้เป็นจำนวนมาก จึงนำผลผลิตที่ได้มาแบ่งปันไปได้อีกราว 250 คน/สัปดาห์


          ความหมายของการรวมกลุ่มของคนเล็กๆ กลุ่มนี้เป็นไปเพื่อขับเคลื่อนการสร้างโรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน และเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ชวนให้สังคมได้ตระหนักและยอมรับถึงความสำคัญของการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เกิดมากขึ้นในปัจจุบัน

บทความแนะนำ