ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร
ตอน 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต: : ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย คุณกำราบ พานทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้เริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2531 ประกอบด้วยเครือข่ายในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ในช่วงปี 2534 ทางเครือข่ายได้เริ่มการขับเคลื่อนเรื่องสวนยางที่เรียกว่า “พืชร่วมยาง” เนื่องด้วยเกษตรกรในภาคใต้ส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง คิดเป็นพื้นที่ถึง 60-70% (ประมาณพื้นที่การผลิตยางพาราอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านไร่ จากพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 40 กว่าล้านไร่) รองลงมาคือ แปลงปาล์มน้ำมันและกาแฟที่ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว ทิศทางการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายคือต้องการเห็นพี่น้องภาคใต้สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเดิมที่เมื่อก่อนเรียกว่า “สวนสมรม” ให้คงอยู่ในพื้นที่ เพราะปัจจุบันพืชเชิงเดี่ยวเข้ามาในพื้นที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มหายไป รวมถึงการถูกลิดลอนหรือเสื่อมค่าในเรื่องการพึ่งพาด้านอาหารลดลงเป็นอย่างมากโดยรั้งอันดับท้ายของประเทศที่มีการจัดอันดับทั่วประเทศ จากการผลักดันพี่น้องชาวสวนยางทำพืชร่วมยางและค้นหาพันธุกรรมพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง มีการรณรงค์กับสาธารณสุขมูลฐาน (สสม) ขับเคลื่อนเรื่องผักพื้นบ้านในช่วงปี 2534 และจากนั้นก็มีการขับเคลื่อนเรื่อยมาจนกระทั่งได้เปิดตลาดสีเขียวในปี 2543 ซึ่งทางเครือข่ายทำได้ระยะหนึ่ง
กลุ่ม/องค์กรที่ทำงานพันธุกรรม
เครือข่ายได้พยายามเคลื่อนงานพันธุกรรมผ่านการผลักดันให้เกิดกลุ่มต่างๆ ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ที่เรียกว่า “สวนพฤกษศาสตร์ชุมชน” ที่ได้พัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นร้านค้าชุมชนในการจำหน่าย และแบ่งปันเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน จากนั้นเครือข่ายได้จัดตั้งองค์กรขึ้นเรียกว่า “สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้” ในปี 2547 และก็ต่อมาได้เกิดกลุ่มพันธุกรรมที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น ธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก กองทุนยาไส้ยาใจที่พัทลุง บ้านเรียนท้องนาทำเรื่องข้าวของสมาคมพิทักษ์เขาคูหา และเครือข่ายในจังหวัดพัทลุงได้มีการพัฒนาเรื่องดอกดาหลา เป็นต้น
สถานการณ์ความท้าทายในพื้นที่
สถานการณ์ด้านการเกษตรในภาคใต้ยังคงเผชิญหลากหลายวิกฤติ ดังตัวอย่างวิกฤติในขณะนี้เช่น วิกฤติของยางพาราจากสถานการณ์โลกร้อนตั้งแต่ปี 2562 และโรคเชื้อราที่เป็นโรคอุบัติใหม่ในสวนยางพารา ซึ่งแต่เดิมเคยระบาดเมื่อปี 2549 ในจังหวัดสงขลาที่ทำให้น้ำยางลดลงไปถึง 80% พอมาถึงช่วงปี 2562 จนถึงปัจจุบันที่เกิดโรคอุบัติใหม่ในยางพาราที่เราเรียกว่าโรคใบร่วงที่ขณะนี้ขยายไปในพื้นที่ประมาณล้านกว่าไร่ เฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างประมาณ 9 แสนกว่าไร่ ที่ทำให้ผลผลิตควดว่าลดลงถึง 50% และเป็นผลกระทบระยะยาวซึ่งอาจกระทบต่อพืชอื่นที่อ่อนไหวต่อเชื้อราหรือเชื้อใบร่วง ซึ่งถือเป็นวิกฤติที่ต้องเร่งหาทางออกร่วมร่วมกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่นกัน ที่ในพื้นที่เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องสมุนไพรเพิ่มขึ้น เพื่อนำมารักษาและสร้างภูมิคุ้มกันโรค
ทิศทางการทำงานพันธุกรรม
- การสร้างคนรุ่นใหม่ผ่านการจัดประกวดพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้าน โดยทางเครือข่ายได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ สตูล สงขลา พัทลุง ซึ่งการจัดกิจกรรมนี้ทำให้เครือข่ายมีทีมทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่
- การจัดทำฐานข้อมูลของพันธุกรรมพื้นบ้านที่ไม่ใช่เพียงพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านเท่านั้น แต่รวมถึงพันธุ์พืชอื่นในพื้นที่เช่นกัน
- การจัดกระบวนการให้การศึกษาเรื่องการเรียนรู้ร่วมกับพี่น้องทั้งเครือข่ายในและเครือข่ายภายนอก โดยเริ่มจากการศึกษาเรื่องพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านหรือจำปาดะ หรือพันธุกรรมพืช หรือ พันธุกรรมสัตว์ เพื่อขยายองค์ความรู้ในระดับพื้นที่ต่อไป
- การจัดทำแผนบูรณาการร่วมกันในการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพื้นบ้านร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- การยกระดับการเรียนรู้ด้วยการเสริมความรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างเป็นระบบผ่านหลักสูตรที่จะยกระดับเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์ไปจนกระทั่งการคุ้มครองพื้นที่ โดยเครือข่ายวางแผนในช่วง 1-2 ปีอยู่ในช่วงการขับเคลื่อนในการจัดตั้งวิทยาลัยทุเรียนพื้นบ้าน หรือ วิทยาลัยจำปาดะ หรือ วิทยาลัยสวนยางยั่งยืน ที่มีการวางแผนร่วมทำงานกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน) ในระดับภาค และวิทยาลัยชุมชนในพื้นที่
- การสร้างวาระของท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวาระการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านให้เพิ่มขึ้น
- การนำร่องการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น
- การเข้าไปใช้ประโยชน์จากกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชตาม พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่เกษตรกรจะได้รับส่วนแบ่งถึง 40% ซึ่งถ้าหากเครือข่ายสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถยกระดับแผนงานของเครือข่ายในการอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุกรรมพืชต่อไป
- การหาช่องทางให้เกิดการเข้าถึงพันธุกรรมพื้นบ้านผ่านตลาดออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กับการทำข้อตกลงร่วมกับผู้บริโภคถึงคุณค่าที่จะเกิดในการดูแลสุขภาพจากพันธุกรรมพืชและสัตว์
- การจัดทำแผนแม่บท 5 ปี ในเรื่องการอนุรักษ์คุ้มครองจากการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิเกษตรกรบนฐานพันธุกรรม โดยองค์กรที่จะเป็นภาคีหลักยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สภาเกษตรกร, และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM