ในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากวิกฤตการณ์ โควิด – 19 ที่สร้างความกังวลใจให้ประชาชน และหน่วยงานหลายภาคส่วนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาไม่แพ้กัน และยังต้องให้ความสนใจ และจัดการปัญหานี้ คือ ปัญหาขยะ โดยเฉพาะการทิ้งขยะในชุมชน ในครัวเรือน หลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์ และส่งเสริมให้ประชาชน มีการแยกขยะ โดยเฉพาะขยะเศษอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม และไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้ว การสะสมของกองขยะที่เราไม่แยก หรือจัดการไม่เหมาะสม กองเป็นภูเขาขยะนั้น ส่งผลต่อธรรมชาติอย่างมหาศาล การมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้น การสูญเสียระบบนิเวศธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายของพืชพันธุ์ จากการขยายตัวของชุมชน และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ส่งผลให้ขยะมูลฝอยมีมากขึ้นและเริ่มเป็นมลพิษทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การแก้ปัญหาด้านมลพิษที่เกิดขึ้น การจัดการปัญหาขยะที่ถูกวิธี จึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลวังศรีราช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้มีการจัด “อบรมสร้างความเข้าใจ การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนในชุมชนด้วยการคัดแยกขยะต้นทาง สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน”
กิจจกรรมครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อสร้างจิตสำนึก ความเข้าใจปัญหาขยะในชุมชน ปัญหาภาวะโลกร้อนจากขยะที่ไม่คัดแยกให้ความรู้ในการคัดแยกขยะต้นทางในครัวเรือน ประโยชน์จากการคัดแยกขยะแต่ละชนิดที่นำไปรีไซเคิล วางแผนการคัดแยกขยะในชุมชน เส้นทางการส่งต่อของแต่ละประเภท การรับซื้อขยะรีไซเคิลให้เกิดรูปธรรมในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก เริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ ปัญหาของขยะที่ไม่คัดแยกกับการเกิดภาวะโลกร้อน และขยะที่คัดแยกแล้วสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ ได้มีการสาธิต การคัดแยกขยะรีไซเคิลให้ได้มูลค่าสูงสุด พร้อมแสดงตัวอย่างขยะรีไซเคิล ราคาการรับซื้อ เปิดสปอตโฆษณาเชิญชวนคัดแยกขยะในชุมชน ตลาดนัด ให้แก่พี่น้องในชุมชน ได้เห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้จากการคัดแยกของรีไซเคิลเพื่อขายเป็นรายได้พิเศษ
ซึ่งในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมานั้น พี่น้องชาวตำบลวังศรีราช ได้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะที่เกิดขึ้น และเกิดความตระหนัก เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการคัดแยกขยะที่ต้นทาง สมาชิกในชุมชนเห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากการคัดแยกของรีไซเคิลเพื่อขายเป็นรายได้พิเศษช่วย อบต.ป่าสะแก ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด และมีค่าใช้จ่ายลงได้ รวมถึงมีหลายครัวเรือนเริ่มคัดแยกขยะ และทดลองทำปุ๋ยอินทรีย์จากขยะเศษอาหาร ถือเป็นแนวทางในการจัดการขยะชุมชนในอนาคต สู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน