โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

เมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 มีการจัดงานที่ชื่อ ““ป่าเรียน ป่าเย็น” ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่่ 1” ที่ไร่วุฒิภัทร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

.

คุณกิตติภพ สุทธิสว่าง แห่งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เป็นหนึ่งในวิทยากรวงเสวนาหัวข้อ “ป่าเรียน ป่าเย็น” ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงวิชาการในงานดังกล่าว หัวข้อที่คุณกิตติภพรับผิดชอบอภิปรายคือ “SDGs การขับเคลื่อนและนโยบาย”

.

  • ความหมายของ “ป่าเรียนป่าเย็น”

ในฐานะผู้ร่วมจัดงานคนหนึ่งและเป็นคนพื้นที่ด้วย คุณกิตติภพเล่าถึงความเป็นมาของงาน “ป่าเรียน ป่าเย็นฯ ครั้งที่ 1” ว่า ในช่วงเวลา 2-3 เดือนก่อนที่จะจัดงาน ในพื้นที่แถบอำเภอจะนะและเทพาเกิดวิกฤตสภาพอากาศ ปรากฏว่า มีชาวบ้านที่พากันเข้าไปอยู่ที่ป่าเรียน

.

“อากาศร้อน ฝนทิ้งช่วง ขนาดเป็นสวนสมรม ต้นไม้ยังตายบ้างรอดบ้าง สังเกตว่าต้นใหญ่จะรอด ประเด็นสำคัญคือ ชาวบ้านควนหมากไปอยู่ที่ป่าเรียน คุยกันว่าไปอยู่ไหนมา ชาวบ้านบอกไปอยู่ป่าเรียน ป่าเรียนมีอะไรบ้าง มีสายน้ำ มีอาหาร “ป่าเรียนป่าเย็น” คือเข้าไปแล้วเย็น อากาศร้อนมากวิ่งเข้าป่าเรียนก็คือเย็น”

.

สำหรับคนนอกพื้นที่ คำว่า “ป่าเรียน” อาจทำให้คิดถึงเรื่องการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในชื่อของงานมีคำว่า “ภูมิปัญญา” ตามมาด้วย

.

แต่ความจริงแล้ว “ป่าเรียน” นั้น เป็นการออกเสียงกระชับแบบภาษาใต้ในการเรียกสวนทุเรียนที่ปลูกแบบ “สวนสมรม” ซึ่งใช้เรียกสวนที่ปลูกไม้ผล ไม้ดอก หรือพืชชนิดใดก็ตาม โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ และปล่อยให้ต้นไม้และพืชต่างๆ อยู่ร่วมกันตามธรรมชาติ

.

คุณกิตติภพกล่าวถึง “ป่าเรียน” ว่า “ในความหมายของป่าเรียน คือ มีทุกอย่าง มีทุเรียน มีลองกอง มีพืชอาหาร มีพืชยาสมุนไพร”

.

  • ที่มา…กว่าจะเกิดงาน “ป่าเรียน ป่าเย็น”

ส่วนในเชิงของความเป็นมาในการจัดกิจกรรม คุณกิตติภพเล่าว่า สภาองค์กรชุมชน 4 อำเภอ อันได้แก่เทพา นาทวี สะบ้าย้อย และจะนะ มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงมีการทำยุทธศาสตร์ร่วมกันและดำเนินการสร้างรูปธรรมในพื้นที่มาโดยตลอด โดยมีการเข้าร่วมของสถาบันการศึกษาในหลายๆ ประเด็นด้วย

.

“ขบวนการทำงานถูกก่อร่างสร้างตัวมาจนชาวบ้านรู้สึกว่านโยบายมีความจำเป็น จึงขยับขับเคลื่อนมาตลอด เริ่มแรกที่ออกมาเป็นรูปธรรมคือวิชาลูกควน (หนังสือคู่มือการเรียนรู้ “วิถีลูกควน” บ้านควนหมาก ตำบลวังใหญ่) ตอนนี้คือเรื่องป่าเรียนป่าเย็น ชาวบ้านตั้งกลุ่ม มีสมาชิก 20 กว่าคน และขับเคลื่อนเรื่อยมา ด้วยระบบนิเวศที่สำคัญมากในการแสดงรูปธรรมที่จะสื่อสารให้ชุมชนสัมผัสได้อย่างตรงไปตรงมา ชัดเจนเลยคือ ช่วงร้อนวิ่งเข้าป่าเรียนแล้วเย็น

.

“ป่าเรียนมีอาหาร มีทุกอย่าง จึงคิดว่า นอกจากจะประกวดแค่ทุเรียน เราควรประกวดป่าเรียนด้วย”

.

“ล่าสุดดึงสถาบันอภัยภูเบศลงมาพื้นที่นาทวีเพื่อสำรวจป่าเป็นพันไร่ที่ดูแลอยู่ ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อสถาบันอภัยภูเบศเข้าไปดูพื้นที่พร้อมชาวบ้าน ว้าวกันทั้งคณะ ทั้งชาวบ้าน ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ นายอำเภอ”

.

  • กิจกรรมเพื่อตอบโจทย์วิกฤต

กิตติภพยอมรับว่า สถานการณ์ที่สำคัญของพื้นที่ในปัจจุบันเป็นเช่นเดียวกับที่ ดร.อาภา หวังเกียรติ ให้ภาพไว้ นั่นคือเรื่องการรุกเข้ามาของทุนจีน

.

“เมื่อวานมีทุนจีนใหญ่มาที่ไร่วุฒิภัทร เขามาสำรวจพื้นที่และสำรวจแล้ว 3 จังหวัด ประเด็นสำคัญคือ ทุกคนต้องการอาหาร ด้วยวิกฤตโลกร้อน วิกฤติสิ่งแวดล้อม วิกฤติทางสงคราม ทุกคนหาอาหาร ที่นี้ชุมชนจะรับมืออย่างไร

.

“จึงคิดว่าพื้นที่ต้องมีฐานข้อมูลที่ทำร่วมกับวิชาการ ออกแบบเพื่อทำฐานข้อมูลก่อน แบบองค์รวม ไม่แยกประเด็น เป็นข้อมูลระบบนิเวศ เมื่อทำเสร็จก็สื่อสารทางสาธารณะไปด้วย ทำกิจกรรมไปด้วย ที่สำคัญเมื่อพื้นที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน เราก็เอาวิชาการมาจับมือกัน เช่น สกสว. มหาวิทยาลัย 6 สถาบันในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อลุยด้วยกัน

.

“อีกอย่างหนึ่งที่ขับเคลื่อนตอนนี้ สภาองค์กรชุมชน 4 อำเภอ จะจับมือกันเป็นเครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นี้คือนโยบายที่เราจะไป และมียุทธศาสตร์ประมาณ 14-15 ข้อ แตกต่างกันไป แต่ดูแล้วตอบโจทย์ SDGs ทั้งหมด”

.

  • การขับเคลื่อนในก้าวย่างต่อไป

“สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่อีกประเด็น คือ อบจ. อยากทำโรงงานไฟฟ้าขยะชีวมวล เพราะโรงไฟฟ้าจะนะดับ ผมมองว่าเป็นประเด็นที่ต้องเข้าไปช่วยเขา (อบจ.) ให้คิดให้ทำ กำหนดทิศทางให้ชัดเจน ซึ่งฟังบ้างไม่ฟังบ้างไม่ใช่ประเด็น อบจ. อาจจะเริ่มฟัง เราต้องทำรูปธรรมรองรับ” คุณกิจกิภพปรารภในตอนหนึ่ง

.

“ประเด็นสำคัญคือเราทำเดี่ยวไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะในมิติการทำงานหรือการปลูกพืช ยกตัวอย่าง พื้นที่ชุมพร ปลูกขนุนส่งจีนร้อยกว่าไร่ตายเรียบ การทำฐานข้อมูลชุมชนและยกขึ้นมากำหนดทิศทางตนเองเป็นสิ่งสำคัญ

.

“ป่าเรียน ป่าเย็น เป็นการจัดงานครั้งแรก ป่าเรียนจะทำข้อมูลให้ชัดเจนและชี้เป้าว่าจะไปยกระดับอย่างไร แต่ก่อนเราคิดว่าทุนใหญ่เข้ามา ปรับเปลี่ยนวิธีคิด สร้างเงินอย่างเดียว แล้วชาวบ้านหายจน? แต่ทุนฐานทรัพยากร ทุนพันธุกรรมท้องถิ่น ทุนเหล่านี้จะสามารถล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ คนทั้งโลกได้

.

“ขบวนการทำงานของสภาองค์กรชุมชนตอนนี้ กำลังผสานความร่วมมือท้องถิ่น ท้องที่ ร่วมมือกันกับสภาฯ ไปคุยกับนายอำเภอเทพาได้ให้ข้อคิด วิธีการทำงานมา ผมคิดว่าหน่วยเล็กๆ แบบนี้เป็นพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับโลกได้

.

“การจัดฐานข้อมูล กำหนดทิศทาง และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เห็นภาพความร่วมมือของชุมชน ภาคท้องถิ่น ท้องที่ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ร่วมมือกัน กำหนดทิศทางของตนเองได้ และคิดว่าทิศทางตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อเป็นการทำข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำยุทธศาสตร์พื้นที่ต่อไปได้”

บทความแนะนำ