ตามรอยฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ บุญกุ้มข้าวใหญ่ บุญแห่งความหลากหลายทางพันธุกรรม จังหวัดกาฬสินธุ์
อากาศรอบตัวเริ่มอ้าวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ฉันต้องหยุดการทำภารกิจตรงหน้าลง จากที่คิดว่าแค่จะออกมาเพื่อรับลมและมองอะไรที่เป็นสีเขียวบ้าง กลายเป็นการเดินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสายฝนเริ่มโปรยปรายลงมา แทนที่จะเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นตามระดับความแรงของน้ำที่มากระทบผิวกาย ฉันกลับเลือกที่จะผ่อนมันให้ช้าลง และช้าลงเรื่อยๆ ท่ามกลางการจับจ้องของหลายสายตาที่เปลี่ยนจากการเดินมาเป็นวิ่งหรือยืนอยู่ ในมุมซึ่งมีที่กำบัง บางทีอาจจะเพราะความโหยหาในบางสิ่งบางอย่างที่ได้หลงลืมไปนานแล้ว นั่นก็คือ การเล่นน้ำฝนในวัยเด็ก
วัยเด็กเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่มีหลายสิ่งหลายอย่างน่าจดจำ สำหรับคนที่เติบโตในท้องทุ่งกว้างแล้ว ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เช่นนี้มีกิจกรรมที่สนุกสนานหลากหลายให้ทำ เพราะนอกจากจะมีล้อมฟางให้ได้กระโดดเล่นหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว เดือนสามเช่นนี้ยังมีงานบุญ ตามฮีตสิบสองตามความเชื่อของคนอีสาน (ฮีตสิบสอง คือ จารีต ประเพณีที่ปฏิบัติกันในสิบสองเดือนหรือจะเรียกว่าบุญก็ได้ ได้แก่ บุญข้าวกรรม บุญคูนลาน หรือบุญกุ้มข้าว บุญข้าวจี่ บุญพระเวส บุญสรงน้ำ บุญบั้งไฟ บุญซำฮะ บุญเข้าพรรษา บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญออกพรรษา บุญกฐิน )
บุญกุ้มข้าว เป็นงานบุญในเดือนสามที่จัดขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยว เป็นการนำข้าวมาโฮม(รวม)กันที่ลานกลางบ้าน เพื่อสู่ขวัญข้าวและทำบุญตักบาตรร่วมกัน ในทุกๆปีฉันจะได้เห็นคนในหมู่บ้านบ้างก็เข็ญรถบรรจุข้าวเปลือก บ้างก็แบกขึ้นบ่า นำข้าวมาเทรวมกัน หากปีไหนที่ฝนตกต้องดี ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ กองข้าวก็จะสูงใหญ่เป็นพิเศษ นอกจากนี้แล้วยังมีขบวนแห่ดอกจาน ซึ่งหลายคนได้รำฟ้อนกันอย่างสนุกสนาน ด้วยเครื่องดนตรี ยิ่งยามพลบค่ำ การแข่งเดี่ยวแคนของหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่เล่นเอาม่วนชื่นได้ไม่น้อยเลยทีเดียวหรือจะต่อด้วยรำวงอีกยกก็ปา เข้าไปดึกโข จนทำให้เด็กๆต้องโดนไล่ให้กลับบ้านไปนอนก่อนทุกที
รุ่งเช้าก็จะเป็นการบายศรีสู่ขวัญข้าว การทำบุญเลี้ยงพระ และกินอาหารร่วมกัน ก่อนที่กองข้าวจะถูกแบ่งสรรเป็นหลายๆส่วน ทั้งการแจก จ่าย หรือจำหน่ายในราคาถูกให้กับครอบครัวที่มีปัญหาในการเพาะปลูก ครอบครัวที่ไม่มีพื้นที่ทำเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนของเราเอง จะได้ไม่มีครอบครัวที่ต้องอดอยาก ไม่มีข้าวกิน และฉันก็ยังได้เห็นเราแบ่งปันอาหารร่วมกันอย่างนี้เสมอๆ