พอถึงเวลาต้องเลือกตัวแทนชาวนาจากพื้นที่ภาคกลางในเครือข่ายหนึ่งคน เพื่อพูดคุย ตั้งคำถามแบบล้วงลึกเกี่ยวกับมุมมอง ความคิดต่อการทำนา การปลูก ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) มาบอกเล่าในงานเทศกาลข้าว 2567 ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 นี้ เราก็ตัดสินใจเลือก โอเล่-กนกพร ดิษฐกระจันทร์ แบบไม่ต้องคิดมาก เพราะเคยมีโอกาสลองถามโอเล่ก่อนหน้านี้ว่า “ทำไมถึงยังทำนา ยังปลูกข้าว เพราะถ้าให้คิดถึงโอเล่ เราก็จะคิดถึงโอเล่ในบทบาทคนขายผลผลิต ขายผัก ขายอาหาร แกนนำในหลายตลาดเขียวของเมือง หรือไปส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยมากกว่า”
โอเล่ตอบมาสั้น ๆ ว่า “เพราะข้าวคือต้นทางของอาหารอีกหลายอย่าง ถ้าให้ความสำคัญกับเรื่องข้าว นั่นหมายถึง เราก็ได้ให้ความสำคัญกับอาหาร และการกินอีกมากมายของผู้คน”
พอได้ฟังคำตอบ ก็ตัดสินใจได้ว่าโอเล่น่าจะมีความรัก(ษ์) ซ่อนอยู่มากทีเดียว และยิ่งพอนึกย้อนไปถึงเมื่องานเทศกาลข้าวใหม่ปี 2565 เรามีโอกาสไปช่วยโอเล่ ‘หาบข้าวขึ้นลาน’ ตอนนั้นก็รู้สึกแปลกใจมาก เพราะทุกกระบวนการใช้มือและแรงงานคนทั้งหมด ในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่ามีเจ้าแม่แห่งนวัตกรรม และเทคโนโลยีชาวบ้านอย่างโอเล่อยู่ ทำไมถึงมาหอบข้าว หาบข้าวโดยใช้มือทั้งหมด?
ในขณะที่สอนเราหอบข้าว โอเล่ก็ตอบมา ว่า “เพราะชาวนาเทียบได้กับช่างฝีมือ ในกลุ่มญาติพี่น้อง และเครือข่ายนี้ ยังคงทำนาด้วยมือเป็นหลัก การเกี่ยวด้วยมือทำให้เมล็ดข้าวเสียหายน้อยกว่าเกี่ยวด้วยเครื่องมาก การทำนาด้วยมือจึงเป็นเหมือนการแสดงความรัก ความเคารพของพวกเราที่มีต่อข้าว เคารพต่อแม่โพสพของชาวนา”
และงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567 นี้ โอเล่ กนกพร ดิษฐกระจันทร์ ประธานกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ได้กล่าวถึงความรักที่ถูกส่งผ่านข้าวในหลายรูปแบบ
ความรักในอาชีพชาวนาของโอเล่ ค่อย ๆ บ่มเพาะมาตั้งแต่วัยเยาว์ อายุประมาณ 5 ขวบ ก็ช่วยพ่อ เกี่ยวข้าวแล้ว แม้ช่วงหนึ่งจะออกจากบ้านไปทำงานโรงงาน แต่ก็ไม่เคยละทิ้ง หรือตัดขาดจาก การทำนาเลย จนเมื่อปี 2549 หลังพ่อเสีย ก็มารับสืบทอดอาชีพเป็นชาวนาเต็มตัว และหักดิบการทำนาของคนรุ่นพ่อ โดยการเลิกใช้ปุ๋ยยา สารเคมีทุกชนิด เชื่อในวิถีธรรมชาติ ที่จะค่อยๆ ฟื้นฟูระบบนิเวศที่ สูญสลายไปให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นภาพในอดีต แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจว่าจะไม่มีวัน เลิกทำอาชีพนี้ ก็คือ ต้องการจะรักษาพื้นที่อาหาร และความมั่นคงนี้ไว้ให้ลูกหลานที่อยู่และที่ จะกลับมา รู้ว่าการทำนาในระบบ อินทรีย์ จะทำให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืน
นอกจากจะปลูกข้าวสำหรับไว้กินเองเป็นหลัก และปลูกขายแบบเป็นเมล็ดข้าวแล้ว จุดเด่นของเกษตรกรกลุ่มนี้ คือการนำข้าวมาแปรรูปในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นขนมจีนแป้งสด แป้งข้าวสำหรับนำไปทำขนมเบเกอรี่และขนมไทย โจ๊ก และที่ไม่ค่อยมีใครนิยมทำกัน ก็คือ ข้าวระยะน้ำนม ที่เหมาะสำหรับคนป่วย เนื่องจากมีสารอาหารอยู่ครบ
“เราไม่ได้กินแค่ข้าวที่อยู่ในจาน เรากินขนมด้วย เราเอาข้าวไปทำขนม เอาไปโม่ทำแป้ง เพื่อ ทำขนมเบื้อง ลอดช่อง เปียกปูน อย่างน้อยก็ขนมไทย ข้าวเป็นทั้งของหวานและของคาว ได้หมดเลย และเดี๋ยวนี้คนกินขนมปังแพ้กลูเต็น เขาก็ใช้แป้งที่ทำมาจากข้าวที่พวกเราทำ เอาไปทำขนมปัง โดนัท คุกกี้ แทนแป้งสาลี”
นอกจากความอิ่มท้อง ข้าวยังให้คุณค่าทางโภชนาการ พี่โอเล่แนะนำว่า ถ้าอยากได้ประโยชน์มากกว่าแป้ง และน้ำตาล เราควรหันมากินข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ
“ข้าวที่พวกเราตั้งใจทำ มันเป็นข้าวที่คุณกินแล้ว คุณสามารถเปลี่ยนตัวเอง ไม่ต้องไปหา ยาปฏิชีวนะมากินแทนข้าว เอาง่ายๆ คือ คุณกินข้าวเป็นยา อย่างข้าวหอมนิล เป็นข้าว ที่มีวิตามินอีสูงมาก มันเหมาะกับการทำเครื่องประทินผิว เครื่องสำอาง เพราะฉะนั้น คนที่กินข้าวกล้องหอมนิล คุณก็ได้วิตามินอีไปบำรุงผิวพรรณของคุณเอง การกิน คือ การบำรุงจากข้างใน มันไม่ใช่บำรุงแค่ข้างนอก ไม่ใช่สวยจากข้างนอก แต่คุณสวยจากข้างใน แล้วคุณก็ไปทาข้างนอกเพิ่ม”
และในสภาพภูมิอากาศที่รวนเรเช่นนี้ การเตรียมพร้อมและปรับตัวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับโอเล่ เธอเอ่ยถึงวิธีรับมือของตนเองว่า สิ่งสำคัญคือการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ นอกจากช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยให้ฝ่าทุกวิกฤติไปได้
“สภาพแวดล้อมที่มันเปลี่ยนไป ทั้งร้อนทั้งฝน มีผลกระทบต่อข้าวแน่นอน การติดดอก การผสมเกสร แต่เป็นความโชคดีที่เราเก็บพันธุ์เอง เป็นความโชคดีที่เราเปลี่ยนตัวเองมานาน มีผลกระทบอะไรมา เราก็รับมือได้ อย่างน้ำมาไม่ตรงเวลา เราก็ใช้วิธีตัดตอข้าว ปลูกครั้งเดียว แล้วให้มันแตกมาจากกอเดิม ช่วงอายุข้าวหายไป 30 วัน ทันน้ำที่อาจจะหลากมาพอดี”
โอเล่กล่าวทิ้งท้ายถึงกิจกรรมในงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567 นี้ว่า ”เราไม่ชวนมาชิมข้าวแต่เราชวนมากินข้าวกับอาหารอะไร แล้วคุณคิดว่ามันว้าวมากที่สุด”
พบกับโอเล่ พร้อมความอร่อยของข้าว อาหาร และผลผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ แบบรู้ที่มาของ
เครือข่ายนี้ได้ ในงานเทศกาลข้าวใหม่ 2567: ‘ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์)
วันที่ 23 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 – 16.30 น.
ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ไทรม้า นนทบุรี
ขอบคุณผู้สัมภาษณ์ ใหม่ นันทนิตย์ อนุศาสนะนันทน์ เจ้าของเพจ ว่าง space & anything พื้นที่เล็กๆ ที่ชวนมา
ว่ า ง เว้นจากความวุ่นวาย