วัชพืชช่วยสร้างหน้าดินหากเราเคยได้ยิน พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6
ที่ทรงประพันธ์เอาไว้ว่า
…เสือพีเพราะป่าปก หญ้ารกเพราะเสือยัง
ดินเย็นเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี… ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้ว ในพระราชนิพนธ์ส่วนนี้ ยังทรงชี้ให้เห็นถึงความเกื้อกูลในระบบนิเวศ ซึ่งไม่เพียงใช้สำหรับทำความเข้าใจระบบนิเวศธรรมชาติเพียงเท่านั้น แต่ยังใช้ทำความเข้าใจระบบนิเวศในเรือกสวนไร่นาเกษตรได้อีกด้วยในการเกษตรเชิงนิเวศ ทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรฟื้นฟู และเกษตรชีวพลวัต ต่างให้ความสำคัญกับ พืชสดที่ขึ้นคลุมดินอย่างหลากหลายในพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูดิน ซึ่งพืชหลากหลายที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องปลูกนั้น ก็คือ วัชพืช นั่นเองในรากของวัชพืชนั้น มีบทบาทอย่างหลากหลายในการฟื้นฟูดิน ไม่ว่าจะเป็นพืชตระกูลถั่ว ที่มีปมรากของแบคทีเรียที่ช่วยตรึงไนโตรเจนจากในอากาศลงสู่ดิน หรือแม้แต่รากของพืชตระกูลอื่นๆ อย่างพืชตระกูลหญ้าก็ยังช่วยปรับปรุงดินได้เช่นกันเพราะตามธรรมชาติแล้ว รากของพืชมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ คือ การส่งเสริมการเกิดโครงสร้างดินที่ดี ซึ่งถ้าเราพึงสังเกตให้ดีว่าดินบริเวณรอบๆ รากวัชพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาตินั้น จะเป็นดินที่มีโครงสร้างที่ดี ดินมีลักษณะร่วนซุย เป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ เกาะติดกันหลวมๆ จากรากพืชที่ชอนไชเข้าไป ทำให้เกิดช่องว่างของอากาศเพิ่มมากขึ้นในดิน ดังนั้นในความเป็นจริงก็คือ ดินจะไม่มีโครงสร้างที่ดีหากปราศจากรากพืช หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รากพืชมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์โครงสร้างดินที่ดีนั่นเอง เพราะการชอนไชของรากพืชเองก็มีภาวะอิงอาศัยระหว่างรากพืชและสรรพชีวิตรอบๆ ราก โดยรากพืชที่ยังมีชีวิตอยู่จะปล่อยสารจากราก (Root Exudates) ออกมาทำให้เกิดกิจกรรมของจุลินทรีย์บริเวณรอบๆ ราก (Rhizospheres) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบทบาทและกิจกรรมของจุลินทรีย์รอบๆ รากพืชก็มีหลายประการ ได้แก่
– ปลดปล่อยกรดอินทรีย์ (Acids) หลายชนิดช่วยละลายธาตุอาหารพืช ทำให้ดินมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช (Available Nutrients) เกิดปลดปล่อยแร่ธาตุสารอาหาร (mineralization) ให้กับพืชมากขึ้น
– จุลินทรีย์รอบๆ รากพืชบางชนิดก็สามารถสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช จำพวกฮอร์โมนพืชได้
– จุลินทรีย์หลายชนิดมีบทบาทส่งเสริมการเกิดรากขนอ่อนของพืชในการปรับปรุงโครงสร้างดินรอบๆ รากพืช เช่น การเหนี่ยวรัดอนุภาคดินของเส้นใยเชื้อราและแอคติโนมัยซีท และการผลิตสารจำพวก Polysaccharides ของแบคทีเรียบางชนิด ตลอดจนการเกิดฮิวมัสในดินจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยจุลินทรีย์ในดินก็ทำให้เกิดเป็น สารเชื่อมเม็ดดิน (Soil Cementing Agent) ทำให้โครงสร้างดินมีความมั่นคงหรือเสถียรภาพมากขึ้น
– การตรึงไนโตรเจนโดยแบคทีเรียในดินและในปมรากของพืชตระกูลถั่ว ตลอดจนภาวะอิงอาศัยระหว่างรากพืชและเชื้อราชั้นสูงหลายชนิดที่เป็นปรากฏการณ์ไมคอร์ไรซาก็ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช
– ระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันของจุลินทรีย์รอบๆ รากพืช ก็เป็นเสมือนฉนวนป้องกันการเกิดโรคพืชรอบๆ รากพืชได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ รากพืชที่เกิดขึ้นในดินนั้น ไม่ได้คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไป เมื่อรากเก่าที่เกิดขึ้นในดินตายลงก็จะกลายเป็นอินทรียวัตถุหรือซากพืชที่จะถูกย่อยโดยไส้เดือน สัตว์หน้าดินและจุลินทรีย์ต่างๆ ในดิน จนเกิดเป็นฮิวมัสและกลายเป็นอาหารให้กับพืชในแปลงไม้ผลหรือแปลงพืชอายุยาว การเลี้ยงและการตัดวัชพืชให้เตี้ยเลี่ยดินบ้างเป็นครั้งคราว จึงกลับเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนและรักษาหน้าดินมากกว่าการฉีดพ่นทำลายโดยสารเคมีกำจัดวัชพืช
เช่นเดียวกันกับแปลงพืชไร่ พืชผัก การไถกลบวัชพืชเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ทั้งตอนเตรียมดินและระหว่างการเจริญเติบโตในช่วงแรกที่อาจแข่งขันกับพืชที่เราปลูกได้ ก็เป็นประโยชน์กับดินมากกว่าการฉีดสารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะช่วยเพิ่มพูนอินทรียวัตถุและส่งเสริมการเกิดฮิวมัสที่ช่วยในการปรับปรุงดินอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เมื่อพืชผักเจริญเติบโตพ้นระยะแข่งขันกับวัชพืชแล้ว วัชพืชที่ขึ้นก็ไม่เป็นปัญหาในการผลิตแต่อย่างใด
ดังนั้น หากเข้าใจคุณค่าของวัชพืช ก็จะสามารถใช้ประโยชน์ของวัชพืชในการทำฟาร์มอย่างเป็นการทำงานกับธรรมชาติได้ ในระบบเกษตรกรรมเชิงนิเวศต่างๆ วัชพืชจึงมีบทบาทในการฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งในฐานะที่เป็นแหล่งอินทรียวัตถุและพืชคลุมดินมากกว่าพืชที่ขึ้นแข่งขันกับพืชที่เราปลูก ทิศทางการเกษตรต่อไปจากนี้ จึงต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ มาสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ที่สามารถพึ่งตนเองได้ พึ่งพาธรรมชาติอย่างยั่งยืนหากผนวกวิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เป็นส่วนหนึ่งในกลไกการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเกษตรในบ้านเรา คงจะแก้กระดุมแห่งปัญหาของภาคเกษตรบ้านเราได้หลายเม็ดทีเดียว
ฝากไว้ในอ้อมใจ ของผู้ที่รักและปรารถนาดีต่อเกษตรกรรมไทยทุกๆ ท่านครับ