โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่15 เตรียมพื้นที่อาหารก่อนเปิดเรียน

            “โรงเรียนมีบุคคลากรและพื้นที่จำกัด” “สภาพดินและน้ำไม่เอื้อกับการเพาะปลูก” อาจเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้บางโรงเรียนยังไม่ได้เริ่มต้นทำแปลงการผลิต หรือบางโรงเรียนเริ่มต้นเพาะปลูกผักแล้ว แต่ก็ยังคงมีการใช้ปุ๋ยเคมีในระบบการผลิต คำถามคือ มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่มีคุณภาพภายใต้ข้อจำกัดที่หลากหลายของแต่ละโรงเรียน? ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีหลายรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพโดยเฉพาะอาหารที่มาจากผลผลิตอินทรีย์ เช่น การรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในชุมชน การทำแปลงเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในโรงเรียนหรือพื้นที่สาธารณะโดยออกแบบแปลงการผลิตร่วมกับชุมชน การทำโครงการผลิตอาหารอินทรีย์ร่วมกับสถาบันการศึกษา/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามการเลือกรูปแบบดังที่กล่าวมาหรือเลือกที่จะไม่ทำเลยนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดของผู้บริหารนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการปฏิรูปอาหารในโรงเรียน
            โรงเรียนสันป่ายางวิทยาคาร ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ (โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา 1-6) เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ได้เริ่มขยับในเรื่องแนวคิดการผลิตอาหารอินทรีย์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเนื่องจากความตระหนักเรื่องสุขภาพ และต้องการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ โครงการทำแปลงการผลิตเดิมของโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมายังคงมีการใช้ปุ๋ยเคมีบางส่วน และขาดความต่อเนื่องในการผลิตอันเนื่องจากข้อจำกัดการบริหารจัดการแปลงที่ทำให้ไม่สามารถผลิตอาหารให้กับโรงเรียนได้อย่างเต็มที่จึงทำให้โครงการปลูกผักเดิมหยุดชะงักไป ด้วยแนวคิดการปรับเปลี่ยนแปลงการผลิตมุ่งสู่อินทรีย์นั้นทางโรงเรียนได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน (กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลสันป่ายาง สมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำฮาว อ.แม่แตง ที่ชุมชนขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่มามากกว่า 20 ปี) ในการออกแบบแปลงการผลิตและการจัดการที่เอื้อต่อข้อจำกัดของโรงเรียนโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพดินและการจัดการน้ำ หลังจากได้กรอบการจัดการแปลงการผลิตทางโรงเรียนได้เริ่มทยอยดำเนินการจัดการมากขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาโดยทดลองนำร่องทำเป็นแปลงผักจากก้อนอิฐที่ปลูกแบบผสมผสานเน้นการผลิตตามฤดูกาล/พืชพื้นบ้าน การเลี้ยงไส้เดือน และการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้  ทางโรงเรียนคาดหวังว่าแปลงการผลิตดังกล่าวจะสามารถให้ผลผลิตทันในช่วงเปิดเทอม และสร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในการผลิตอาหารแบบมีส่วนร่วมกับนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง

            การสร้างพื้นที่อาหารให้คำนิยามที่มากกว่าการผลิตเพื่อให้มีอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงว่าจะทำอย่างให้เป็นระบบการจัดการที่ยั่งยืนที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ครู ผู้ปกครองทั้งในด้านการผลิต หรือสามารถสร้างรายได้ให้กับนักเรียนในระหว่างเรียน อย่างน้อยที่สุดทำให้นักเรียนมีวิชาชีพหลังจากเรียนจบและตระหนักเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ที่เป็นอีกความคาดหวังที่ทางโรงเรียนต้องการให้บรรลุผล

บทความแนะนำ