ข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 เกิดจากเวทีสรุปบทเรียนร่วมกันระหว่างองค์กรเกษตรกร ภาคีภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีบทเรียนและข้อเสนอสำคัญคือ
- การสนับสนุนให้มีตลาดในระดับชุมชน เพื่อเป็นตัวกำหนดรูปแบบการผลิต เพราะหากมีผู้บริโภคต้องการผลผลิตที่หลากหลายชนิด เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตก็ต้องสร้างความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ในแปลงเกษตร เพื่อให้มีผลผลิตไปจำหน่ายในตลาด ในทางกลับกัน พบว่าหากผู้ผลิตต้องนำผลผลิตที่ได้จำหน่ายทีเดียวครั้งเดียวโดยมีผู้เข้ามารับซื้อจากแปลง หรือต้องไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง รูปแบบการผลิตจะเป็นเชิงเดี่ยว ไม่ว่าข้าว ข้าวโพด ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งระบบการผลิตเชิงเดี่ยวนั้น ไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน และความสมดุลทางนิเวศก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้งตลาดทางเลือก หรือตลาดสีเขียวในระดับชุมชน เพื่อสร้างและขยายผลระบบเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรนิเวศ
- การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีการจัดการตนเอง บทเรียนของการทำงานแยกส่วนของหน่วยงานรัฐ ในการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ที่เป็นไปในลักษณะงานหรือบทบาทหน้าที่ตามเฉพาะหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณะสุข ฯลฯ ส่งผลโครงการหรือกิจกรรมที่ดำเนินงานกับพื้นที่ไม่สอดคล้องกัน
ในขณะมีบทเรียนการทำงานที่ให้บทบาทหลักกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประสานความร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ไม่ว่า รพ.สต. โรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน ฯลฯ พัฒนามาเป็นกลไกระดับพื้นที่วางแผนการดำเนินงานสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชุมชนร่วมกันทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด การรับรองมาตรฐานผลผลิต ทำงานกับผู้บริโภค การท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและการจัดการขยะ ฯลฯ ที่ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญและตระหนักร่วมกัน ที่ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินงานสอดคล้องและแก้ปัญหาของชุมชนได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งมีรูปธรรมเกิดขึ้น เช่น อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม อบต.แม่ทา อ.แม่ออน อบต.ห้วยแก้ว อ.เมือง และอื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่
จึงมีความจำเป็นที่ต้องการกระจายอำนาจให้หน่วยงานในระดับท้องถิ่น ได้ลุกมาจัดการและยกระดับชุมชนของตนเอง ที่ได้เชื่อมสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ในชุมชน ไม่ว่า พันธุกรรมพืช การตลาด การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของชุมชนที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงในการจำหน่าย แจก แลก แถมได้ รวมถึงการจัดการที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตรจากบทเรียนการอบรมเพื่อขยายการทำเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกร มีหลายคนสนใจแต่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องรอการจัดสรรที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ซึ่งหลายครั้งพบว่า ผืนดินดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการทำเกษตร เป็นดินเสื่อมโทรม ไม่มีแหล่งน้ำ ดังนั้น ทำอย่างไร ถึงจะมีแนวทางการหนุนเสริมธนาคารที่ดิน ให้เกิดปฏิบัติการประเด็นที่ดินสำหรับภาคเกษตรอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เช่นเดียวกับหลายๆ กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างสิทธิของเกษตรกรในที่ดินทำกินบนที่สูง การกระจายการถือครองที่ดิน ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลเป็นไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
- การมีกองทุนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ สถานการณ์ปัจจุบันได้มีคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับไปทำเกษตรในบ้านเกิดเยอะมากขึ้น ทั้งจากสาเหตุการตกงาน การถูกเลิกจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด รวมทั้งการลาออกจากงานเพื่อกลับไปทำเกษตร จากบทเรียน การส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ จากการกลับคืนถิ่นมาทำเกษตรที่ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.นอกจากมีกระบวนการอบรมให้ความรู้เกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ยังมีเบี้ยยังชีพรายเดือน 3 ปี โดยปีแรกเดือนละ 9,000 บาท ปีที่สองเดือนละ 7,000 บาทและปีที่สามเดือนลดลงเหลือเพียง 1,500 บาท เพราะการทำเกษตรในช่วงแรกไม่มีผลผลิตและมีปัญหาเรื่องรายได้
ดังนั้น หน่วยงานรัฐ ควรมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมกลุ่มคนที่คืนถิ่นและต้องการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีสถาบันอบรมในระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งการผลิต การแปรรูป การจัดการตลาด การจัดการเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ ที่สอดคล้องกับนิเวศนั้นๆ และมีการรวบรวมความรู้ภูมิปัญญาการทำเกษตรของชุมชนขึ้นมาใช้ประโยชน์ควบคู่กับความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ๆ การมีกองทุนหรือการมีเบี้ยยังชีพรายเดือนอย่างน้อย 3 ปีเพื่อให้มีการตั้งตัวในการทำเกษตร ทั้งนี้เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ในการทำเกษตรและรองรับสังคมผู้สูงวัยในภาคเกษตร
ที่สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 ต้องมีการระบุและกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนให้ชัดเจน ถึงแม้จะใช้คำว่า เกษตรปลอดภัย เกษตรอัตลักษณ์ ก็ตาม และการดำเนินงานสนับสนุนจำเป็นต้องยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีนิเวศที่แตกต่างกัน โดยยึดการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการจัดการตนเอง