โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 32 พิพัฒน์ มงคลเกิด : มูลนิธิข้าวขวัญกับการฟื้นฟูพันธุกรรมไม้ผล

       หากเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เป็นแหล่งอบรมให้ความรู้เรื่องข้าว ไม่ว่าการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว การผสมพันธุ์ข้าว การทำนาลดต้นทุนโดยไม่ใช้สารเคมี รวมถึงการฟื้นฟูความหลากหลายสายพันธุ์ข้าว ต้องนึกถึงมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมไปถึงพี่เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ได้ขับเคลื่อนและผลักดันองค์ความรู้ด้านเทคนิคการทำนา และระบบเกษตรกรรมยั่งยืนมานานกว่า 30 ปี รูปธรรมที่เกิดขึ้นได้ขยายกระจายไปยังกลุ่มเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศ

       นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญด้านข้าวเป็นพิเศษแล้ว ทางด้านพืชพันธุ์ท้องถิ่นไม่ว่า ไม้ผลและพืชไร่ ก็ได้ถูกรวบรวมและฟื้นฟู ด้วยความตระหนักและให้ความสำคัญของความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น ที่ต้องมีคงอยู่ต่อไปชั่วลูกหลานนั่นเอง สำหรับ พิพัฒน์ มงคลเกิด หลังจากได้เข้าร่วมอบรมจากมูลนิธิในเรื่องการทำนา จึงได้สานต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูไม้ผลร่วมกับมูลนิธิข้าวขวัญ ด้วยความรักและสนใจพืชพันธุ์ไม้ผลอยู่แล้ว “ที่ผ่านมาในการปลูกไม้ผลของมูลนิธิ เราใช้ทั้งกิ่งและเมล็ดพันธุ์พืชที่พัฒนามาจากที่อื่นมาปลูก แต่หากต้องการฟื้นฟูและพัฒนาพันธุ์ไม้ผลอย่างจริงจัง เราต้องจัดการในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการ” พิพัฒน์ย้อนให้เห็นความคิดของพี่เดชา ที่ทำให้ตนหันมาเรียนรู้และพัฒนาพันธุ์ไม้ผลอย่างจริงจัง

ความสุขจากสิ่งที่เรียนรู้

       “ความหลากหลายของสายพันธุ์พืชมีมากจริงๆ พอเข้าไปเรียนรู้และพัฒนาสายพันธุ์ก็พบตัวตน ที่มีความสุขกับสิ่งที่ทำและได้เรียนรู้” พิพัฒน์กล่าว และได้สรุปให้เห็นขั้นตอนในการพัฒนาสายพันธุ์พืช ไว้ดังนี้

  • รวบรวมสายพันธุ์ที่ต้องการ ขั้นตอนการรวบรวมสายพันธุ์ทำให้พิพัฒน์มีความสุขและสนุกแล้ว ตัวอย่างเช่น ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ได้ไปรวบรวมพันธุ์มะม่วงในจังหวัดพิจิตรที่มีการปลูกมะม่วงเป็นแสนไร่ ได้ไปเจอมะม่วงที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี เช่น น้ำดอกไม้สีทอง มหาชนก อกร่อง นอกจากนั้นหากไปเจอมะม่วงที่มีลักษณะดี รสชาติดี กลิ่นหอม ก็จะเก็บทั้งที่เป็นกิ่ง เป็นเมล็ดรวบรวมมาได้เป็นพันต้นพิพัฒน์ใช้หลักการนี้กับไม้ผลอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเจอต้นมะนาวที่ให้ความหอม เปลือกบาง รสเปรี้ยวก็รวบรวมมาปลูก และปลูกจำนวนมากไว้ หากต้นไหนเหมาะสมกับพื้นที่ก็จะเจริญเติบโตดี
  • คัดเลือกต้นที่เห็นว่าเหมาะสม หลังจากได้มีปลูกไปทั้งหลากหลายชนิดและต้นแล้ว ก็จะดูแลการเจริญเติบโต ความทนทาน การให้ผลและรสชาติของผล แล้วถึงจะคัดเลือกต้นนั้นๆ ไว้เพื่อปลูกขยายต่อไป ซึ่งสภาพนิเวศจะเป็นตัวกำหนดความเหมาะสม เพราะนิเวศที่ต่างจะมีธาตุอาหารที่ต่างทำให้รสชาติไม้ผลที่ออกมาต่างกันไปตามนิเวศนั้นๆ หรือต้องใช้เทคนิคในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นพืช พิพัฒน์ได้ยกตัวอย่าง ประสบการณ์การใช้กิ่งมะนาวเสียบยอดบนตอมะขวิด ด้วยจังหวัดอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเกิด ช่วงน้ำหลากน้ำจะท่วมขังนานไม่สามารถปลูกไม้ผลได้ ถ้าจะปลูกมะนาวให้ได้กินต้องใช้วิธีการเสียบยอดโดยเอาต้นมะขวิดเป็นตอ เพราะมะขวิดเป็นพืชที่ทนน้ำท่วม ต้นสูงอายุยืน และบ้านเรือนส่วนใหญ่ มีใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้าน การเอามะนาวเสียบยอดจะเลือกกิ่งที่สูงให้ตรงหน้าต่าง เพื่อเวลาน้ำท่วมสามารถเก็บมะนาวกินได้ ซึ่งสามารถใช้กิ่งมะนาวหลายสายพันธุ์เสียบบนตอมะขวิด ข้อสำคัญต้องลิดใบมะขวิดออกให้หมดเพื่อจะได้มะนาวที่รสชาติดีไม่เพี้ยน

       ประสบการณ์ที่ได้ไปมาและมีความสุข ก็คือ ราวปี 2561 ได้ไปหมู่บ้านตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีทางตอนใต้ของประเทศพม่า ไปเห็นทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ถูกปลูกร่วมกับต้นหมาก จากการสอบถามชาวบ้านที่นั่นความหลากหลายของทุเรียนเกิดจากการผสมพันธุ์ของดอกทุเรียนกันเองตามธรรมชาติ พอต้นโตมารสชาติ สีของเนื้อก็มีลักษณะที่ต่างไป

       เหล่านี้ เป็นความหลากหลายของพันธุ์พืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าย้อนไปดูความหลากหลายของพันธุ์พืชในตลาดแล้วจะไม่มีสิ่งเหล่านี้หลงเหลืออยู่ ในตลาดไม่เหลือความหลากหลายสายพันธุ์ อย่างทุเรียนจะมีหลักๆ ไม่กี่ชนิด หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ยังดีที่ปัจจุบันเริ่มมีทุเรียนให้กินหลายสายพันธุ์มากขึ้น ไม่ว่าพวงมณี กระดุม หรือหลงลับแล แต่ราคาก็สูงมาก ในขณะที่ประเทศพม่านั้น ด้วยปริมาณของทุเรียนที่มีเยอะจะถูกปล่อยให้ร่วงหล่นมา ทุกคนก็สามารถเก็บมากินได้ หรือริมสองข้างทางถนนของเมืองทวาย เมืองมะริดจะมีทุเรียนวางขายหลากหลายสายพันธุ์

แนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนา

       ถึงแม้ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ความหลากหลาย และมีหลายองค์กรที่หันมาจัดการในเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่อยากเห็นต่อไปก็คือ การยกระดับและพัฒนาต่อยอดให้สังคมได้เห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความหลากหลายของพันธุ์พืช ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือเกื้อกูลกันของหลายฝ่าย และต้องมีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมทั้งในและระหว่างประเทศ รวมทั้งการสื่อสารให้กับคนในสังคม

อ้างอิง ข้อมูลจากเวทีเสวนา “พันธุกรรมไม้ผล : นวัตกรรมของการอนุรักษ์และพัฒนาบนฐานภูมินิเวศและความยั่งยืน วันที่ 25 มิถุนายน 2563 มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านปี 2563

บทความแนะนำ