โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

       การระบาดระลอกใหม่ของ covid-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้นั้นแน่ๆ คือ สถานการณ์ต่างไปจากคราวแล้ว อัตราของผู้ติดเชื้อแต่ละวันสูงขึ้น และกระจายไปทั่วทุกภาคอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาของผู้คนทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างจริงจัง

       กนกพร ดิษฐ์กระจันทร์ กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้โพสในเพจของตัวเองหลังเกิดการระบาดโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ถึงการสร้างอาหารในพื้นที่ด้วยการปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน รวมถึงการเลือกส่งผลผลิต โดยเฉพาะผักถึงบ้านเรือนผู้บริโภคโดยตรง แทนการวางขายในตลาดทางเลือกที่เคยทำมา ซึ่งเป็นการปรับตัวและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ก่อนจะมีมาตรการปิดตลาดเหมือนที่ผ่านมา

       เช่นเดียวกับเพจของณฐา ไชยเพชร จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่และผักปลอดภัยเทพา จังหวัดสงขลาที่ใช้ชื่อว่า ธรรมชาติ เพื่อชีวิต ได้โพสต์เรื่องราวตัวเองในวันที่ 25 ธันวาคม  2563 ช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ในระลอกสอง เป็นวันที่ณฐาเก็บข้าวไร่ที่ปลูกไว้หลากหลายชนิด เช่น ข้าวดอกไม้ ข้าวลูกจีน ข้าวไม่ตาก ข้าวสังข์หยดไร่ ข้าวช่อลำเจียก ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวดำ และได้กล่าวไว้ว่า “ความมั่นคงทางอาหาร คือฐานรากของชีวิต ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม เราพึ่งพาตนเองได้ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง …เรามีข้าวกิน เรามีความสุข ความสุขที่เกิดขึ้นจาการลงมือทำ …”

       และภายใต้วิกฤต่างๆ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมโลก ยังมีเกษตรกรอีกหลายครอบครัว หลายกลุ่ม หลายเครือข่ายที่เชื่อมั่นถึงแนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการสร้างความหลากหลายของพืชผักและสัตว์ในระดับแปลงเกษตร ว่าเป็นทางรอดฝ่าฟันวิกฤตที่เกิดขึ้น

       ทางเลือกหนึ่งที่สำคัญและเกษตรกรควรแก่การปฏิบัติ คือ การจัดการพันธุ์ให้เหมาะสม ให้มีความทนทานและเจริญเติบโต ให้ผลผลิตดี ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรรักษาผลผลิตสำหรับการบริโภคและจำหน่ายอย่างเพียงพอ และการจัดการพันธุ์ที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือ การคัดเมล็ดพันธุ์

การคัดเมล็ดพันธุ์

       การคัดเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกของเกษตรกร อันดับแรกที่สำคัญ คือ การคัดเลือกเมล็ดที่มีสายพันธุ์เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพฝนฟ้าอากาศของแต่ละท้องถิ่น โดยมีหลักการพื้นฐาน ดังนี้

       – การรู้จักสภาพพื้นที่และภูมิอากาศในท้องถิ่น โดยดูว่ามีพืชชนิดใด พันธุ์ใดที่เติบโตและให้ผลผลิตดี อย่างไรก็ตาม ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น พืชผลเสียหาย พันธุ์เดิมไม่สามารถทนทานกับความผันผวนของอากาศได้ หากเป็นเช่นนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องเลือกปลูกพืชพันธุ์ชนิดใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

       – เลือกใช้พันธุ์พื้นบ้าน เพราะพันธุ์พื้นบ้านมีแนวโน้มที่จะปรับตัวให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่นได้แม้ว่าจะเกิดปัญหาอากาศแปรปรวน ยกเว้นแต่จะเกิดสภาพอากาศแปรปรวนแบบสุดขั้วอย่างรุนแรง เช่น เกิดอากาศร้อนและแล้งติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน

       – เลือกใช้พันธุ์เพาะปลูกตามฤดูกาล เช่น ผักเมืองหนาวชอบอากาศหนาว ไม่ชอบฝนตกชุก ฤดูฝนควรปลูกพืชที่ต้องการความชื้นสูง ฤดูร้อนควรปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อย ทนอากาศร้อนและแห้งแล้งได้ดี

       – เลือกเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ให้ผลผลิตดีที่สุด เกษตรกรควรคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากแปลงเพาะปลูกของตนเอง ถ้าเป็นไปได้ควรทำแปลงเพาะปลูกสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ โดยเลือกเมล็ดจากต้นที่งามที่สุด เจริญเติบโตได้ดี ไม่มีโรค มีแมลงรบกวนด้วย ให้ผลผลิตดีที่สุดและรสชาติดีมาทำพันธุ์ ควรเก็บเมล็ดเมื่ออายุสุกแก่พอดี และควรเก็บในช่วงกลางวันที่มีแสงแดด น้ำค้างระเหยไปหมดแล้ว ในกรณีที่เกิดสภาพแปรปรวน แต่ต้นพืชสามารถอยู่รอด เติบโตและให้ผลผลิตดี ควรเก็บเมล็ดพันธุ์จากพืชต้นนั้นไว้ทำพันธุ์ต่อไป

       อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรไม่พร้อมที่จะคัดเลือกหรือเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองแล้ว สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ การหาเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น จากกลุ่ม/เครือข่ายเกษตรกร / ธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่มีการคัดเมล็ดพันธุ์ไว้แจกจ่าย จำหน่าย หรือแลกเปลี่ยน

       การคัดเลือกพันธุ์จะทำให้เกษตรกรได้พันธุ์พืชที่ทนทานและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตไม่ตกต่ำหรือเสียหายมาก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการผลิตของเกษตรกร ซึ่งส่งผลการสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้

บทความแนะนำ

ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย คุณกาญจนา เข็มลาย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคตะวันออก (วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)