ตอนที่ 31 มะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ที่ลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม
นครปฐม จังหวัดที่ลือชื่อทั้งเรื่องอาหารและไม้ผล สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี หลังจากต้องประสพกับภัยพิบัติใหญ่ในปี 2554 ทำให้พืชผลทางเกษตรเสียหายหมด ได้นำมาสู่การทบทวนการทำเกษตรในชุมชน ที่พบว่า ช่วงก่อนน้ำท่วมได้มีการปลูกพืช ไม้ผลหลากหลายชนิดมีมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ เมื่อเกิดน้ำท่วมขังทำให้ไม้ผลและมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ ยืนต้นตายไปหมด ไม่ต่างกับการทำนาหากเป็นอดีตได้ใช้พันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่านครชัยศรี พญาชม ทองระย้าฯลฯ แต่ด้วยการพัฒนาที่เร่งผลผลิตเพื่อค้าขายทำให้พันธุ์ข้าวเหล่านี้หายไปจากพื้นที่ การทบทวนการทำเกษตรครั้งนั้น ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความหลากหลายในแปลงเกษตร จึงได้นำพันธุ์พืชดั้งเดิมที่สูญหายไป หรือลดลงให้กลับฟื้นคืนในแปลงเกษตร ถึงวันนี้ “ข้าวหอมนครชัยศรี” ที่รสชาตินุ่ม หอม อร่อยได้กลับมาเป็นที่รู้จัก เป็นความต้องการของผู้บริโภค และได้เป็นเอกลักษณ์สำคัญของอำเภอนครชัยศรี
นันทา ประสารวงษ์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า หนึ่งวิทยากรในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมไม้ผล : นวัตกรรมของการอนุรักษ์และพัฒนาบนฐานภูมินิเวศและความยั่งยืน” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 เล่าว่า “ก่อนน้ำท่วมเฉพาะสายพันธุ์มะม่วงที่กินกันตั้งแต่เด็กๆ หลากหลายสายพันธุ์ได้เสียหายไปหมด จึงต้องการนำกลับมาใหม่ เพื่อให้ลูกให้หลานได้เห็นว่า มะม่วงมีความหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ให้รสชาติที่แตกต่างกัน อย่างเช่น พันธุ์เขียวไข่กา ทองดำ ทองปลายแขน พันธุ์ทุเรียน พญาลืมเฝ้า พรามณ์ขายเมีย ฯลฯ ด้วยความทรงจำตอนเด็กๆ พ่อกับแม่จะพากันเก็บมะม่วงแล้วมาบ่มไว้ พอสุกเอาไปทำบุญที่วัด อีกส่วนก็เอามากินกับข้าวเหนียวมูนแล้วรสชาติอร่อยมาก โดยเฉพาะเขียวไข่กา และทองดำที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์”
การรื้อฟื้นและอนุรักษ์สายพันธุ์มะม่วง
เริ่มแรกไปหาเมล็ดพันธุ์มะม่วงที่เคยมีแล้วรวบรวมมาปลูก ไม่ได้คิดว่าผลผลิตจะเอาไปขาย แต่อยากขยายพันธุ์ให้มีความหลากหลายสายพันธุ์ไว้ในบ้าน ในชุมชน และเลือกปลูกด้วยเมล็ดเพราะเชื่อว่ามีความแข็งแรง ต้านทานโรค ปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ต่อมาอยากทำให้เป็นเรื่องเป็นราว จึงได้ค้นถามหาสายพันธุ์มะม่วงที่เคยมีในจังหวัดนครปฐม จากคนรุ่นเก่าๆ แล้วหาพันธุ์มาปลูก และมีการจดบันทึกเรื่องราว แหล่งที่มาของสายพันธุ์ ลักษณะพันธุ์ ความเป็นมาของชื่อ แล้วนำมาปลูก
ชื่อสายพันธุ์เป็นเรื่องสนุกและมีความหมาย เช่น มะม่วงทุเรียน เนื้อสุกจะมีรสหวานแล้ว มีกลิ่นหอมคล้ายเนื้อทุเรียนนิดๆ หรือพญาลืมเฝ้า นั้นความเป็นมาคือ รสชาติดีมาก หากไม่เฝ้าผลที่ต้นไว้มีอันเป็นหาย ส่วนทองปลายแขน ลักษณะลูกจะยาวถึงครึ่งแขน เนื้อดิบเหมาะไปทำยำมะม่วง เนื้อสุกเหมาะทำมะม่วงกวนเพราะเนื้อเยอะ เป็นต้น
ต้องกินตามฤดูกาล กินได้ปีละครั้ง มะม่วงถึงมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่จะมีผลผลิตให้กินตามฤดูกลาย แต่ความต่างของสายพันธุ์ ทำให้ทยอยออกผลในเวลาต่างกัน และวิธีการบริโภคแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ บ้างกินดิบเคียงกับน้ำปลาหวาน เอาไปทำยำ หรือเอาไปแกงให้รสชาติเปรี้ยว บ้างกินสุกแล้วจะมีรสชาติหอม หวาน บางชนิดกินได้ทั้งดิบและสุก อย่างเช่น เขียวไข่กา ช่วงดิบจะมันๆ เปรี้ยวๆ แต่พอเนื้อสุกจะหวานแต่อมเปรี้ยวเล็กน้อย
การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ นอกจากการบันทึกเรื่องราวประวัติ แหล่งที่มาและนำมาปลูกแล้ว ก็พยายายามสื่อสารให้กับคนอื่นๆ เช่น แบ่งผลผลิตไปให้กินกัน อย่างเขียวไข่กากินสุกอร่อยก็เอาผลสุกไปฝาก หากผลผลิตมีเยอะจนสุกก็ไปทำมะม่วงแผ่น ด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชมลานตากฟ้า มีการรวบรวมและนำผลผลิตในชุมชนไปวางขายในตลาดอินทรีย์ที่ต่างๆ จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการแบ่งปันมะม่วงไปฝากไปกิน แล้วก็เกิดการนำเมล็ดที่กินไปปลูกกัน หรือหากตั้งใจปลูกก็จะแบ่งเมล็ดไปให้ และจดบันทึกไว้ว่าได้ให้เมล็ดพันธุ์ชนิดใดกับใครไป เพื่อเป็นการติดตาม หรือหากมีวิกฤตก็รู้ว่ามะม่วงสายพันธุ์ไหนอยู่กับใครที่ไหน จะทำให้เอากลับคืนมาได้ ด้วยวิธีนี้ ถือเป็นการขยายและฟื้นฟูมะม่วงพันธุ์พื้นบ้านให้กระจายไปที่ต่างๆ และไม่จำเป็นว่าต้องปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่สามารถปลูกไว้บริเวณรอบๆ บ้านได้ นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้มีการทำงานร่วมกับโรงเรียนในชุมชนพอถึงฤดูกาลมะม่วงก็นำมะม่วงไปให้เด็กกินกัน เพื่อให้เด็กรู้จักมะม่วงที่หลากหลายนั่นเอง
“ถ้ากินมะม่วงที่วางขายในตลาดซึ่งปัจจุบันมีไม่กี่สายพันธุ์ และรสชาติไม่ดี อาจเป็นเพราะเร่งการผลิตมา อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีมาด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักมะม่วงพื้นบ้านที่มีหลากหลายสายพันธุ์ โดยเอาประเด็นชื่อที่น่าสนใจ รสชาติที่แตกต่างกัน หรือวิธีกินมะม่วงแต่ละสายพันธุ์ กินดิบ กินสุก ไปชวนคุย และถ้าต่างนิเวศมะม่วงยิ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ นี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์มะม่วงเอาไว้”
อ้างอิง ข้อมูลจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมไม้ผล : นวัตกรรมของการอนุรักษ์และพัฒนาบนฐานภูมินิเวศและความยั่งยืน” วันที่ 25 มิถุนายน 2563 งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563