ขนาดพื้นที่การผลิต และนิเวศเกษตรที่ต่างกันจะมีหลักในการจัดการอย่างไรที่จะทำให้เกิดระบบการผลิตที่สมดุลและยั่งยืน??? คำถามนี้มักเกิดขึ้นหากมองกลับไปที่แปลงการผลิตที่มีบริบทของพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ และเงื่อนไขในการจัดการที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดการที่มองแยกส่วนของระบบการผลิตและความสัมพันธ์ของวงจรธรรมชาติ รวมถึงข้อมูลเชิงตัวเลข (เช่น ต้นทุนการผลิต แมลงศัตรูพืช-ศัตรูธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น) ที่มีนัยยะสำคัญต่อการวางแผนการผลิตและผังไร่นา ประกอบกับศาสตร์ในการจัดการแปลงการผลิตนั้นมีหลายแขนง เช่น ทรัพยากรดิน, ทรัพยากรน้ำ, การควบคุมโรคและแมลง, ทรัพยากรพืชพรรณและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางการเกษตร เป็นต้น แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการปรับใช้ในแปลงการผลิตโดยให้เกิดการเกื้อกูลในนิเวศเกษตรนั้น
สวนลุงโหนกนานาพรรณ จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของการจัดการแปลงการผลิตแบบเกษตรเชิงระบบหรือเกษตรเชิงนิเวศ ในพื้นที่การผลิตทั้งหมด 8 ไร่ ที่นำหลักคิดมาปรับใช้ในแปลงโดยมีการจัดสรรพื้นที่ 1.1 ไร่ เป็นสวนยกร่อง 1 ไร่ เป็นสระน้ำ 3.3 ไร่ เป็นพื้นที่สวนและที่อยู่อาศัย และ 2 ไร่ เป็นพื้นที่นาข้าว สิ่งที่น่าสนใจของการจัดการของสวนลุงโหนกนานาพรรณ ที่มองครอบคลุมในด้านต่างๆ ดังนี้
– 1.การจัดการแปลงที่มุ่งให้เกิดการลดต้นทุนมากที่สุด
- การเลือกปลูกชนิดพืชที่สอดคล้องและสมดุลกับเวลาในการจัดการแปลงการผลิต โดยไม่จ้างแรงงาน
- การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้วัสดุในไร่นาตนเองเป็นหลัก
- เพิ่มอินทรียวัตถุจากผักตบชวาที่ปลูกตามร่องสวนและตะกอนดินในร่องน้ำ/สระน้ำ
- เพิ่มธาตุอาหารและช่องว่างอากาศในดินจากการปลูกถั่วพร้าที่เก็บเมล็ดพันธุ์เอง
- การควบคุมโรคและแมลงจากการใช้น้ำสมุนไพรที่สกัดจากสะเดา ซึ่งปลูกไว้เองที่สวน
- การคิดค้นและนำใช้เครื่องทุ่นแรงที่ประดิษฐ์เอง เช่น เครื่องหยอดกล้าข้าว เครื่องนวดข้าว เพื่อลดต้นทุนในการจัดการ
2.การนำหลักการชลประทานมาปรับใช้ในแปลงการผลิตโดยการออกแบบสระเพื่อเก็บกักน้ำ และแผนผังไร่นาเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีจากการควบคุมน้ำใช้ในแปลง ซึ่งเป็นปริมาณน้ำจากการเก็บกักน้ำฝนเป็นหลัก โดยน้ำเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการแปลงการผลิตทั้งระบบ
3.ข้อมูลการจัดการแปลงการผลิตนำเสนอในเชิงตัวเลข ไม่ได้อาศัยความน่าจะเป็น ตัวเลขในที่นี้เช่น ปริมาณธาตุอาหาร (ธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง) ปริมาณน้ำฝน ปริมาณความต้องการน้ำของพืชเพื่อมาคำนวณปริมาณน้ำที่ต้องการตลอดทั้งปีในระบบการผลิตของสวนซึ่งสัมพันธ์กับการเก็บกักน้ำในสระ
4.หญ้า (เช่น หญ้าหวาย) ไม่ใช่วัชพืช แต่รากที่เป็นปมของหญ้าช่วยทะลวงดิน (โดยเฉพาะดินเหนียว) ช่วยเพิ่มช่องว่างอากาศในดิน
หลักการจัดการแปลงการผลิตของสวนลุงโหนกนานาพรรณ ถือเป็นหน่วยการผลิตที่ยังคงมีสัดส่วนน้อยรายหากเมื่อเทียบกับวิธีการคิดในการจัดการแปลงการผลิตของคนส่วนใหญ่ที่ยังคงให้ความสำคัญและยึดติดกับเทคนิคด้านการผลิตเป็นหลัก (ที่มักตั้งคำถามดังข้างต้น) หากมองกลับกันถ้าเราเข้าใจในหลักการจัดการแบบองค์รวมหรือการเกษตรที่มองเชิงระบบมากกว่าเรื่องเทคนิค ขนาดพื้นที่หรือการมีนิเวศเกษตรที่ต่างกันก็ไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไปที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับนิเวศในแต่ละพื้นที่ได้อย่างสมดุล