โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

            ท่ามสถานการณ์ความท้าทายต่างๆนานาที่เข้ามา เชื่อว่าเกษตรกรชาวสวนยางหลายคนก็พยายามปรับตัวด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ เพื่อรับมือกับเหตุปัจจัยต่างๆที่ตนต้องเผชิญ

            คุณสมชาย ราชบุรี เป็นหนึ่งในลูกชาวสวน แต่โตมาก็ทำงานด้านอื่นมาโดยตลอด จนกระทั่งได้มาแต่งงานกับภรรยา ผู้เป็นชาวสวนยาง และก็ได้มาลงหลักปักฐานที่อ.เทพา จ.สงขลาแห่งนี้ และกลายเป็นชาวสวนเต็มตัว

            อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อายุเพิ่มมากขึ้นจนเข้าสู่วัย 70 กว่า ทำให้ต้องหาแรงงานมาช่วยกรีดยางแทน  เมื่อต้องจ้าง ก็ประสบปัญหาเรื่องการจ้างงาน เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว และก็มักจะไม่รับกรีดยางที่แก่แล้ว หรือคนที่รับกรีด ก็มักจะไม่ทำตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ เช่นไม่นำน้ำยางที่ได้ไปขายให้กลุ่ม แต่กลับไปขายให้คนอื่นแทน ประกอบกับช่วงนั้น ยางพาราก็เป็นโรคใบร่วง ทำให้ขาดทุน สุดท้ายจึงตัดสินว่าจะลองโค่นยางพาราทิ้ง แล้วเปลี่ยนมาทำสวนผสมผสานแทน

            มีโอกาสได้ไปเยี่ยมสวนของคุณลุงสมชาย ก็ได้เห็นว่า ด้านหน้าของผืนดินแห่งนี้ ยังคงความเป็นสวนยางพาราแบบดั้งเดิมไว้ เมื่อเข้ามาด้านหลัง จากสวนยางพารา บัดนี้ได้เปลี่ยนเป็นสวนที่มีพืชพรรณหลากหลายชนิดปลูกผสมผสานกันอยู่ ทั้งทุเรียน มังคุด ส้มจุก ส้มโอ ชมพู มะพร้าว ต่างก็กำลังเติบโต มีกล้วย ที่คุณลุงสมชายบอกว่า ในสวนมีประมาณ 600 กอ และก็เก็บผลผลิตขายได้เป็นรถกระบะ สวนมะนาว พริก ตะไคร้ ก็เก็บขายได้แทบทุกวัน

            นับจนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเวลาร่วม 3 ปี ที่คุณลุงสมชาย กับภรรยา ช่วยกันลงมือลงแรงลงใจทำด้วยกัน โดยงานอย่างตัดหญ้า วางระบบน้ำ หรือที่ต้องใช้แรงเยอะๆ คุณลุงสมชายก็จะเป็นคนทำเป็นหลัก ส่วนภรรยาก็จะเป็นคนช่วยเก็บรายละเอียด “เขาอยากจะทำอะไร เราก็ปล่อยให้เขาทำ จะตัดกิ่ง พรวนดิน เติมปุ๋ย หรือเขาอยากจะทำอะไรตรงไหน เราก็คอยช่วยเขา ไม่ใช่ไปคอยว่า คอยขัด คนจะทำงานก็ต้องปล่อยให้เขาทำ” คุณลุงสมชาย บอกเคล็ดลับในการทำงานร่วมกันให้ฟัง

            นอกจากนี้ ครอบครัวนี้ยังมีลูกๆ คอยสนับสนุน ด้วยการหาซื้อพันธุ์ไม้ต่างๆมาให้พ่อกับแม่ปลูก เช่นทุเรียนในสวนนี้ ลูกๆก็เป็นคนหามาให้ และในยามที่มีผลผลิต ลูกๆก็จะหาตลาด หาเครือข่ายในการรับซื้อให้ด้วย

          แน่นอนว่าการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆตั้งแต่ยังเล็ก และรอให้เขาเติบโตนั้น ต้องใช้การดูแลเอาใจใส่ และก็ต้องอาศัยน้ำไม่น้อย ที่สวนแห่งนี้ คุณลุงสมชายจึงออกแบบระบบน้ำ ทำเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ และติดตั้งโซลาเซลล์ เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้หล่อเลี้ยงต้นไม้อยู่อย่างสม่ำเสมอ แม้ในยามแล้ง นอกจากนี้ก็เน้นปลูกพืชหลากหลายเพื่อรองรับความเสี่ยง หากไม่ได้ผลผลิตจากพืชชนิดนี้ ก็มีพืชชนิดอื่นทดแทน

          ปัญหาอีกอย่างที่พบ ด้วยความที่เป็นสวนแบบเปิด ไม่มีรั้วรอบขอบชิดก็คือ ผลผลิตที่ปลูกไว้ถูกคนอื่นเข้ามาลักเก็บเอาไป ซึ่งคุณลุงสมชายก็บอกว่า สิ่งที่ทำคือพยายามทำรั้วกับคน คือ เวลามีก็เก็บให้ก่อน หรือใครมาขอก็ยินดีแบ่งให้ ดีกว่าทำรั้วกั้น

            กล่าวกันตามจริง ช่วงนี้ก็ถือเป็นช่วงเริ่มต้น ยังไม่อาจบอกได้ว่าสวนแห่งนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้มากเท่าไหร่ จะคุ้มทุนกับที่ลงไปมั้ย แต่สิ่งที่คุณลุงสมชายตอบได้อย่างมั่นใจ เมื่อถามถึงความสุขและความภูมิใจในชีวิต  ก็คือ การได้มามีชีวิตและทำสวนอยู่ตรงนี้ นี่แหละคือความภูมิใจของคุณลุง พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า กว่าจะมาอยู่ตรงนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ชีวิตนี้ผ่านอะไรมาเยอะมาก เคยเกเร ติดผู้หญิง เล่นการพนัน จนมาแต่งงาน มีลูก ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน

            คุณลุงสมชายเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีข้อตกลงกันว่า จะต้องกลับบ้านมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ข้อตกลงนี้ ทำให้เวลาออกไปไหนข้างนอก แทนที่จะเถลไถลต่อ ก็ต้องรีบกลับมาหาครอบครัว และในวงกินข้าว เวลาใครมีปัญหาก็ได้เล่าสู่กันฟัง เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

            นอกจากการมีครอบครัวแล้ว จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของคุณลุงสมชายอีกอย่างก็คือ การที่ตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจ ในวันที่ต้องผ่าตัดหัวใจ ทำให้ตั้งปณิธานว่า ถ้ามีชีวิตรอดก็จะทำแต่ความดี ช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่ให้กับชุมชน

            ทุกวันนี้ คุณลุงสมชาย ก็ทำหน้าที่หลายอย่างให้กับชุมชน เช่นทำงานช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ทำโครงการสัจจะออมทรัพย์ ร่วมทำโครงการโรงสีชุมชน และโรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น

            ในฐานะที่เห็นว่าคุณลุงสมชายเป็นคนทำงานพัฒนา ก็อดไม่ได้ที่จะถามทิ้งท้ายว่า คุณลุงสมชายอยากเห็นสังคมเป็นยังไง คุณลุงตอบว่า อยากให้คนรับฟังกัน มีอะไรก็ค่อยพูดค่อยจากัน  คุยกันอย่างเข้าใจ และรับฟังกันจริงๆ ทุกวันนี้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง เพราะไม่ค่อยมีคนฟังกัน และก็ไม่ได้คุยกันจริงๆว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น

            จะว่าไปเรื่องความพยายามในการปรับตัว เปลี่ยนวิถีการผลิต เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่แต่ละครัวเรือนต้องเผชิญ และหาหนทางให้สอดคล้องกับปัจจัยเงื่อนไข และบริบทของตัวเอง แต่การจะแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกครัวเรือนนั้น อาจจะต้องการการร่วมมือ ร่วมใจ ที่มีการเปิดใจรับฟังกันอย่างแท้จริง อย่างที่คุณลุงสมชายฝันอยากเห็นจริงๆ

บทความแนะนำ