ธวัชเป็นคนรุ่นใหม่มีความตั้งใจกลับไปทำเกษตรที่บ้าน ตัดสินใจย้ายมาทำงานใกล้บ้านเพื่อเตรียมตัวเป็นเกษตรกรอาศัยวันหยุดแวะเวียนมาปลูกพืชไว้ ถึงแม้จะเตรียมตัวอย่างไร… การกลับมายังมีหนี้สินติดค้างจากการทำงาน และต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาเป็นทุนตั้งต้นในการทำเกษตร…
จุดที่ทำให้คิดและตัดสินใจกลับมาทำเกษตรที่บ้านนั้น ด้วยความชอบและสนใจที่ทำเกษตร กับเห็นปัญหาที่คนลำพูนตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 1ของประเทศในขณะที่ลำพูนเป็นจังหวัดเล็กๆ ส่วนหนึ่งคิดว่าเกิดจากการขาดความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การกลับบ้านทำเกษตรเป็นแนวทางที่ครอบครัวจะได้อยู่ร่วมกัน และเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้เกิดคนคืนถิ่นมากขึ้น ทั้งจากความตั้งใจที่ต้องการกลับมาดูแลพ่อแม่ หรือตนเองอายุมากแล้ว หรือเบื่องาน และความไม่ตั้งใจเนื่องจากเกิดการเลิกจ้างกะทันหัน รวมทั้งจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ
ทบทวนปัญหา และวางแผนการทำเกษตร
“การกลับมาอยู่ในช่วงแรกๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยเก็บกวาดบ้าน ตัดแต่งกิ่งต้นไม้ ถือเป็นการฝึกสมาธิเพื่อทำให้มีเวลาไตร่ตรอง คิดถึงปัญหาการทำเกษตรที่ผ่านมา และวางแผนการทำเกษตรที่ให้มีรายได้ตลอดปี หาแนวทางการนำความรู้ที่มีอยู่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้พ่อแม่และคนในชุมชนยอมรับ พร้อมทั้งมีจุดยืนในชุมชน” เป็นสิ่งที่ธวัช ต้องขบคิดและทบทวนเมื่อกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน และพบเห็นประเด็นสำคัญต่อการทำเกษตร ดังนี้
ปัญหาของการทำเกษตร สาเหตุการทำเกษตรที่ไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั้งฝนตก น้ำท่วม ฝนแล้งทำให้ผลผลิตไม่ดี อย่างกรณีลำไยซึ่งจังหวัดลำพูนถือเป็นแหล่งปลูกลำไยชั้นดี รสชาติดี ไม่ค่อยมีน้ำ นิยมนำไปทำลำไยอบแห้ง แต่ในปีที่ผ่านมาราคาลำไยตกต่ำมาก เกษตรกรในชุมชนเลือกที่จะทิ้งมากกว่าเอาไปขาย หรือจำยอมขายในราคาต่ำเพียง 3-4 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อได้เงินมาประทังชีวิตถึงแม้จะขาดทุน ซึ่งในอำเภอลี้ มีโรงงานขนาดใหญ่รับซื้อลำไยและทำลำไยอบแห้งส่งขายให้กับประเทศจีน ดังนั้น ชุมชนแวนนารินจึงนิยมขายลำไยให้กับล้งที่มารับซื้อแล้วส่งให้กับโรงงานอีกครั้ง วิธีการนี้ถือเป็นระบบเกษตรพันธะสัญญา หรือ Contract Farming เพราะชุมชนต้องพึ่งพาคนกลาง ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้เกิดปัญหา หากผลผลิตไม่ได้ตามกำหนดก็จะถูกกดราคาหรือไม่รับซื้อผลผลิต นอกจากนี้บ้านแวนนารินมีปัญหาระบบชลประทาน การทำเกษตรต้องอาศัยธรรมชาติ เมื่อเกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งส่งผลกระทบกับการทำเกษตรในชุมชนมากยิ่งขึ้น
วางแผนเตรียมการไว้ก่อน เมื่อเริ่มกลับมาอยู่อย่างจริงจัง จากที่เคยได้วางแผนปลูกลำไยตามที่พ่อกับแม่ทำมา เมื่อเจอกับภาวะราคาลำไยตกต่ำก็ต้องปรับตัว ในขณะที่พ่อแม่ใช้เวลามากในการดูแลลำไย ต้องรดน้ำทุก 2-3 วันครั้ง และต้องใช้เวลารดน้ำทั้งวันทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว จึงได้คิดระบบการให้น้ำสำหรับการทำเกษตร ดังนั้น จุดเริ่มต้นการทำเกษตรต้องคำนึงระบบน้ำที่มีเพียงพอกับการทำเกษตรในแปลง รวมทั้งวางแผนการปรับพื้นที่เพื่อปลูกพืชหลากหลายชนิดที่มากกว่าลำไย
สร้างจุดยืนทางสังคม การกลับมาทำเกษตรที่บ้านสิ่งสำคัญอีกประการ คือ การทำให้พ่อกับแม่เข้าใจและยอมรับในการกลับมาทำเกษตร ด้วยการนำความรู้ด้านภูมิศาสตร์สถาปัตยกรรมที่เรียนจบมา ออกแบบวางผังแปลง การวางระบบน้ำ ทำอย่างไรมีน้ำเพียงพอในแปลงเกษตรเพื่อสามารถให้แปลงมีผลผลิตตลอดและมีรายได้ทั้งปี เช่น รายได้รายวันจากการปลูกผัก รายได้รายเดือนจากการปลูกเสาวรส และรายได้รายปีจากการปลูกลำไย เป็นต้น จากนั้นหาวิธีการสร้างให้คนในชุมชนยอมรับ ด้วยการนำความรู้ไปรณรงค์เผยแพร่ รวมกลุ่มที่สนใจทำเกษตรให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน มีผลผลิตและมีรายได้ ทั้งนี้เพื่อได้มีจุดยืนในชุมชน
การสร้างความร่วมมือเครือข่าย เริ่มต้นกลับบ้าน ธวัชได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นคว้าหาความรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อการทำเกษตร โดยร่วมกิจกรรมอบรมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ ทำให้ได้รับแนวคิดการทำเกษตรมาสนับสนุน จากนั้นได้นำแนวคิดมาสานต่อกับชุมชน สร้างวิสาหกิจพอเพียงแวนนาริน ใช้ความรู้ที่มีหรือที่ได้รับมาเผยแพร่ให้สมาชิกในวิสาหกิจ รวมทั้งร่วมวางแผนการจัดแปลง ตลอดจนการจัดการผลผลิต ดังนั้นผลผลิตการเกษตรที่เกิดขึ้นจะถูกรวบรวมนำไปขายทั้งที่ตลาดนัด โรงพยาบาล แหล่งขายในชุมชน การสร้างความร่วมมือเครือข่ายต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำเกษตร และเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน
เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะต้องรับมือเมื่อกลับมาทำเกษตร และสิ่งที่ธวัชได้ฝากไว้ คือ “เป็นกำลังใจในการต่อสู้ให้คนคืนถิ่นที่จะมาทำการเกษตร เพราะการเรียนจบไปทำงานนั้น ง่ายกว่าการเรียนจบแล้วกลับบ้านมาทำการเกษตรซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย”