โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 18 ภาคเกษตรกรรมอยู่รอดและยั่งยืน… ต้องปลอดการผูกขาดจากระบบการผลิตขนาดใหญ่

        มุมองของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ต่อวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ในครั้งนี้ว่า มีรากปัญหาเชื่อมโยงกับปัญหาด้านต่างๆ ที่ต่อกันกันมา ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด สังคมไทยมีกระแสไม่พึ่งพอใจต่อระบบการจัดการหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าปัญหาฝุ่นพิษในเมืองหลวง ตลอดจนฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ปัญหาราคาสินค้าภาคเกษตรที่ตกต่ำ ภาวะภัยแล้ง และภาวะตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจ วิฑูรย์ให้ความเห็นว่า “กรณีการเกิดโรคระบาดโควิด เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่นเดียวกันกับการเกิดโรคระบาดในพืช หรือสัตว์ บางครั้งอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมีปัจจัยต่างๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้ อย่างไรก็ตามวิกฤตที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งเมืองและชนบทมากขึ้น”

        หากมองภาพรวม 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเมือง นโยบายการพัฒนาเมือง ฯลฯ ขยับขยายและเกิดขึ้นมากมาย เป็นผลกระทบในสังคมวงกว้าง แต่ถ้าย้อนไป 20 ปี ในปี 2540 กรณีเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เห็นได้ว่าภาคเศรษฐกิจในเมืองล้มละลาย แต่ภาคเกษตรกรรมในชนบทกลับได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากภาคเกษตรในช่วงนั้น มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ชุมชนสามารถพึ่งพาฐานทรัพยากรและสร้างความมั่นคงอาหารได้

ข้อเสนอสำหรับการอยู่รอดและยั่งยืนของภาคเกษตร

        แนวทางสำหรับความอยู่รอดและยั่งยืนในระบบเกษตรกรรมนั้น ต้องเกิดขึ้นทั้งจากเกษตรกร และการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น
        –ชุมชนเกษตรกรรมต้องรักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากร ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ดิน น้ำ ป่า ต้องได้รับการดูแล จัดการโดยชุมชน เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นรากฐานความมั่นคงทางอาหาร ของชุมชน
        –เกษตรกรต้องเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะที่ดิน และเมล็ดพันธุ์ เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งพบว่าเมล็ดพันธุ์ได้กลายเป็นต้นทุนที่สูงในอันดับต้นของการทำเกษตร เกษตรกรต้องรู้จักการคัดเลือกปรับปรุงและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกรเอง
        –การทำเกษตรต้องอยู่ในระบบเกษตรนิเวศ ที่มีความหลากหลายของพันธุกรรมพืชและสัตว์ เป็นระบบที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เป็นระบบที่มีการจัดการตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาดโดยชุมชนเกษตรกร
        –ต้องมีระบบตลาดหลากหลายรูปแบบ และเป็นธรรม ไม่ว่าตลาดนัด ตลาดสีเขียว ตลาดออนไลน์ ในวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้นเห็นได้ ผู้บริโภคไม่สามารถไปหาซื้ออาหารในซุปเปอร์มาเก็ตได้ เนื่องจากมีมาตรการปิดห้าง และได้เกิดตลาดชุมชนหรือตลาดท้องถิ่นขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายรูปแบบตลาดมากยิ่งขึ้น
        –สนับสนุนการท่องเที่ยวในเชิงเกษตรนิเวศ ที่เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น การท่องเที่ยวในฟาร์มเกษตรที่เรียนรู้วิถีเกษตร
        –รัฐไม่ควรให้เกิดการผูกขาดทางด้านการตลาด ผ่านระบบการผลิตขนาดใหญ่หรือโมเดิร์นเทรด ผ่านไปยังห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเกต ร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากภายใต้ระบบดังกล่าว เป็นการรวมศูนย์การผลิตและการตลาด ซึ่งในปัจจุบันระบบดังกล่าวสามารถครอบคลุมการผลิตถึง 75%  แต่ควรมีพื้นที่ให้กับเกษตรกรรายย่อย สำหรับการจัดการผลผลิตและการตลาดโดยชุมชนเกษตรกรเอง
        –รัฐไม่ควรให้เกิดการผูกขาดด้านสิทธิบัตร โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศเสียเปรียบ และสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งทำให้เกษตรกรต้องรับภาระต่างๆ เช่น ไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เองได้ ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีราคาสูง
        –รัฐควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โครงการหรือการกำหนดนโยบายไม่ควรกำหนดจากส่วนกลางอันเป็นสาเหตุการรวมศูนย์

ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 : เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมและเกษตรกรรทไทย” มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 วันที่ 10 มิถุนายน 2563

บทความแนะนำ

การเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีรักษาความหลากหลายพันธุกรรมพืช ….แต่การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว และการจำกัดสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นปัจจัยทำให้พันธุกรรมพืชลดลง : สุพจน์ หลี่จา