จากสถานการณ์การผลิตของเกษตรกรที่ดำเนินการผลิตภายใต้ระบบเศรษฐกิจใหญ่ ได้ชักนำให้พี่น้องชาวนาเข้าสู่การผลิตนั้นด้วย ชาวนายุคใหม่ เปลี่ยนการปลูกข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ มา เหลือเพียงพันธุ์ที่มีการส่งเสริมจากภาครัฐและกำกับด้วยระบบตลาด นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวนาต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก ปุ๋ยเคมี สารเคมี ถูกนำมาอาบรดพระแม่ธรณี ด้วยเหตุผลว่าบรรดาสัตว์และพืชอื่นไม่มีประโยชน์ ต้องกำจัด ทัศนคติต่อการผืนนาเป็นเพียงแหล่งผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งเมล็ดข้าว ในความหมายที่เป็นสินค้า กระทั่งชาวนาสูญเสียการพึ่งพาตนเอง
ภายใต้วิกฤติที่เกิดขึ้นชาวนาในหลายพื้นที่ของการดำเนินงานในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน และที่ตำบลสายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการเรียนรู้ ความตระหนักชัดว่า ทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลายกำลังเสื่อมโทรม และสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว อันมีสาเหตุหลักมาจาก การมุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด โดยเฉพาะยิ่งผลจากการส่งเสริมให้ใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์สายพันธุ์ใหม่จากบรรษัทข้ามชาติ และรัฐบาล พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่หลากหลาย คือ มรดกที่ชุมชนท้องถิ่นและเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ รุ่นแล้วรุ่นเล่าได้อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์สืบทอดร่วมกันมานานนับพันนับหมื่นปีบนผืนแผ่นดิน การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมโดยเสรี ระหว่างเกษตรกร และการเก็บรักษาพันธุ์เพื่อนำไปเพาะปลูกต่อ คือมูลเหตุแห่งความงอกงามและความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งเป็นหลักประกันสำหรับความมั่นคงทางอาหารและความอยู่รอดของเกษตรกร ชาวนาได้ปรับตัว เรียนรู้และหันกลับมาศึกษาคุณค่าที่มีอยู่ในท้องถิ่น คุณค่าของข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ ด้วยกระบวนปรับประยุกต์ใช้ความรู้จากภายนอก มาผสมผสานกับความรู้ชาวบ้าน
เกษตรกรต้นแบบในตำบลสายนาวัง ได้มีการหารือถึงความจำเป็นในการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เพื่อค้นหาเกษตรกรมีแนวโน้มในการซื้อพันธุ์ข้าวมากขึ้น ความรู้ในการคัดพันธ์ข้าวเริ่มหายไป ภายใต้การผลิตแบบใหม่ การฟื้นฟูพันธ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่หายไปจากพื้นที่ จากการวิเคราะห์สู่การทำแปลงทดลองเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน โดยเป้าหมายอยู่ที่การศึกษาข้าวพื้นบ้านที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด ความเหมาะสมโดยมีตัวชี้วัดจากความเหมาะกับสภาพพื้นที่ ความต้านทานโรคภัย การแตกกอ การให้ผลผลิตมาก และรสชาต กระบวนการเริ่มต้นจากการรวบรวมจากพันธุ์พื้นบ้านในพื้นที่กาฬสินธุ์ในพื้นที่ตำบลสายนาวัง จาก อ.กุฉินารายณ์ และภาคอีสาน การพูดคุยถึงคุณสมบัติเฉพาะ ข้อดีของแต่ละพันธ์ นำมาสู่การคัดเลือกจำนวน ๑๘ สายพันธุ์ จากนั้นนำมาคัดเลือกรวงข้าวแต่ละสายพันธุ์ มาเพาะกล้า และดำนาในแปลงทดลอง พัฒนาพันธุ์ โดยการสนับสนุนของอบต.สายนาวัง ได้เลือกใช้พื้นที่นาของนางพิณศิลป์ พลขยัน ในเนื้อที่ ๓ งาน ติดถนนทางเข้าหมู่บ้าน เป็นห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
“ เห็นความวิบัติของเกษตรกรไทย ที่สูญเสียพันธุ์พื้นบ้านของตัวเอง กระแสหลักบอกว่าต้องใช้พันธุ์ของบริษัท ต้องการกระตุ้นให้ชาวบ้านเรียนรู้ร่วมกัน จากประสบการณ์จริง ให้เห็นข้อเด่นของพันธุ์พื้นบ้าน และประโยชน์ของพันธุกรรม ” นายบำรุง คะโยธา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง ผู้นำคนสำคัญของขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวถึงที่มาของการสนับสนุนให้พี่น้องได้ทำกิจกรรมร่วมกันในวันนี้
วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการถอนกล้า พันธุ์ข้าวต่างๆ เช่น พันธุ์เล้าแตก แสนสบาย มะลิแดง มะลิดำ ญี่ปุ่น มะลิดั้งเดิม อีขาวใหญ่ และพันธุ์อื่นๆ รวม ๑๘ สายพันธุ์ จากแปลงเพาะกล้า ที่ผ่านการเตรียมการจาก ๒๐ วันที่แล้ว การถอนกล้าทำให้ได้พูดคุยกันถึงความยากง่ายในการถอนกล้าแต่ละพันธุ์ บางพันธุ์ต้นอ่อน ถอนยาก กล้าขาดง่าย เช่น มะลิดั้งเดิม ขาวใหญ่ มะละแดง ข้าวก่ำ บางชนิดพันธุ์ถอนกล้าง่าย เช่น ข้าวกอเดียว แสนสบาย นางนวล เป็นความรู้ที่เกิดระหว่างการปฏิบัติการ่วมกัน