โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 11 ทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด

“การเกิดขึ้นของโควิดทำให้เห็นปัญหาของเกษตรกรชัดขึ้น แต่รัฐบาลไม่เห็นเลย ถ้าดูจากโครงการสี่แสนล้านจะพบว่ามันเป็นแบบเดิมทั้งสิ้น ควรหยุดการใช้เงินสี่แสนล้านหรืออย่างน้อยชะลอการใช้เงินไปก่อน” ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อคิดเห็นผ่านเวทีเสวนา โลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย ซึ่งในเวทีดังกล่าวทาง ศ.ดร.อรรถจักร ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่น่าสนใจต่อทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติปัจจุบัน โดยแยกเป็นรายประเด็นดังนี้

ควรหยุดหรือชะลอการใช้เงินสี่แสนล้าน

“สิ่งสำคัญที่จะทำให้งบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือเมื่อเราเห็นปัญหาแล้วเราต้องส่งเสียงให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วปัญหาจะซ้ำเติมกันมากขึ้น สิ่งแรกที่เราจะต้องทำว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการหยุดใช้เงินสี่แสนล้านหรืออย่างน้อยชะลอการใช้เงินไปก่อน เพราะกรอบโครงการการฟื้นฟูที่ส่งมานั้นอยู่ในกรอบเดิมทั้งหมด ดังเช่นบางกรมที่ทำเกี่ยวกับน้ำก็เสนอโครงการที่ใช้งบแบบปกติซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการใช้นโยบายที่เขาทำมามันนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” หากโครงการที่เสนอเป็นแบบนี้อยู่ควรอย่างยิ่งที่ควรชะลอการตัดสินใจ ถ้าไม่อย่างนั้นงบประมาณสี่แสนล้านจะลงไปทำร้ายระบบทั้งหมด อย่างเช่นปัญหาของชนบทที่มีความสลับซับซ้อนที่สูงขึ้น มีความหลากหลายของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร ซึ่งความซักซ้อนนี้จำเป็นต้องนำมาคิดประกอบในการจัดการชนบท ซึ่งการแก้ปัญหาชนบทนี้ไม่ได้แก้ปัญหาโควิดอย่างเดียวแต่เป็นการแก้ที่สะสมปัญหามานาน พี่น้องในชนบทที่ยากจนมาอย่างต่อเนื่อง “ถ้าใครมีญาติที่เป็นชาวนาให้ฟ้องรัฐ 200 ล้านเพราะโทษฐานทำให้โคตรเหง้าเขายากจน ถึงแม้ว่าแพ้แน่ๆ แต่ทำให้เห็นว่ารัฐจำเป็นต้องคิดเรื่องนี้ให้ชัดขึ้น”

ภาคการเกษตรยังคงเป็นหลักพิงในยามวิกฤติ

ศ.ดร.อรรถจักร ได้ให้มุมมองหลังวิกฤติโควิดว่าฐานอุตสาหกรรมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยฐานการผลิตอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปทุกแห่ง เช่น จีนอาจจะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามมากขึ้น  ญี่ปุ่นอาจย้ายฐานอุตสาหกรรมมาไทย ดังนั้นแรงงานที่กลับไปวันนี้แล้วหวังว่าจะไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระบบอาจเหลือเพียง 50% เท่านั้น สิ่งที่เป็นความหวังที่ทำให้ยังคงเดินไปข้างหน้าได้ท้ายสุดก็อยู่ที่ภาคการเกษตร แต่รัฐจำเป็นต้องมีความเข้าใจภาคการเกษตรมากกว่าโดยเฉพาะภาคเกษตรที่หลากหลายกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเชื่อมโยงกับงานศึกษาของ รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ที่จัดกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 4 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มของเกษตรกรรายเล็กและรายกลางที่มีนวัตกรรมที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพบนฐานการสร้างนวัตกรรมควบคู่กับการผลิต ซึ่ง ศ.ดร.อรรถจักร ค่อนข้างเชื่อว่าเกษตรกรรายเล็กและรายกลางที่มีนวัตกรรมมีสัดส่วนค่อนข้างมาก ซึ่งอาจมีอยู่ถึง 40% ประเด็นสำคัญคือ เราจะผลักดันเกษตรกรรมที่สร้างนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้นได้อย่างไร ที่จะเป็นสิ่งดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้กลับมาสร้างนวัตกรรม หรือจะทำอย่างไรให้เกษตรกรรายเล็กรายกลางที่มีนวัตกรรมอยู่แล้วให้ขยายความรู้ออกไป ถ้าการเสนอโครงการสี่แสนล้านคิดตรงนี้ออก ก็จะเปลี่ยนโครงการทั้งหมดเป็นอีกแบบหนึ่ง

การขยับเรื่องการตลาดและทรัพยากรการผลิต

เรื่องการตลาดนั้นสำคัญโดยเฉพาะตลาดชุมชน แต่ตรงข้ามในกรอบการเสนอโครงการสี่แสนล้านบาทที่ศ.ดร.อรรถจักร ได้ศึกษาโครงการเบื้องต้น 9 โครงการ ใน 9 จังหวัด พบว่าไม่มีโครงการไหนเลยที่พูดถึงตลาดชุมชน ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการเกี่ยวกับตลาด OTOP และตลาดท่องเที่ยว การสร้างตลาดสำคัญอย่างไร? คำตอบคือ การสร้างตลาดนั้นเป็นกระบวนการขับที่ทำให้เกิดความสมดุลในภาคการผลิตและความต้องการผลผลิตในระดับพื้นที่ ซึ่งกระบวนการนี้จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือการเชื่อมด้านการผลิตที่หลากหลาย นอกจากด้านการตลาดแล้วการเข้าถึงทรัพยากรการผลิตก็สำคัญ เช่น การเสนอนโยบายการจำกัดการถือครองที่ดินหรือทำอย่างไรที่ทำให้ที่ดินที่เหมาะต่อการทำการเกษตรกลับมาสู่ชาวไร่ชาวนาได้จริง ถึงแม้อาจจะเสนอไม่สำเร็จแต่ว่าในช่วงโควิดให้เสนอไปก่อนเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ

การส่งเสียงถึงปัญหาของภาคการเกษตร “เราคงต้องหวังหรือภาวนาว่าระบบราชการไทยที่ไม่เคยเข้าใจเกษตรกรและในภาคการเกษตรเลยจะสามารถได้ยินเสียงเรา และสามารถเริ่มคิดได้บ้างว่าในอนาคตของรัฐไทยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดมันไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม”

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ