ในการวิเคราะห์ผลของเศษฐกิจการค้าเกษตรอินทรีย์กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เราจะใช้กรอบวิเคราะห์ "วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์" เป็นแนวทางในการศึกษา โดยกรอบการวิเคราะห์นี้ มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของทุกขั้นตอนของผลิตภัณฑ์ คือ ตั้งแต่การผลิตจนถึงขั้นของการบริโภค (รวมถึงของเหลือจากการบริโภคที่เป็นขยะ) ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ควรนำมาพิจารณาเป็นต้นทุนของสินค้า ซึ่งอาจจะเป็นต้นทุนของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายโดยตรง หรือเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคก็ได้
การเพาะปลูก
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์จะมีผลกระทบน้อยกว่าการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรทั่วไป ทั้งในด้านของการสูยเสียหน้าดิน การปนเปื้อนของสารเคมีการเกษตรกับสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศการเกษตร ที่จริงแล้ว เกษตรอินทรีย์มีผลโดยตรงในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดินและระบบนิเวศการเกษตรให้ดีขึ้นได้ด้วย
การเลี้ยงสัตว์
เช่นเดียวกับการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรอินทรีย์สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการเลี้ยงสัตว์ในระบบทั่วไป
การแปรรูป
การแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน จะมีความเข้มงวดเกี่ยวกับสารปรุงแต่ง/สารช่วยในการแปรรูป ซึ่งในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่อนุญาติให้ใช้ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในการตรวจรับรองการแปรรูปเกษตรอินทรีย์นั้น จะมีการตรวจสอบการจัดการขยะของเสียจากการแปรรูป ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศเกี่ยวกับการจัดการขยะเสียอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เนื่องจากการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์จะมีการใช้สารปรุงแต่ง/สารช่วยในการแปรรูปน้อยกว่า ขยะของเสียจากการแปรรูปเกษตรอินทรีย์ก็มีแนวโน้มที่น้อยกว่าหรือเป็นอันตรายน้อยกว่าด้วย
บรรจุภัณฑ์
โดยทางหลักการแล้ว เกษตรอินทรีย์สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆได้เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคที่เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (รวมทั้งผู้ประักอบการเอง) มักจะให้ความใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วด้วย ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ค่อนข้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ขวดแก้ว ที่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ แทนขวดพลาสติกหรือกระป๋องอลูมิเนียม นอกจากนี้ ในหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์บางแห่ง อาจมีการกำหนดมาตรฐานห้ามผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์บางประเภท เช่น โฟม เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตดฟม และขยะจากโฟม
การจัดจำหน่าย
การจัดจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์เกือบทั้งหมดไม่ได้แตกต่างไปจากการจัดจำหน่ายผลผลิตทั่วไป แม้ว่า อาจมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์บางแห่งที่มีการกำหนดวิธีการขนส่งไว้ (เช่น หน่วยงาน BioSwiss ในประเทสสวิสเซอร์แลนด์ ไม่อนุญาติให้มีการขนส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทางเครื่องบิน)แต่ก็มีการบังคับใช้จำกัดอยู่เพียงในประเทศไม่กี่ประเทศ ในขณะเดียวกัน เนื่องจากการผลิตเกษตรอินทรีย์ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด และการตลาดของผลิตเกาตรอินทรีย์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่การผลิตจำนวนมากอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา จึงทำให้มีแนวโน้มของการจำเป็นต้องขรส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นระยะทางไกลๆมากกว่าผลผลิตทั่วไป ซึ่งภาระการขนส่งที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อแวดล้อมจากการใช้พลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แต่ขณะเดียวกัน มีหลายหน่วยงานที่รณรงค์สนับสนุนเกษตรอินทรีย์และในขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกบริโภคอาหารที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่น เพื่อลดความจำเป็นในการขนส่งสินค้าลง แต่การรณรงค์ดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จมากเท่าใด
การบริโภค
การใช้พลังงานเพื่อเตรียมอาหารเกษตรอินทรีย์สำหรับบริโภคไม่ได้มีความแตกต่างไปจากอาหารทั่วไป ส่วนขยะจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอิทรีย์ก็ค่อนข้างจะเหมือนกันผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ดังนั้น โดยรวมแล้ว ในขั้นของการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มีผลกระทบไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เกษตรทั่วไป
ที่มา : เอกสารชุดความรู้ลำดับที่ 2 เกษตรอินทรีย์เศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน โครงการนโยบายสาธารณะเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย