โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 9 บทบาทของภาคเกษตรในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดย รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ

ก่อนที่จะเกิดโควิดระบาด ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาพอสมควรในช่วง 3-4 ที่ผ่านมา และในวันที่เกิดการแพร่ระบาดโควิดก็จะเห็นว่าสถานการณ์ภัยแล้งก็ยังคงดำเนินอยู่ เมื่อภัยแล้งบวกกับวิกฤติโควิดก็ส่งผลกระทบรุนแรงไปสู่เกษตรกร หากมองย้อนดูว่าวิกฤติโควิดกับวิกฤติต้มยำกุ้งแตกต่างกันอย่างไร ตอบว่าได้ว่าต่างกัน เพราะภาคการเกษตรในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งยังคงสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เมื่อคนตกงานจากภาคอุตสาหกรรมก็กลับชนบท สถานการณ์ขณะนั้นค่าเงินบาทอ่อนมากที่ส่งผลให้ภาคการส่งออกขยายไม่ได้ แต่สินค้าทางการเกษตรยังคงได้โอกาสในแง่การส่งออก และเป็นตัวผลักดันที่สำคัญที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ประกอบกับคนทำการเกษตรในช่วงนั้นอายุประมาณ 45-46 แต่สถานการณ์ปัจจุบันต่างกันมากคือ เกษตรกรอายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี โดยคาดหวังให้ที่จะเห็นลูกหลานมาทำงานภาคการเกษตรก็คงจำกัดเพราะลูกหลานไปทำงานในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นโอกาสที่ภาคการเกษตรจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนเมื่อก่อนคงจำกัด คือเมื่อก่อนลูกหลานสามารถกลับไปทำได้ทันทีเพราะเทคโนโลยียังอยู่ในบริบทที่ลูกหลานยังมีความรู้เพียงพอที่จะดำเนินงานได้ แต่วันนี้ภาคการเกษตรเปลี่ยนไปไกล

ความหลากหลายกลุ่มของเกษตรกร

หากมองถึงความหลากหลายกลุ่มของเกษตรกรสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) เกษตรกรรายเล็กซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้เปราะบาง 2) เกษตรกรรายเล็ก และรายกลางที่มีนวัตกรรม 3) เกษตรกรรายใหญ่ที่มีการผลิตแบบเดิม พืชอุตสาหกรรมเดิม และ 4) เกษตรกรรายกลางหรือเกษตรกรรายใหญ่ที่มีนวัตกรรมเข้ามาในการผลิต ถ้าแยกลักษณะกลุ่มเกษตรกรแบบนี้ จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้นแต่ละกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการเยียวยาและฟื้นฟูย่อมแตกต่างกัน หากมองเชื่อมโยงกับการฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้นภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลจะนำมาช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องมีความเข้าใจถึงความหลากหลายของกลุ่มเกษตรกรเนื่องจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหรือกลุ่มผู้เปราะบางถือเป็นกลุ่มที่ไม่มีนวัตกรรมซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ถึง 40-50% ที่มีหนี้สิน และมีการผลิตที่ไม่ทันกับระบบกลไกทางการตลาดที่จะทำให้ได้รับราคาผลผลิตที่ดีได้ ประกอบกับที่ผ่านมานอกจากจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้งแล้ว เกษตรกรยังมีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำเนื่องจากการผลิตของตลาดกลุ่มต่างๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารานั้นมีราคาที่ต่ำลง ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายได้ของเกษตรกรหดตัวมานานพอสมควร และเป็นตัวผลักดันให้ลูกหลานออกนอกภาคการเกษตรแล้วให้ส่งเงินมาช่วยทางบ้าน เชื่อว่าครัวเรือนเกษตรกรในอีสานประมาณ 60-70% อยู่ได้กับรายได้นอกภาคการเกษตรเป็นหลัก

แนวทางการเยียวยาเกษตรกรที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่ม

แม้ว่าภาคอีสานจะมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากนอกภาคการเกษตรสูงถึง 60-70% แต่ว่าในภาคอีสานมีความมั่นคงอาหารเพราะครัวเรือนเกษตรกรทางอีสานจะมียุ้งฉาง และทุกครัวเรือนทำนาแล้วเก็บข้าวไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือนก่อน ถ้าเหลือค่อยเอามาขายซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่สะท้อนให้เห็นว่าชาวนาไม่เดือดร้อนจากการขาดแคลนเรื่องอาหารเพราะว่าเกษตรกรยังคงเข้าถึงอาหารที่เพียงพออยู่ ส่วนในแง่ของกลุ่มคนเปราะบางนั้นควรมีการฟื้นฟูกลุ่มนี้ให้เกิดการช่วยตนเองให้มากขึ้นโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ควบคู่กับการผลิตเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร จากนั้นค่อยเสริมเรื่องการเพิ่มรายได้ อีกกลุ่มหนึ่งที่ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรรายเล็กและรายกลางที่มีนวัตกรรมมีความจำเพาะในการผลิต เช่น กลุ่มคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ที่จะเห็นได้ว่าคนกลุ่มนี้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่สูงและก้าวไปสู่การค้าขายใหม่ที่เกิดขึ้นได้ สำหรับการเยียวยาสำหรับคนกลุ่มนี้อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ศักยภาพในการขยายตลาดไปสู่ตลาดเฉพาะ และทำให้เกิดการขยายตัว โดยให้เกิดการประสานต่อกับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่ 3 ที่มีวิถีการผลิตแบบเดิมที่ยังคงผลิตแบบเชิงเดี่ยว ซึ่งหากเมื่อเกิดภัยแล้งหรือวิกฤตอื่นก็มักได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกษตรกรกลุ่มนี้เกิดการปรับตัวจากการผลิตเชิงเดี่ยวไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการผลิต สำหรับเกษตรกรในกลุ่ม 4 ที่เป็นเกษตรกรรายกลางหรือรายใหญ่ที่มีนวัตกรรมนั้น เกษตรกรกลุ่มนี้มักทำเชิงธุรกิจเกษตร เช่น การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงกุ้ง การปลูกอินทผาลัมที่มีมูลค่าทางการตลาดที่สูงนั้น ผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ยังคงจำกัด

การสร้างความเข้าใจต่อความหลากหลายของกลุ่มเกษตรกรที่เชื่อมโยงกับแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาในภาคการเกษตรถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้ามีการแจกแจงในลักษณะนี้ได้ก็จะทำให้เห็นนโยบายที่จะไปช่วยเหลือกับกลุ่มเกษตรกรที่มีความแตกต่างกันมาก แต่ว่าที่ผ่านมานโยบายของรัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรพบว่าทุกอย่างเหมือนกันหมด ดังนั้น เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุดและดียิ่งขึ้น รัฐบาลควรมีการแยกแยะว่าการเยียวยาเกษตรกรต้องหากลุ่มเป้าหมายให้ดีและนโยบายควรมีการออกแบบให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

การคาดการณ์ต่อการปรับตัวของกลุ่มเกษตรกร

ทิศทางการปรับตัวของเกษตรกรรายเล็กและรายกลางที่มีนวัตกรรมเชื่อว่าหลังวิกฤติโควิดจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้น และจะมีการจำหน่ายผลผลิตในช่องทางใหม่เกิดขึ้น เช่น การตลาดออนไลน์ หรือการเชื่อมโยงกับวิสาหกิจเพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาในพื้นที่ในการเชื่อมหรือดึงดูดคนรุ่นใหม่กลับมาทำงานในภาคการเกษตรได้ ถึงแม้ว่ามีคนเริ่มทำอยู่แล้วและมีน้อยรายที่ประสบความสำเร็จแต่ก็สามารถทำเป็นโมเดลนำร่องได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้โรงเรือน การใช้น้ำหยด การผลิตที่มีมาตรฐานเพื่อสามารถส่งออกได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการยกระดับด้านการตลาดได้ เกษตรกรที่ทำการผลิตแบบเชิงเดี่ยวต้องมีการปรับตัวให้ออกจากการผลิตแบบนั้นให้ได้ แต่ที่ผ่านมากลไกของภาครัฐคือให้งบสนับสนุนเกษตรกรไปละลายตลาดใหญ่ซึ่งไม่ได้สร้างกลไกที่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โลกหลังโควิด-19 เปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อสังคมเกษตรกรรมไทย” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ