เกษตรรุ่นใหม่ในยุคชาวนารุ่นสุดท้ายใกล้สูญพันธุ์
ที่ผ่านมา คนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนทำหน้าที่สนับสนุนองค์กรชุมชน ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อพัฒนารูปแบบทางเลือกการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเกษตรยั่งยืน และสนับสนุนการพึ่งตนเองของชุมชน ขณะที่ตัวเองต้องใช้ชีวิตที่พึ่งพาภายนอกเป็นส่วนใหญ่ เช่น เงินเดือนและงบประมาณอุดหนุนที่ต้องเขียนโครงการขอสนับสนุนจากแหล่งทุน วิถีการบริโภคที่ต้องซื้อ กิน ใช้ ดื่ม ฯลฯ ซึ่งเป็นวิถีผู้บริโภคที่มิอาจผลิตเพื่อการพึ่งตนเองได้
องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายได้ทบทวนตนเองถึง “ระบบการพึ่งตนเอง” และมีหลายองค์กรที่ริเริ่มพัฒนารูปแบบการพึ่งตนเองขององค์กรขึ้นมา รวมทั้งคนทำงานหลายคนได้ปรับวิถีการดำเนินชีวิตมาสู่วิถีแห่งการพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น การซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ รวมถึงการปรับวิถีการลดการบริโภค เช่น การปลูกผักกินเอง การทำน้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู ใช้เอง เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นอยู่ จึงเป็นที่มาของหลักสูตร “ต้นกล้าเกษตรกรรมยั่งยืน” สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งได้จัดกิจกรรม 4 วันรวด คือ วันที่ 16-19 มิถุนายน 2554 ณ สวนลุงโชค วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา งานนี้มีผู้เข้าร่วมด้วยกัน 30 ชีวิต อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่คนทำงานด้านพัฒนาหลายแขนงมารวมตัวขึ้น งานฝึกอบรมครานี้จึงมีสีสันต่างออกไปจากหลักสูตรต้นกล้าเกษตรกรรมยั่งยืนที่เคยจัดมาโดยที่เน้นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่
แต่ละกระบวนการได้เชิญมืออาชีพ เช่น คุณอุบล อยู่หว้า, คุณสุภา ใยเมือง และคุณคมสัน หุตะแพทย์ เป็นต้น มาช่วยบรรยายและชวนมองเปิดเพดานความคิด ตามลำดับชุดกิจกรรม ต่อไปนี้
การวิเคราะห์เชื่อมโยงสถานการณ์ทางสังคม และระบบโลกาภิวัตน์
เน้นให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเพื่อนข้ามภาค ข้ามข่าย ได้เห็นมุมมองการเป็น เอ็นจีโอในยุคสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง และฝึกการทำกิจกรรมโลกาภิวัตน์และการวิเคราะห์สถานการณ์ ข้อมูล ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของตัวเอง และสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานกับชุมชนต่อไปได้
องค์ความรู้เชิงระบบ และเทคนิคความรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อการพึ่งตนเอง
กิจกรรมนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระบบและรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องกับระบบภูมินิเวศที่แตกต่างกัน ประเด็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบฟาร์มแบบยั่งยืน อีกทั้งเรื่องการวิเคราะห์ดิน จุลินทรีย์ในดิน โรคและแมลง พันธุกรรม และการออกแบบระบบฟาร์มที่เอื้อกับวิถี “กินได้ใช้ได้และขายได้” ส่วนในมุมของเรื่องพลังงานได้ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนในเรื่องพลังงานทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเองในครอบครัวและในไร่นา ได้แก่ พลังงานน้ำ พลังงานจากพืช พลังงานจากแสงอาทิตย์ ฯลฯ ทั้งหมดคือเรื่องราวในส่วนที่เป็นเนื้อหา แต่ความรู้ที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจำเป็นต้นลงมือปฏิบัติจริง จึงได้มีการทดลองปฏิบัติการเชิงเทคนิคเพื่อวิถีพึ่งตนเอง ได้แก่ การทำแปลงผัก การปลูกผัก การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักจุลินทรีย์ การทำอาหารและการแปรรูปอาหาร (การทำแป้งข้าวเจ้า การนำแป้งข้าวเจ้ามาทำขนม/ขนมปัง/ไอศกรีม ฯลฯ) การทำแชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำมัน ฯลฯ สำหรับใช้เอง และวิถีสุขภาพพึ่งตนเอง อาหาร ยา โยคะ สมาธิ ฯลฯ