โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

      “ผลผลิตพืชหรือสัตว์ในแปลงเกษตรจะดีหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือพันธุ์ที่นำมาใช้ สิ่งแวดล้อมในแปลง และการจัดการแปลง” เป็นคำกล่าวเริ่มต้นของสุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ จ.เชียงราย ในเวทีเสวนาออนไลน์ ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้านของภาคเหนือและทิศทางการพัฒนาในอนาคต เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564

ปัจจัยที่ทำให้พันธุกรรมพืชลดลง

      สำหรับประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่กระจายทั่วประเทศถึง 39 กลุ่ม และปัจจัยที่ทำให้พันธุกรรมพืชลดลง อันส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ลดลงไป มีด้วยกัน  2 ประการ คือ

  • นโยบายการส่งเสริมการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งในพื้นที่ทำเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ได้รับการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีในการทำเกษตร และทำลายพันธุ์พืชอื่นๆ ที่หลากหลายชนิดและเคยอยู่ร่วมในแปลงเกษตร
  • การไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการถือครองที่ดิน จากที่กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่หุบเขา พื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานและป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เกษตรกรไม่มีสิทธิในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งได้เป็นที่มาของข้อจำกัดในการทำเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์

แนวทางการฟื้นฟูพันธุกรรมพื้นบ้าน

      ถึงแม้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์จะถูกจำกัดในด้านสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงนโยบายส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ที่ทำให้พันธุกรรมพืชลดลงและส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุกรรมพืช หลากหลายวิธี เช่น

  • สืบสานวัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาต่อกันมา ด้วยวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงยึดโยงภูมิปัญญา เช่น ชาติพันธุ์ลีซูมีคำสอนที่สืบต่อกันมาว่า ต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้ 30 กระบุง หรือคนที่ร่ำรวยคือคนที่เก็บเมล็ดพันธุ์ การสืบสานประเพณี อย่างวันนี้ (14 มิถุนายน 2564) ซึ่งตรงกับปฏิทินของลีซูเป็นวันที่เรียกว่า “หงั่วฮาเต๋อหวู่” หรือวันเริ่มต้นปลูกข้าว พืช ผัก ซึ่งเชื่อกันว่า หากเพาะปลูกวันนี้จะทำให้พืชผักเจริญเติบโตงอกงาม เป็นวันที่ขอพรจากเทพ เพื่อให้พืชผักเจริญเติบโตงอกงาม เป็นวันเริ่มต้นทำเกษตรซึ่งเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร
  • การประสานความร่วมมือภาคีต่างๆ ในการฟื้นฟู อนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้ดำรงอยู่ ต้องมีการประสานภาคีต่างๆ ไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานรัฐ ฯลฯ และให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ
  • การรณรงค์เผยแพร่เรื่องราวต่างๆ สู่สาธารณะในทุกช่องทาง เพื่อให้สาธารณะยอมรับการมีตัวตนและวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในการดูแลทรัพยากรและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมอันเป็นที่มาของความมั่นคงทางอาหาร

      การทำเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีข้าวเป็นหลักแต่วิถีการทำไร่ข้าวนั้นไม่ได้มีข้าวเพียงอย่างเดียว แต่พืชผักหลากหลายชนิดได้ถูกหว่านร่วมไปในการทำไร่ ไม่ว่าข้าวฟ่าง ผักกาด แตง ฟักทอง พริก หรืออื่นๆ เมื่อครบ 3 เดือน จะได้กินผักกาด ฟักทอง แตง และข้าวเป็นผลผลิตที่เก็บได้หลังสุด ดังนั้น เวลาไปไร่ข้าวจะมีพืชอาหารให้กิน เป็นวิถีการเข้าถึงอาหารปลอดภัย ที่เรียกการทำเกษตรรูปแบบนี้ว่า “ไร่หมุนเวียน”  ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุกรรมพืช เพราะจะมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ของพืชต่างๆ ไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไป

บทความแนะนำ