โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน

โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้ปรากฏความเหลื่อมล้ำในอันดับต้นๆ ของโลก ถึงแม้จะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มาถึงฉบับที่ 13 แล้วก็ตาม โดยเฉพาะชุมชนชาวนารายย่อยที่ตกอยู่กับภาระหนี้สินมายาวนาน บางส่วนที่ดินทำกินถูกยึดไปแล้ว และอีกหลายๆ ครัวเรือนกำลังจะถูกยึด ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ควรมีมาตรการรองรับที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญสุดของการทำเกษตรเอาไว้แทนการขาดทอดตลาด และหลุดมือจากเกษตรกรไป

ดังนั้น การพัฒนาภาคเกษตรกรรมจึงต้องออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่จูงใจให้ชาวนารายย่อยสามารถปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในด้านสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีพและมีเก็บออม โดยสนับสนุนให้แปลงเกษตรมีผลผลิตทั้งพืชและสัตว์ที่หลากหลายและเกื้อกูลกัน เพื่อสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้มีตลาดในหลายระดับ เพื่อรองรับจำหน่ายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนมุมมองที่มองว่า ภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะชาวนารายย่อยเป็นเพียงแรงงานที่ผลิตวัตถุดิบเพื่อส่งให้กับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ให้เห็นศักยภาพของชาวนาในฐานะผู้ผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในสังคม

ข้อเสนอสำคัญ คือ รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการตลาดให้กับเกษตรกรในทุกระดับตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่นจนถึงระดับจังหวัด และหลากหลายรูปแบบรวมไปถึงตลาดซื้อขายออนไลน์ รวมถึงมีมาตรการจำกัดจำนวนร้านสะดวกซื้อไม่ให้ขยายลุกเข้าไปในทุกพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบริโภคที่เชื่อมโยงการผลิตโดยตรงของเกษตรกร และลดการขยายตัวระบบทุนผ่านร้านสะดวกซื้อที่มีมุมมองชาวนารายย่อยเป็นเพียงแรงงานผลิตวัตถุดิบเท่านั้น รวมถึงตลาดต้องถูกจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากดำเนินไปได้ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพและทักษะในการแปรรูปหรือสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทั้งในรูปผลผลิตอาหาร เครื่องปรุง เครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนงานศิลปะจากวัสดุในแปลงเกษตร เช่น การนำฟางข้าวทำหุ่น หรืองานหัตถกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น

เช่นเดียวกัน ต้องกล้าหาญสรุปบทเรียนการดำเนินงานภายใต้ระบบราชการที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดผลดีหรือล้มเหลวอย่างไรที่เป็นข้อเด่นหรืออุปสรรคต่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และหากว่าความสำเร็จในกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้น มาจากความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรประชาชนที่ได้รวมตัว หรืออาจมีการประสานความร่วมมือกับภาคีในท้องถิ่นนั้นๆ อาจร่วมไปถึงข้าราชการท้องถิ่นที่มาปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ก็มีความจำเป็นเช่นกันในการสรุปบทเรียนในแง่บทบาทขององค์กรต่างๆ ว่ามีพฤติกรรมหรือมีทัศนะคติอย่างไร เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยังอยู่ในวงจำกัดต่อไป ตัวอย่างเช่น แนวคิดและองค์ประกอบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติไม่ควรนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบรวมถึงเกษตรกรสามารถตั้งคำถามเพื่อคลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้นได้

บทความแนะนำ