หลายท่านที่ยังคงทำเกษตรแบบทั่วไป อาจจะยังไม่ทราบหรือว่ายังไม่รู้ว่าถ้าเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบธรรมชาติแล้วจะได้ผลผลิตดีเท่าเดิมหรือไม่ คำถามต่อไปคือแล้วในช่วงที่ปรับเปลี่ยนจะได้รายได้จากไหนบ้าง? โดยทั่วไปแล้วในการที่จะเปลี่ยนจากเกษตรแบบทั่วไปมาเป็นเกษตรธรรมชาตินั้นทำได้ 2 วิธีคือ
1.เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกส่วนหนึ่งมาทำเกษตรธรรมชาติแล้วค่อยๆ ขยายเนื้อที่ออกไปทีละน้อย(การเปลี่ยนแบบแนวราบ)
2.ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร(สิ่งห้ามใช้ในเกษตรธรรมชาติ) ลงทีละน้อย(การเปลี่ยนแนวตั้ง) นอกจากนี้ยังมีวิธีหนึ่งคือนำทั้ง2วิธีข้างต้นมาใช้ร่วมกัน
ข้อควรระวังในระหว่างการเปลี่ยน คือการปรับปรุงบำรุงดินตามความจำเป็นของพื้นที่นั้น เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรธรรมชาติแล้ว ในการปลูกครั้งแรกถ้าปลูกด้วยธัญพืชทั่วไปเช่น ข้าวหรือข้าวสาลี ปุ๋ยที่เป็นปุ๋ยพืชสด และผักประเภทกินรากต่างๆ เช่น มันฝรั่ง ผักกาดหัว และแครอทเป็นต้นก็จะช่วยให้เปลี่ยนได้ง่ายขึ้น
ถ้ามีความเข้าใจถึงความแตกต่างของการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกแบบเดิม และแบบเกษตรธรรมชาติ
จะช่วยให้การเปลี่ยนเป็นไปอย่างง่ายขึ้น ในการทำเกษตรธรรมชาตินั้น ระยะแรกการเจริญเติบโตจะช้าและสีและใบก็จะอ่อน แต่ก็ไม่ต้องวิตกเพราะลักษณะพิเศษดังกล่าวเป็นลักษณะของเกษตรธรรมชาตินั่นเอง
ถ้าเราค่อยๆเริ่มแบบนี้เราก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะมีรายได้น้อยลง เพราะค่อยๆปรับเปลี่ยนไม่ได้ทำทีเดียวรายได้ก็จะเท่ากับที่ทำเกษตรแบบทั่วไปหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ต่างก็คือ สุขภาพเราจะดีขึ้นจากเดิมมาก
การปรับเปลี่ยนเพียงแค่เริ่มจากตัวเรา เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียวแต่เรายังทำให้สิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศฟื้นฟูและกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ มุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 เกษตรธรรมชาติ เพื่อสร้างเสริมการเกษตรที่สมบูรณ์และส่งเสริมโภชนาการ ที่ถูกหลักอนามัย หน้า 16 บทที่ 2 เทคนิคพื้นฐานของเกษตรธรรมชาติ จัดทำขึ้นโดย มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติสากล