โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

       การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการทำนาโดยเฉพาะนาสวน ที่ปัจจุบันชาวนาไม่สามารถกำหนดวันปลูกข้าวเพื่อนำไปปักดำเหมือนในอดีตได้ รวมถึงลักษณะพื้นที่การทำนาที่ยังต้องอาศัยน้ำฝนถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต ภาวะฝนแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาสวนลดลงเหลือเพียง 300 กิโลกรัมต่อไร่ และจากที่ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวส่งออกมากสุดในเอเชีย ถึงวันนี้การส่งออกต้องถดถอยลง

       ด้วยภาวการณ์ดังกล่าว ทางกรมการข้าวจึงได้คิดหาแนวทาง การนำพันธุกรรมข้าวทนแล้งมาใช้ประโยชน์มากขึ้น จึงได้ศึกษากลไกความทนแล้ง หรือ abiotic stress ของข้าว และพบว่าข้าวไร่มีคุณสมบัติในการทนแล้ง เนื่องจากมีระบบรากลงลึกไปถึงน้ำและอาหารได้มาก ซึ่งสามารถกอบกู้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นได้

ข้าวไร่ กอบกู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

       อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำข้าวไร่ถูกมองว่าเป็นระบบการทำไร่เลื่อนลอยและเป็นตัวการทำลายป่าไม้ ข้าวไร่จึงด้อยค่าและลดการผลิตลงไป ในขณะเกิดการส่งเสริมการทำเกษตรแบบสมัยใหม่มาแทน ดังนั้น การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวจึงมีแนวทางเพื่อให้ผลผลิตสูง แตกกอดี และข้าวนาสวน หรือข้าวที่มีน้ำท่วมขัง หรือข้าวที่อาศัยระบบชลประทาน แม้กระทั่งข้าวที่อาศัยน้ำฝน จึงถูกพัฒนาและปรับปรุงขึ้นหลากหลายสายพันธุ์เพื่อตอบสนองปริมาณผลผลิตที่สูง แต่ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์เหล่านี้ เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นฝนแล้ง หรือน้ำท่วม ต้นข้าวไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ผลผลิตลดปริมาณลงหรือไม่ได้ผลผลิตเลย

       ดังนั้น “ข้าวไร่” จึงถูกกลับนำมาให้ความสำคัญในแง่การใช้ลักษณะพันธุกรรมที่ทนแล้ง เนื่องจากระบบรากลงลึกไปถึงน้ำและอาหารในดินได้มาก ปรับตัวในสภาพท้องถิ่นได้ดี มีความแข็งแรงตามธรรมชาติ ตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนต่ำหรือไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีซึ่งเหมาะสมกับการจัดการธาตุอาหารที่สภาพดินมีอินทรีย์วัตถุและปริมาณธาตุอาหารต่ำ จึงใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ “ข้าวไร่” จึงสามารถผลิตได้ในระบบเกษตรอินทรีย์ หรือการทำเกษตรสีเขียว หรือ green agriculture ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากกระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ปกป้องส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมสุขภาพของชุมชน รวมทั้งตอบสนองระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างความยั่งยืนได้ ที่สำคัญ ข้าวไร่เป็นระบบการผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเป็นระบบการผลิตที่ไม่ต้องอาศัยน้ำท่วมขัง อันทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งสามารถนำมากอบกู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้

ข้าวไร่ กับแนวทางการยกระดับ

       นอกจากการนำพันธุกรรมข้าวไร่พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์เพื่อกอบกู้วิกฤตแล้ว มีความจำเป็นต้องขบคิดถึงแนวทางการใช้ประโยชน์และยกระดับพันธุกรรมข้าวไร่นั้นอย่างไร ตัวอย่างเช่น

  • ข้าวไร่กับการอนุรักษ์พันธุกรรม โดยผ่านการนำมาปลูกในแปลงทั้งเพื่อการบริโภคหรือการขาย ซึ่งสามารถปลูกในแปลงชนิดเดียว หรือปลูกแซมสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนมะพร้าว หรือปลูกหลังการรื้อตออ้อยในภาคอีสาน ทั้งนี้ต้องมีการจัดการและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
  • ข้าวไร่หลายพันธุ์มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำมายกระดับได้ เช่น ในภาคใต้มีข้าวเหนียวดำหมอ เหนียวดำช่อไม้ไผ่ หรือข้าวเหนียวดำด่างที่กรมการข้าวเพิ่งรับรองไป ซึ่งมีคุณสมบัติทนต่อร่มเงา สามารถปลูกแซมในแปลงปาล์มน้ำมันได้ หรือพันธุ์เบายอดม่วง ซึ่งจังหวัดตรังได้ประกาศเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัด รวมถึงพันธุ์หอมหัวบอน และอื่นๆ รวมทั้งข้าวไร่ที่ได้ประกาศเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว เช่น พันธุ์ดอกข่า 50 เป็นต้น
  • ข้าวไร่มีคุณค่าในการขายผลผลิตในมิติหลากหลาย เช่น การผลิตในระบบเกษตรสีเขียว ระบบเกษตรยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์ มีคุณค่าในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือการขายเป็นสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ ข้าวดอกข่า 50 หรือการขายผ่านเรื่องราวภูมิปัญญาและเทคนิคเฉพาะต่างๆ รวมถึงการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ประเพณี งานบุญต่างๆ

พันธุ์ข้าวทนแล้งในประเทศไทย

       นอกจากข้าวไร่ที่มีลักษณะพันธุกรรมทนแล้งได้ดีแล้ว พันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ของประเทศไทย ที่ได้รับรองจากกรมการข้าวมากกว่า 200 สายพันธุ์นั้น ปรากฏว่ากว่า 100 สายพันธุ์เป็นข้าวพื้นเมือง และมีข้าวนาสวนประมาณ 50 สายพันธุ์ที่เป็นข้าวทนแล้ง ตัวอย่างเช่น กข.15 และมะลิ 105 หากกระทบแล้งก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์จะมีคุณภาพดีขึ้น ดังนั้น ถ้ามีการประยุกต์ใช้ลักษณะพันธุกรรมนาสวนที่มีลักษณะทนแล้งมาร่วมกับข้าวไร่จะเป็นการสร้างพันธุ์ข้าวในมิติใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกในการกอบกู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกเช่นกัน

       ตัวอย่างเช่น ข้าวเหนียวพันธุ์สกลนคร ที่เกิดจากการนำข้าวไร่พันธุ์หอมอ้มซึ่งมีลักษณะทนแล้ง ระบบรากลงลึก มีความหอม ผสมกับข้าวนาสวนพันธุ์ กข. 10 ที่มีผลผลิตสูง ดังนั้นข้าวเหนียวพันธุ์สกลนครจึงมีลักษณะเด่นคือ ทรงต้นดี ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งปี คุณภาพเมล็ดดี มีความหอม ปรับตัวได้ดีในสภาพสวนและไร่ หรือเป็นข้าวนาสวนที่นำมาปลูกในสภาพไร่ นี่เป็นการรวมลักษณะดีจากข้าวไร่และข้าวนาสวน หรือการนำข้าวไร่พันธุ์ดอกพะยอมมาผสมกับข้าวนาสวนที่มีความสามารถในการแข่งขันกับวัชพืชได้ เป็นต้น

       ดังนั้น แนวทางของโครงการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว จึงต้องทำให้ข้าวมีลักษณะสายพันธุ์สะเทินน้ำสะเทินบกมากขึ้นเพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู้กับสภาวะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีรวมทั้งหวังว่า พันธุ์ข้าวรับรองใหม่ๆ ของกรมการข้าวจะมีพันธุกรรมข้าวไร่ เป็นส่วนสำคัญในการคัดพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยฝ่าฟันวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น

บทความแนะนำ