โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

กรณีศึกษา พื้นที่ชลประทานบางพลวงจังหวัดปราจีนบุรี

ภาคการเกษตรไทยในปัจจุบันได้เผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย โดยเฉพาะประชากรในภาคการเกษตรที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้สูงอายุที่มักจะปรับตัวด้านการผลิตเกษตรได้อย่างจำกัด ประกอบสถานการณ์การใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกับการใช้ประโยชน์ประเภทอื่นมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการออกแบบยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรแบบเชิงรุกเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าภาคการเกษตรยังคงความยั่งยืนได้ในอนาคต การออกแบบยุทธศาสตร์ในปัจจุบันนั้นถูกออกแบบการดำเนินงานในภาพรวมทั้งประเทศ โดยขาดความเชื่อมโยงกับกิจกรรมภาคการเกษตรในระดับพื้นที่ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการเกษตรนั้นมีการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภายใต้หน่วยงานที่รับผิดชอบเท่านั้น  ประกอบกับการดำเนินงานโดยทั่วไปของหน่วยงานที่มีวิสัยทัศน์ด้านการเกษตรที่ไม่มีความสัมพันธ์กับประเภทของการผลิตทางการเกษตรที่ในระดับพื้นที่ต้องการให้บรรลุในอนาคต ดังนั้นการกำหนดวิสัยทัศน์แบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานในระดับพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

  โครงการศึกษาภาพอนาคตด้านการผลิตและการจัดการน้ำในลุ่มน้ำปราจีนบุรี หรือ โครงการ Doubt (พ.ศ.2560-2662) เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ร่วมกับสถาบันวิจัย Cirad ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ชลประทานบางพลวง (หรือพื้นที่บริเวณฝั่งทิศตะวันตกของจังหวัดปราจีนบุรี) โครงการดังกล่าวเป็นการจัดกระบวนการอภิปรายร่วมกับหน่วยปฏิบัติการในระดับพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำภาพอนาคต, ค้นหาภาพอนาคตที่พึงประสงค์ และร่วมแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่ทำให้ภาพอนาคตที่พึงประสงค์นั้นเกิดขึ้นได้จริง 

  พื้นที่ชลประทานบางพลวงถือเป็นพื้นที่ที่มีการทำการเกษตรอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทำนาและการทำบ่อเลี้ยงปลาและกุ้ง ที่ได้เผชิญกับข้อท้าทายหลายประการ ดังเช่นเกษตรกรหลายหลายโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อย หรือรายขนาดกลางที่ติดกับดักวงจรอุบาทว์เพิ่มขึ้น (ตามภาพประกอบ) ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการสร้าง

  รายได้จากภาคการเกษตรที่ลดลงเนื่องจากข้อจำกัดจากปัจจัยภายนอก (เช่น ราคาข้าวตกต่ำ) เกษตรกรกลุ่มนี้เผชิญกับข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิต (เช่น การผลิตเชิงเดี่ยวที่มุ่งสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรผสมผสาน หรือการทำเกษตรอินทรีย์) ในพื้นที่เช่า หรือพื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เช่น สภาวะน้ำเค็ม และน้ำท่วม) โดยบริบทดังกล่าวนี้ทำให้มีคนรุ่นใหม่น้อยรายที่มาสานต่อในการทำการเกษตร ซึ่งส่งผลให้ประชากรภาคเกษตรกรเป็นเกษตรกรผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านการพัฒนาศักยภาพในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่เอื้อต่อการสร้างรายได้จากกิจกรรมภาคการเกษตร

ความสัมพันธ์ของข้อท้าทายของภาคการเกษตรในพื้นที่ชลประทานบางพลวง

  ในการดำเนินงานภายใต้โครงการในช่วงแรกนั้น ได้ทำการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับระบบการเกษตรและการจัดการน้ำในพื้นที่ จากนั้นจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบภาพอนาคตร่วมกัน 2 ภาพอนาคตหลักในพื้นที่ชลประทานบางพลวงในอีก 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2572) ภาพอนาคตแรกคือ ภาพอนาคตแบบ Business-as-usual (ภาพอนาคตที่สถานการณ์ดำเนินไปตามปกติ ไม่ได้มีการมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งในปัจจุบัน) นั้น เป็นภาพอนาคตที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่สามารถก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ จึงทำให้เกษตรกรเผชิญกับวิกฤตการณ์ข้าวใน 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2572) เนื่องจากข้อจำกัดในการทำรายได้จากการผลิตข้าว รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลาไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านเทคนิคการผลิต และเพิ่มอำนาจการต่อรองด้านราคา สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกษตรกรต้องทำการผลิตแบบลดต้นทุน และจำหน่ายผลผลิตในราคาที่ต่ำ

ภาพอนาคตที่สอง เป็นภาพอนาคตที่พึงประสงค์ กล่าวคือ ภาคการเกษตรมีระบบการจัดการที่ดีในการเชื่อมโยงแผนการดำเนินงานในระดับพื้นที่และระดับชาติ การจัดการน้ำได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำระบบใหม่และเกิดความร่วมมือในการประสานงานระหว่างเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบลและหน่วยงานรัฐ เกษตรกรสามารถเข้าถึงพื้นที่เช่าทำการเกษตรที่มั่นคงมากยิ่งขึ้นจึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่มุ่งสู่ความยั่งยืน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายรายมีการพัฒนาระบบการผลิตแบบพืชทางเลือก หรือมีการปรับระบบการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลา โดยการทำงานร่วมกันนี้ทำให้เกิดการปรับปรุงเรื่องเทคนิคการผลิตและรายได้ของเกษตรกร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้รับการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับระบบการผลิตที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ การดำเนินงานของนโยบายสนับสนุนการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ได้เอื้อให้คนรุ่นใหม่กลับมาทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งภาพอนาคตดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันของแนวทางที่เอื้อต่อการบรรลุภาพอนาคตที่พึงประสงค์ 

                ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรเพื่อให้บรรลุภาพอนาคตนั้นจัดทำขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้เป็น 3 ชุดการดำเนินงาน (ดังภาพ 1) แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยชุดการดำเนินงานลำดับที่ 1 (การเช่าที่ดินทางการเกษตรมีความมั่นคงมากขึ้น, กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง, และการพัฒนา/ปรับปรุงเรื่องการจัดการน้ำ) จะเป็นแนวทางการดำเนินงานที่เอื้อต่อความประสบความสำเร็จในชุดการดำเนินงานที่ 2 เช่นเดียวกันกับชุดการดำเนินงานที่ 2 ที่จะเอื้อต่อความสำเร็จในชุดดำเนินงานที่ 3 การดำเนินงานทั้ง 3 ชุดนี้ถือเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เอื้อต่อการบรรลุภาพอนาคตที่พึงประสงค์ และหยุดวงจรอุบาทว์ที่ได้นำเสนอดังข้างต้น

ภาพ 1 ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรเพื่อให้เอื้อต่อการบรรลุภาพอนาคตที่พึงประสงค์

กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมภายใต้โครงการถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในระดับพื้นที่ เนื่องจากหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่โดยทั่วไปมักจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในกรอบการดำเนินงานระยะสั้น อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานดังกล่าวพบว่า หน่วยปฏิบัติการได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างมากในการร่วมอภิปรายถึงภาพอนาคตและแนวทางเพื่อให้บรรลุภาพอนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน

               ภายใต้การดำเนินงานของโครงการได้ทำการศึกษาครอบคลุมถึงข้อท้าทายบางประการ เช่น การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตร และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มักจะไม่ได้เป็นประเด็นในการอภิปรายมากนัก แต่ประเด็นดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ชลประทานบางพลวงและพื้นที่โดยทั่วไปในไทย ที่สามารถนำมาปรับใช้กับแผนการดำเนินงานที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน รวมถึงแผนการดำเนินงานในอนาคตในการเอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่ชลประทานบางพลวงด้วยกรอบการดำเนินงานระยะยาว และการสร้างการมีส่วนร่วมที่เชื่อมโยงกับนโยบายในระดับชาติที่สามารถริเริ่มจากระดับท้องถิ่นในการร่วมหาแนวทางสู่ความยั่งยืนของภาคการเกษตรต่อไปในอนาคต
หมายเหตุ : จัดทำโดย 1) ดร.แมน ปุโรทกานนท์ มูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย), และ 2) ดร.Nicolas Faysse สถาบันวิจัย Cirad ประเทศฝรั่งเศส ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและรายงานของโครงการได้ที่: http://deltasoutheastasia-doubt.com/ประเทศไทยหรือ ติดต่อ เกษศิรินทร์ พิบูลย์(kassirinp@gmail.com)

บทความแนะนำ

ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร คนคืนถิ่น : กลับบ้านสานต่อเกษตรกรรมยั่งยืน โดย นางสาวสุประวีณ์ มาตขาว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยโสธร