โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร

ตอน 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต: : ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย คุณกาญจนา เข็มลาย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคตะวันออก (วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)

         วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มที่เน้นการจำหน่ายพืชผักควบคู่กับการผลิตและการเก็บเมล็ดพันธุ์ทั้งพืชผักและพันธุ์ข้าวเพื่อพัฒนาสายพันธุ์แต่ยังไม่ถึงการปรับปรุงพันธุ์ งานเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มนั้นเป็นการผลิตเพื่อสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายทั้งในรูปแบบการจำหน่ายและแบ่งปัน โดยกลุ่มเน้นการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และได้มีการส่งเสริมให้เกิดธนาคารเมล็ดพันธุ์ในระดับเครือข่ายให้เพิ่มมากขึ้น (เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคตะวันออกประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี จันทบรี และตราด) เหตุผลที่กลุ่มได้เน้นการเก็บพันธุ์พื้นบ้านนั้นเนื่องจากเมล็ดพันธุ์มีการตอบสนองที่ดีในพื้นที่

หลักในการเก็บเมล็ดพันธุ์ 

         กลุ่มเน้นการเก็บพืชพันธุ์เพื่อที่จะได้นำไปขยายต่อ โดยเฉพาะการเก็บพันธุ์พืชที่ปลูกให้สอดคล้องกับการบริโภคในครัวเรือนและการจำหน่ายผักที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ในกรณีพันธุ์พืชใดที่กลุ่มไม่สามารถเก็บได้เองก็จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในภาคอื่นในลักษณะการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และจำหน่ายในบางครั้ง ส่วนการจัดการของกลุ่มในงานพันธุกรรมจะเป็นลักษณะการนำใช้ระบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ยังไม่ถึงขึ้นเป็นการวิจัย โดยมีขั้นตอนหลักในการจัดการ คือ การเตรียมดิน การเพาะกล้า การปลูก การเก็บผลผลิต การเก็บเมล็ดพันธุ์ การจัดการเมล็ดพันธุ์ และการเก็บรักษา (ภาพ 1) ซึ่งเป็นวิถีท้องถิ่นที่สามารถทำได้ โดยใช้หลักว่า “ให้เลือกปลูกพืชพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ง่ายในพื้นที่”

แนวทางการขยายงานพันธุกรรม

  • การจัดฝึกอบรมเกษตรกรให้เป็นนักส่งเสริม (เกษตรกรนักส่งเสริม) การจัดฝึกอบรมนี้เปิดกว้างให้กับเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าร่วมเพื่อฝึกให้เป็นเกษตรกรนักส่งเสริม ซึ่งหลังจากการฝึกอบรมทางกลุ่มได้มีหนุนเสริมองค์ความรู้เป็นระยะเพื่อติดตามเกษตรกรว่ามีความถนัดเรื่องใด เช่น การทำเมล็ดพันธุ์ การทำปุ๋ย การปลูกพืช ฯลฯ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าวเข้าร่วมเป็นทีมของกลุ่ม จำนวน 3 ราย ที่มีความโดดเด่นในการเข้าถึงและการนำใช้เทคโนโลยีเข้ามาหนุนเสริมการทำงานกลุ่มเป็นอย่างมากทั้งด้านการผลิต การตลาด และงานเมล็ดพันธุ์
  • การสร้างความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยและทั่วไป ให้เท่าทันในเรื่องสิทธิเกษตรกร และนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานพันธุกรรมที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารทุกระดับ
  • การทำแผนธุรกิจร่วมกับสหกรณ์กรีนเนท และการจดวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์

         ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมีหลายด้านโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ดังนั้นข้อมูล/องค์ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญในการหนุนเสริมเรื่องการปรับตัวของเกษตรกรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ