โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 10 มุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อวิกฤติโควิด: ผลกระทบและการปรับตัว

“โครงการต่างๆ ของรัฐที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมว่าจะส่งเสริมเกษตรกรให้อยู่ในอาชีพได้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาเห็นเพียงแต่การจัดอีเวนต์ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาระดับโครงสร้างว่ารัฐเองจะเข้ามามีบทบาทช่วยเกษตรกรรายย่อยเพื่อผลักดันสินค้าเกษตรให้เขาอยู่ได้อย่างไร” อ้อม (ปาณิศา อุปฮาด) คนรุ่นใหม่จังหวัดของแก่น กลุ่มทำเป็นทำเกษตร ได้แสดงความคิดเห็นต่อมาตรการช่วยเหลือของรัฐในเวทีเสวนาออนไลน์ “โลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา

การตั้งรับจากวิกฤติโควิด

การตลาดและการกระจายผลผลิตทางการเกษตรก่อนสถานการณ์โควิดยังคงดำเนินไปได้ดี ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร โรงแรม และผู้บริโภคทั่วไป แต่พอถึงช่วงโควิดร้านที่กระจายวัตถุดิบเริ่มได้รับผลกระทบจนถึงขั้นปิดกิจการ เนื่องจากผู้บริโภคหลักกลุ่มโรงแรม และร้านอาหารหยุดการรับซื้อวัตถุดิบทำให้รายได้ในช่วงที่ผ่านมาเป็นศูนย์ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก ถึงเรื่องการวางแผนว่าจะวางแผนปรับตัวอย่างไร หรือยังจะอยู่ได้ไหมกับการทำเกษตรเพราะการปรับตัวให้เข้ากับสภาพวิกฤติปัจจุบันนั้นยังคงเป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับเกษตรกรหลายคนที่เผชิญกับอุปสรรคโควิด สำหรับการปรับตัวของอ้อมนั้น เลือกที่จะทำเกี่ยวกับการออกแบบสวนให้กับคนที่อยากกลับมาทำเกษตร และเป็นที่ปรึกษาในการทำการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวได้ระดับหนึ่ง

มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

หากมองเรื่องการปรับโครงสร้างเกษตรส่วนใหญ่ พบว่ามักติดกับการตลาดในการค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นหลัก ที่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่สามารถเชื่อมโยงระบบการค้าแบบนั้นได้อย่างจำกัด หรือ“โครงการของภาครัฐที่จะมาสนับสนุนเกษตรกรอย่างจริงจังก็ยังไม่เห็นที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการของประชารัฐที่จัดอีเวนต์ให้กับเกษตรกร หรือโครงการต่างๆ ของรัฐที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมว่าส่งเสริมเกษตรกรให้อยู่ในอาชีพได้อย่างยั่งยืนอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเห็นเพียงแต่การจัดอีเวนต์ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาระดับโครงสร้างว่ารัฐเองจะเข้ามามีบทบาทช่วยเกษตรกรรายย่อยเพื่อผลักดันสินค้าเกษตรให้เขาอยู่ได้อย่างไร” เพราะระบบโลจิสติกของเกษตรกรรายย่อยยังคงจำกัดอยู่ ดังเช่นกรณีของอ้อมที่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากโครงการของรัฐในการเข้ามาช่วยผลักดันให้เข้าสู่วิสาหกิจได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่มองว่าการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยยังไปไม่ถึงไหน แต่ยังอยู่แค่ในระดับที่ดูแลครอบครัวได้ ปลูกเพื่อบริโภคและมีรายได้เสริมเพื่อให้สามารถอยู่ได้ในบริบทพื้นที่เท่านั้น

คนรุ่นใหม่กลับบ้านมากขึ้น?

อ้อม ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่เพิ่มเติมว่า คนรุ่นใหม่ทยอยกลับบ้านในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งแต่เดิมในพื้นที่ส่วนใหญ่มีเพียงผู้สูงอายุกับเด็กเท่านั้น เพราะคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ทำงานนอกชุมชน/ต่างจังหวัด แต่ช่วงโควิดเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่กลับบ้านโดยมีหลากหลายเหตุผล บางส่วนมองเห็นว่าการกลับมาพึ่งพิงฐานของตนเองก่อนที่จะกลับไปทำงานในเมือง และหลายรายต้องการกลับมาเป็นเกษตรกรทั้งการทำเกษตรทั่วไปหรือทำแบบอินทรีย์ เพราะผลจากโควิดทำให้เกิดความสั่นคลอนในอาชีพซึ่งสัมพันธ์กับรายได้ในการครองชีพในหลายมิติ ซึ่งแน่นอนว่าหากรัฐไม่ได้มีการส่งเสริมภาคการเกษตรอย่างจริงจังไม่ว่าเรื่องที่ดิน การแก้ไขปัญหาหนี้สินเดิมอย่างเป็นรูปธรรม คนรุ่นใหม่ที่กลับมาเริ่มต้นหรือคิดจะกลับมาประกอบอาชีพทางการเกษตรคงมีอย่างจำกัดด้วยต้นทุนไม่เหมือนกันที่จะทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่นั้นสามารถอยู่ได้จริงในบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ