โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร: ชุมชนบ้านห้วยหอย ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

            ชุมชนบ้านห้วยหอยเป็นชุมชนพื้นที่สูง ลักษณะของการตั้งชุมชนจะรวมกันเป็นกลุ่มตั้งอยู่ใกล้ลำห้วย ประกอบด้วย 3 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านห้วยหอย บ้านห้วยข้าวลีบ และบ้านประตูเมือง แต่ละหย่อมบ้านจะอยู่ห่างกันประมาณ 1-2 กิโลเมตร และถัดออกไปโดยรอบของหมู่บ้านมีการจัดสรรพื้นทำนา บางพื้นที่ปรับทำเป็นโรงเรือนปลูกผักส่งโครงการหลวง สูงขึ้นไปเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนสำหรับพื้นที่ทำกินและพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์  ชุมชนบ้านห้วยหอยเป็นหมู่บ้านชุมชนปกาเกอะญอที่ยังคงมีการปลูกข้าวไร่ในระบบไร่หมุนเวียนที่ถือเป็นการจัดการด้านการเกษตรเชิงอนุรักษ์ คนในชุมชนที่ใช้การผลิตระบบนี้จะมีที่ดินที่ถือครองตามประเพณีอยู่หลายแปลง เพื่อเวียนทำการเพาะปลูกทีละแปลงต่อ 1-2 ปีการผลิต จากนั้นพักพื้นที่ให้ฟื้นตัวประมาณ 5-7 ปี จึงเวียนกลับมาปลูกใหม่ แต่ด้วยวิถีการผลิตดังกล่าวของชุมชนถูกกระทบจากโครงการปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชนนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงพื้นที่อาหารและการมีอาหารที่เพียงพอของชุมชน คือ ระบบการทำไร่หมุนเวียนเดิมเริ่มเสียหายจากการที่ชุมชนไม่สามารถเวียนรอบตามระบบเดิม และจากการที่โครงการปลูกป่าได้ทับที่ทำกินของชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีที่ดินทำกินและรอบหมุนเวียนที่ลดลง และได้ส่งผลกระทบตรงกับชุมชนหลัก 2 เรื่อง ดังนี้

การควบคุมหญ้า

            การลดรอบการผลิตเดิมของการทำไร่หมุนเวียนจาก 5-7 ปี เป็น 2-3 ปีนั้น ทำให้ปริมาณหญ้าในพื้นที่มีมาก ซึ่งจากเดิมหญ้าไม่ได้เป็นปัญหาในการทำไร่หมุนเวียนเนื่องด้วย “รอบการผลิตไร่หมุนเวียนที่ 5-7 นั้นถือเป็นรอบเวลาที่เหมาะสมเพราะต้นไม้ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป ดินมีการฟื้นตัวและสะดือของวัชพืชก็ขาดแล้ว (สะดือวัชพืช หมายถึง เมล็ดวัชพืชที่ตกลงดินนั้นหมดไปแล้ว) เวลาทำไร่แล้ววัชพืชไม่รก และแน่นอนว่าการลดรอบการผลิตเหลือ 2-3 ปีนั้นสะดือวัชพืชยังไม่ขาด ทำให้คนในชุมชนบางส่วนเริ่มใช้ยาฆ่าหญ้ามาฉีดพ่นก่อนปลูกข้าวไร่ ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นของชุมชนที่เป็นตัวเงิน สุขภาพของคนในชุมชน และระบบนิเวศข้าวไร่ที่สมดุลนั้นถูกสั่นคลอน

ความอุดมสมบูรณ์ของของธาตุอาหารในดินลดลง

            จากการที่รอบการผลิตที่สั้นลงนั้นได้ส่งผลกระทบเรื่องการควบคุมหญ้าแล้วยังได้ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินที่ลดลงโดยคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาเติมเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเช่นเดิม และเนื่องด้วยมาตรการการควบคุมปัญหาหมอกควันทำให้พื้นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เผาในการทำไร่หมุนเวียนในช่วง 3 ปีหลังมานี้ (ที่ปกติชุมชนจะเริ่มเผาช่วงเดือนเมษายนของทุกปี) ได้ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวของชุมชนลดลงและบางรายไม่ได้ผลผลิตข้าวเลย ซึ่งชุมชนได้สะท้อนว่า “การที่ห้ามชุมชนเผาเพื่อเตรียมหยอดข้าวไร่นั้นทำให้ระบบของไร่นาเสียหายคือโรคแมลงระบาดเข้าทำลายผลผลิตข้าว จากเดิมคนในชุมชนมีข้าวที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือนทุกปีแต่กลับต้องซื้อข้าวนอกชุมชนมาบริโภคที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาที่คนในชุมชนเกือบทุกหลังคาเรือนต้องซื้อข้าวกินเพราะได้ข้าวน้อย” ซึ่งเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่มั่นคงทางอาหารของชุมชน

            นอกจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องรอบการผลิตในระบบไร่หมุนเวียนของชุมชนแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาได้มีสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอื่นที่ส่งผลกระทบกับชุมชน ดังต่อนี้

ด้านการผลิตการพึ่งพาปัจจัยการผลิต

            เดิมชุมชนอาศัยธรรมชาติในการทำการเกษตรโดยไม่ได้มีการไปรบกวนระบบของธรรมชาติในกระบวนการผลิต แต่ด้วยการขยายตัวของพืชแผนใหม่เมื่อช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ที่มีการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกไร่นาที่เริ่มเข้ามาในชุมชนผ่านจากชุมชนข้างเคียง รวมทั้งมีคนต่างถิ่นที่มีการปลูกพืชเคมีเชิงเดี่ยวมาอาศัยอยู่ในชุมชนเพิ่มขึ้น ทำให้คนในชุมชนปรับการจัดการบำรุงดินจากมูลสัตว์เป็นการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุอาหารในดิน และควบคุมหญ้าโดยใช้ยาฆ่าหญ้า และด้วยระบบการปลูกพืชแผนใหม่ที่ให้เห็นผลเร็วและได้ผลผลิตที่มากกว่าเดิม ประกอบกับระบบไร่หมุนเวียนที่ไม่สมดุลดังที่กล่าวข้างต้น จึงทำให้คนในชุมชนเริ่มใช้กันมากขึ้น ด้วยการผลิตดังกล่าวทำให้ชุมชนที่เคยพึ่งตนเองได้ในการทำการเกษตรกลับกลายเป็นระบบพึ่งพาระบบเกษตรกระแสหลัก/การปลูกพืชแผนใหม่เป็นหลัก แม้ปัจจุบันการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีในพื้นที่ปลูกข้าวอาจยังไม่เข้มข้นเท่านาในพื้นที่ข้างล่างก็ตาม

โครงสร้างแรงงานในการผลิตของชุมชน

            คนในชุมชนบ้านห้วยหอยและเช่นเดียวกับชุมชนกะเหรี่ยงอื่นนั้น มีรูปแบบความสัมพันธ์ของชุมชนผ่านการเอามื้อเอาวัน (การลงแขก) ในการแลกเปลี่ยนแรงงานทั้งในระดับเครือญาติ ในระดับชุมชน และระหว่างชุมชน ในกิจกรรมทางการเกษตรตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การล้อมรั้ว การหยอดข้าว/ปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว และการมัดข้าว/ตีข้าว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีบทบาทที่เป็นแรงงานหลักในการลงแขกที่แสดงถึงความสามัคคีร่วมกันของคนในพื้นที่ ปัจจุบันภาพของคนหนุ่มสาวจากเป็นแรงงานหลักในครัวเรือนนั้นส่วนใหญ่ออกพื้นที่ชุมชนเพื่อเรียนหนังสือ บางส่วนรับจ้างในเมือง มีเพียงคนหนุ่มสาวส่วนน้อยเท่านั้นกลับมาสานต่องานเกษตรของครอบครัว ด้วยภาพการเกษตรที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และต้องทำงานหนัก อย่างไรก็ตามคนหนุ่มสาวที่กลับบ้านครัวนั้นมักจะเลือกทำระบบการผลิตที่ต่างไปจากพ่อแม่ โดยเลือกที่จะปลูกผักอินทรีย์ส่งโครงการหลวง บางส่วนไปทำงานในส่วนของการท่องเที่ยวของชุมชน เช่น เป็นไกด์ เป็นควาญช้าง ทำโฮมสเตย์ ฯลฯ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

            การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เริ่มส่งผลกระทบในพื้นที่ชัดเจน คือ ฝนทิ้งช่วงนาน ทำให้พื้นที่มีน้ำที่ไม่เพียงพอในการทำการเกษตร แม้ในพื้นที่ถึงแม้รู้ว่าแล้งก็ยังปลูกข้าวอยู่เช่นเดิม เพื่อเสี่ยงรอน้ำฝน ซึ่งปกติกลางเดือนพฤษภาคม คนในพื้นที่ก็จะหยอดเมล็ดกันเสร็จแล้ว แต่ปีนี้ฝนมาช้าเลยขยับเวลาปลูกช้ากว่าปกติเป็นเดือนมิถุนายน และปลายเดือนตุลาคมก็เริ่มเก็บเกี่ยว

            สิ่งที่ทำให้คนในพื้นที่มั่นใจว่าช่วงปีไหนแล้งแล้วขยับช่วงวันปลูกนั้น ส่วนใหญ่รับฟังข่าวสารผ่านการพยากรณ์อากาศ และสังเกตฝนฟ้าอากาศจากประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่มานาน ประกอบกับในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ก็สังเกตได้ว่าสภาพอากาศไม่ปกติเหมือนเดิมคือฝนจะมาช้าและทิ้งช่วงนาน ที่ทำให้ไม่สามารถปลูกในช่วงเวลาเดิมได้ จากฝนทิ้งช่วงนี้ทำให้พื้นที่เผชิญกับปัญหาการเข้าถึงน้ำ (ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำทำการเกษตร) ที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ด้วยชุมชนบ้านห้วยหอยแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำแล้ว แต่การเข้าถึงน้ำยังคงมีจำกัด อันเนื่องจากวิกฤติภัยแล้งดังกล่าวรวมถึงการดึงน้ำจากพื้นที่รอบลำห้วยด้วยระบบท่อส่งน้ำมีมากขึ้นที่สูบน้ำอย่างอิสระไม่ได้มีมาตรการในการควบคุมการใช้น้ำจากคนในชุมชนและคนนอกชุมชนที่มาเช่าพื้นที่ทำการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ จึงเป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้คนในชุมชนบ้านห้วยห้อยเผชิญวิกฤติเรื่องน้ำมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

เทคโนโลยีการผลิต

            สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยทุ่นแรงคนในชุมชนสำหรับการทำนานั้น เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นคือจากเดิมการเตรียมพื้นที่ทำนาจะใช้วัวควายในการจัดการแปลง แต่ปัจจุบันด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นการไถด้วยรถไถเดินตาม ส่วนกิจกรรมการเกษตรประเภทอื่น เช่น การหยอดข้าว การเก็บเกี่ยว ฯลฯ นั้นยังคงเป็นลักษณะการลงแขกที่คนในชุมชนช่วยกันเอามื้อเอาวันจนกว่าจะเสร็จสิ้นรอบการผลิตในแต่ละปี

            นอกจากเห็นการเปลี่ยนแปลงของเครื่องทุ่นแรงในการทำนาแล้ว ในส่วนของการจัดการแปลงผักในพื้นที่ซึ่งจากเดิมปลูกเสริมในแปลงข้าวไร่ที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติของชุมชนในการเข้าถึงอาหารนั้น ปัจจุบันด้วยการส่งเสริมของระบบการผลิตของโครงการหลวงฯ ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มากแต่ก็สามารถผลิตผักได้อย่างต่อเนื่อง โดยการปลูกในโรงเรือนพร้อมกับระบบการให้น้ำที่เหมาะสมในแต่ละรอบการผลิตที่ผ่านระบบสปริงเกอร์ เป็นต้น

การปรับตัวของชุมชน

            การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของบ้านห้วยหอยนั้นสามารถแยกได้เป็น 2 มิติหลัก คือ มิติด้านการผลิต และมิติด้านวิถีชีวิตและการดำรงชีพ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1.มิติด้านการผลิต

1.1 การเบิกพื้นที่ทำนาแบบขั้นบันได

            ในอดีตชุมชนทำข้าวไร่ทั้งหมดในระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียนที่มีการจัดการเชิงอนุรักษ์ ต่อมาคนชุมชนได้ปรับพื้นที่บางส่วนจากพื้นที่ข้าวไร่เป็นพื้นที่นา โดยเริ่มทยอยเบิกพื้นที่นาในบริเวณที่สามารถเอาน้ำเข้านาได้ บางพื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปเริ่มใช้ท่อสำหรับต่อน้ำจากลำห้วยเข้าแปลงนาตนเอง และเริ่มขยายพื้นที่นามากขึ้นหลังจากการเข้ามาของโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำในการสร้างฝาย เหตุที่ปรับเป็นพื้นที่ทำนาเนื่องจากคนในชุมชนรู้สึกว่าการทำนามีความมั่นคงที่สามารถจัดการแปลงได้อย่างมีระบบที่สามารถควบคุมได้ (เช่น การควบคุมระดับน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินโดยการใส่มูลสัตว์ในแปลงข้าวไร่จะทำได้อย่างจำกัดเพราะถ้าใส่ไปแล้วมักจะไหลไปตามน้ำเพราะเป็นพื้นที่ลาดชัน และหลังจากเก็บเกี่ยวก็ต้องย้ายไปปลูกที่อื่นตามรอบการทำไร่หมุนเวียน) และสามารถผลิตข้าวได้มากกว่าข้าวไร่ โดยคนในชุมชนสะท้อนว่า “หากทำไร่หมุนเวียนควบคู่กับการทำนาจะมีผลผลิตข้าวกินตลอดทั้งปี แต่ถ้าทำไร่หมุนเวียนเพียงอย่างเดียวจะมีผลผลิตข้าวพอกินประมาณ 6-10 เดือนเท่านั้นเนื่องจากระบบไร่หมุนเวียนเดิมถูกกระทบความสมดุล” อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเบิกพื้นที่ทำนาจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่การทำข้าวไร่ยังคงเป็นวิถีหลักในการผลิตของคนในพื้นที่

            ในการปลูกข้าวไร่และการทำนาขั้นบันไดนั้นชุมชนยังคงมองถึงเรื่องการมีข้าวที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ด้วยหลักคิดที่ว่า “ถ้าแบ่งขายข้าวไปแล้วถึงเวลากินก็กลัวว่าจะไม่พอ ต้องไปซื้อคนอื่นด้วยราคาที่แพง” หลักคิดดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ข้าวที่ปลูกในแต่ละปีว่าควรปลูกข้าวในขนาดพื้นที่เท่าไหร่ ที่ส่วนใหญ่คนในชุมชนจะมองถึงแรงงานในการจัดการของครัวเรือนเป็นหลักว่าสามารถจัดการได้ขนาดไหนที่แม้ว่าในชุมชนจะมีการลงแขกช่วยกันก็ตาม ถ้าครอบครัวใดได้ผลผลิตข้าวมากก็อาจจะแบ่งขายบางส่วน หรือแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้าวระหว่างญาติพี่น้อง คนในชุมชนที่บางคนได้ผลผลิตข้าวน้อย หรือบางคนขาดแคลน ส่วนพันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวไร่และทำนานั้นยังคงเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนเป็นหลัก เนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่มากกว่าพันธุ์ข้าวต่างถิ่นหรือพันธุ์ข้าวจากพื้นที่ราบ พันธุ์ข้าวดั้งเดิมของชุมชนที่ว่านี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีการเก็บรุ่นต่อรุ่นไว้ได้เอง โดยการคัดพันธุ์ข้าวไร่ของพื้นที่นั้น 3-5 ปีจะคัดพันธุ์ครั้งหนึ่งเพราะบางครั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวปนกันมาก ส่วนข้าวนาจะคัดทุกปีเพราะมีการปนกันมากกว่าข้าวไร่

1.2 การทำไร่ถาวร

            คนในชุมชนเริ่มมีการปลูกพืชซ้ำในแปลงเดิมเพิ่มทุกปี และจากการทำไร่ถาวรนี้ก็ได้ส่งผลเช่นเดียวกับการลดรอบการผลิตข้าวไร่ คือ จัดการหญ้าที่รกขึ้นโดยการใช้ยาฆ่าหญ้า การเติมปุ๋ยเคมีในดิน ซึ่งถือเป็นการทำลายความหลากหลายของนิเวศชุมชนเป็นอย่างมาก และการปลูกพืชในพื้นที่เดิมยังเป็นแหล่งสะสมการระบาดของโรคและแมลงแล้ว การเข้าถึงอาหารของคนในชุมชนก็ลดลงเช่นกันทั้งปริมาณผลผลิตข้าวที่ไม่ได้เต็มที่เหมือนเดิม พืชผักที่ปลูกเสริมในแปลงก็ลดความหลากหลายลง รวมทั้งการพังทลายของหน้าดินที่ถูกชะล้างในแต่ละปีเนื่องจากการยึดเกาะหน้าดินของพืชถูกลดทอนลงจากวิธีการปลูกพืชแผนใหม่ที่พึ่งการผลิตจากปัจจัยนอกไร่นา  ซึ่งรวมถึงการเลี้ยงสัตว์ (เช่น วัว ควาย) ที่ถือว่าเป็นอาชีพสร้างรายได้ปีให้กับชุมชนก็กระทบเช่นกัน เนื่องจากการห้ามเลี้ยงสัตว์ในบริเวณพื้นที่ปลูกป่าที่เดิมเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนของคนในชุมชน

2.มิติด้านวิถีชีวิตและการดำรงชีพ

            จากปกติที่ชุมชนมีรายได้หลักเพื่อจุนเจือในครอบครัวนั้นมาจากการขายไม้ผล (เช่น พลับ อโวคาโด)  สัตว์ (เช่นวัว, ควาย, หมู, ไก่) รับรับจ้างทั่วไป (เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างเป็นแรงงานในภาคการเกษตร) เปลี่ยนเป็นมีรายได้จากการจากการท่องเที่ยวของชุมชน (เช่น โฮมสเตย์ ไกด์ ควานช้าง ขายของที่ระลึก) และการขายผักอินทรีย์ส่งโครงการหลวงเพิ่มขึ้นนั้น ได้ส่งผลการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

อ้างอิง: การสัมภาษณ์ชุมชนในโครงการวิจัยการปรับตัวของชาวนาไทยยุคหลังนโยบายจำนำข้าว ปี พ.ศ.2557. (2564). โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่ายชุมชนและสังคม (ฝ่าย 4)

บทความแนะนำ