“ความปกติใหม่” คำนี้อยู่ในความสนใจของสังคมไทยอย่างกว้างขวาง และมีคนจำนวนมากทำนายกันถึง “โลกหลังโควิด” (post-Covid world) ที่หลากหลาย…
ในส่วนของภาคการเกษตรและระบบอาหาร หลายคนกล่าวถึง สภาวะเศรษฐกิจที่ได้ผลักดันแรงงานรับจ้างจากเมืองกลับภูมิลำเนา ภาคการเกษตรกลายเป็นพื้นที่ของความคาดหวังว่า จะเป็นหลังอิงรองรับกลุ่มคนที่หนีพิษเศรษฐกิจและพิษโรคระบาดโควิด-19 ทั้งในระยะเฉพาะหน้าที่ต้องกลับมาตั้งหลัก หรืออาจเป็นระยะยาวที่กลับมาตั้งมั่น ไม่คืนกลับเมืองอีกแล้ว
ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ณ ขณะนี้ อาจยังไม่มีใครตอบได้ชัดว่า ความคาดหวังนั้นจะเป็นจริงได้หรือไม่ และหากจะทำให้ภาคการเกษตรเป็นภาคการผลิตสำคัญในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากและเศรษฐกิจมหภาค สร้างระบบอาหารที่มั่นคงและปลอดภัยให้กับคนทุกคนในสังคมอย่างถ้วนหน้าได้นั้น ต้องทำอะไร อย่างไร ต้องเปลี่ยนแปลงเทคนิคการเกษตร ค้นหานวัตกรรม หรือต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระบบที่บิดเบี้ยวเกือบ 60 ปีที่ผ่านมาหลังปฏิวัติเขียว ปี 2504 !!
บทความของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่เขียนถึง 5 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด” เป็นคำถามและโจทย์ที่อาจเป็นพื้นฐานความคิดสำคัญ โดยบทความกล่าวโดยสรุปคือ การร่วมกันจินตนาการถึงอนาคตในการพัฒนาประเทศเป็นสัญญาณดีที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคมได้ตื่นตัวและต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา อย่างไรก็ตาม การร่วมกันจินตนาการถึงอนาคตดังกล่าว ควรต้องได้รับการหนุนเสริมด้วยข้อมูลและหลักวิชาการที่หนักแน่น และผ่านการถกเถียงกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์มากที่สุด และไม่ติดอยู่กับ “หลุมพรางทางความคิด” ต่างๆ โดย“หลุมพรางทางความคิด” อย่างน้อย 5 ประการคือ
ประการแรก การไม่แยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด กับ “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19”อาจทำให้เราเข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมของมนุษย์เราในช่วงผิดปกติในปัจจุบันส่วนใหญ่จะดำรงต่อเนื่องไป ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอดีตชี้ว่า ในหลายกรณี พฤติกรรมส่วนใหญ่ในช่วงผิดปกติจะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว
ประการที่สอง มีการตั้งเป้าหมาย “ความปกติใหม่” ในลักษณะที่อุดมคติมาก โดยไม่ได้คิดถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในการปรับตัวไปสู่ “ความปกติใหม่”นั้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านความปลอดภัย หรือการเน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น (self sufficiency) ในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งยารักษาโรค อาหารและพลังงาน แม้ว่าต้นทุนของการพึ่งพาตนเองดังกล่าวอาจอยู่ในระดับที่สูงมาก จนไม่สามารถเกิดเป็น “ความปกติใหม่” นั้นได้
ประการที่สาม การไม่คำนึงถึงเส้นทางการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่การพัฒนาเศรษฐกิจมีลักษณะขึ้นกับเส้นทางในประวัติศาสตร์ (path dependent) อย่างมาก การปรับเปลี่ยนไปสู่ “ความปกติใหม่” ตามที่บางฝ่ายจินตนาการไว้ จึงอาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย
ประการที่สี่ การไม่คำนึงถึงบริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างเพียงพอ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (small open economy) ซึ่งต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจโลกในระดับสูง
ประการที่ห้า การไม่ระบุข้อสมมติ (assumption) ที่สำคัญต่างๆ อย่างชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่า ข้อสรุปและข้อเสนอต่างๆ นั้นเกิดจากความเข้าใจใด และไม่ทราบว่าจะสามารถใช้ข้อสรุปและข้อเสนอเหล่านั้นได้เพียงใด เมื่อสถานการณ์จริงแตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้
และก่อนที่จะด่วนสรุปว่า “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด” เป็นอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไรนั้นควรต้องถามตัวเองอย่างน้อย 5 คำถามคือ
1.เราใช้ข้อสมมติ (assumption) อะไรในการวาดภาพอนาคต?
2.เราได้พยายามแยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดออกจาก “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” หรือยัง?
3.“ความปกติใหม่” ที่เราตั้งเป้าอยากเห็นจะมีต้นทุนสูงเพียงใด เราพร้อมจะจ่ายและสามารถจ่ายได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่น่าจะเติบโตช้าลง ในขณะที่รัฐบาล ธุรกิจและประชาชนไทยจะมีทรัพยากรน้อยกว่าก่อนเกิดโควิด-19 มาก?
4.การสร้าง “ความปกติใหม่” ตามที่เราจินตนาการไว้ จะต่อยอดจากการลงทุนสร้าง “ความปกติเดิม” ก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไร ทั้งทุนกายภาพและทุนมนุษย์ ซึ่งหาก “ความปกติ” ใน 2 ช่วงเวลาแตกต่างกันมาก เราจะทำอย่างไรไม่ให้การลงทุนมหาศาลในอดีตสูญเปล่า?
5.เราเข้าใจบริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปดีพอหรือยัง ที่จะทำให้เราปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับบริบทใหม่นี้?
การทำความเข้าใจต่อ “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด-19” มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างมาก มีโจทย์สำคัญ 4 โจทย์ใหญ่ที่ต้องช่วยกันขบคิด คือ
1.โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังการระบาดของโควิด-19?
2.ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?
3.อะไรคือ “อนาคตที่พึงประสงค์” ของประเทศไทยใน “โลกหลังโควิด-19”?
และ 4. คนไทยควรทำอย่างไร เพื่อสร้าง “อนาคตที่พึงประสงค์” ดังกล่าวให้เกิดขึ้น?
คำถามและโจทย์เหล่านี้อาจเป็นพื้นฐานความคิดสำคัญต่อการเผชิญหน้าและรับมือกับสถานการณ์และผลกระทบ รวมถึงการไปสู่ข้อเสนอทางนโยบายและมาตรการการพัฒนาที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เท่าทันและมีความรอบรู้อย่างเพียงพอ เพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนผ่าน (transformation) ไปสู่ “อนาคตที่พึงประสงค์” โดยเฉพาะจากคนหนุ่มสาวที่จะต้องอยู่กับ “โลกหลังโควิด-19” ไปอีกนาน
อ่านรายละเอียดของบทความชิ้นนี้ได้ที่เพจของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย