โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

           “คนคืนถิ่น” ถือเป็นความดีงามของชุมชนในการสร้างชุมชนใหม่ เพียงแต่การคืนกลับภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดนี้ได้เกิดผลกระทบของความไม่พร้อมของชุมชนท้องถิ่นในการรองรับเพื่อให้การดำรงชีวิตของคนคืนถิ่นอยู่รอดได้ ในขณะเดียวกันชุมชนท้องถิ่นเองมีความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ซึ่งมีผลมาทั้งจากระบบการศึกษา วิถีการดำเนินชีวิต รวมถึงการบริโภคที่นำจากเมืองสู่ชุมชน ดังนั้น ท้องถิ่นต้องมีนโยบายรองรับเพื่อโอบอุ้มให้คนคืนถิ่นสามารถใช้ชีวิตและฟื้นฟูชุมชนจากที่ในชุมชนไม่มีวัยแรงงาน มีแต่เด็กและผู้สูงวัยที่ถูกปล่อยให้อยู่เพียงลำพังกลับคืนมาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งมีบทเรียนแล้วว่าการสร้างเศรษฐกิจในเมืองไม่ใช่คำตอบของความอยู่รอด เมืองเป็นเพียงแหล่งสร้างแรงงาน และเมื่อคนเหล่านี้ต้องการกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดยังคงเผชิญภาระที่ต้องมีค่าใช้จ่าย การผ่อนงวดรถ หนี้สินและอื่นๆ ดังนั้น การกลับคืนถิ่นจึงเป็นโอกาสการสร้างเศรษฐกิจใหม่และเป็นอิสรภาพของชีวิตที่ไม่ผูกติดกับโรงงาน

          การกลับคืนถิ่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมี 2 ลักษณะ คือ การกลับมาด้วยอุดมการณ์ อยากกลับตั้งหลักและทำเกษตรอยู่ที่บ้าน และการกลับคืนมาเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด โรงงานปิดถูกเลิกจ้างและต้องกลับบ้านด้วยความไม่พร้อม บางรายกลับมาพร้อมกับการเจ็บป่วยและถูกกักตัว ซึ่งได้สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในชุมชน ในขณะที่ชุมชนไม่มีโอกาสได้เข้ามาจัดการดูแลลูกหลานที่กลับมาด้วยความผูกพันทางสังคมที่มีอยู่

ชุมชนต้องมีแนวทางรองรับคนคืนถิ่น

          ก่อนมีสถานการณ์โควิด ทางภาคอีสานได้มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และสถาบันการจัดการความรู้ภาคอีสาน ภายใต้โครงการคนคืนถิ่น อีสานคัมโฮม ได้เปิดรับสมัครเพื่อสนับสนุนคนตั้งใจกลับมาคืนถิ่นและทำเกษตร ซึ่งมีผู้สนใจกว่า 200 คน ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการมีเพื่อน ต้องการอยู่ร่วมและอยู่รอดได้ในชุมชน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้จำนวน 86 คน ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่มีอายุ 40-50 ปี เป็นวัยที่ทำงานในเมืองใหญ่และต้องการกลับมาตั้งหลักที่บ้าน บางคนมีครอบครัว มีลูก มีสามีภรรยา หรือบางส่วนต้องการกลับมาดูแลพ่อแม่ กลุ่มคนเหล่านี้มีการเตรียมตัว มีเงินส่วนหนึ่งสำหรับการลงทุน อีกส่วนหนึ่งที่กลับคืนถิ่นมานั้นเป็นเพราะเบื่องาน ไม่อยากอยู่ในเมือง และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

          สำหรับจังหวัดมหาสารคาม รายงานในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีข้อมูลการกลับคืนถิ่นในช่วงสถานการณ์โควิดกว่า 80,000 คน จากจำนวน 1,944 หมู่บ้าน และการศึกษาเจาะลึกเก็บข้อมูลจำนวน 184 หมู่บ้าน จากคนกลับคืนถิ่นจำนวน 4,485 คน ในส่วนนี้กว่า 2,000 คนยังต้องการที่กลับไปทำงานใหม่หรือกลับไปทำงานที่เดิมด้วยหวังว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น มีเพียง 354 คนที่มีความพร้อมและตั้งใจกลับบ้าน และอีกกว่า 1,400 คนที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร

          ตัวอย่างข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้ ต้องมีการขบคิดกันว่าจะรองรับและตั้งรับกับคนคืนถิ่นอย่างไร ? ในขณะที่ระดับชุมชนมีรูปธรรมการทำเกษตรอินทรีย์ มีการทำตลาดเขียวที่เป็นหลักประกันความอยู่รอดและความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องชักชวนหาแนวทางในการเชื่อมโยงคนเหล่านี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อวางแผนตั้งแต่การผลิตตลอดจนการจัดการผลผลิต

ข้อเสนอแนะ

          เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการฟื้นฟู สร้างเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงทางอหาร สำหรับการดำรงชีวิตในท้องถิ่น

  1. ชุมชนต้องรวบรวมข้อมูล ความชัดเจนของจำนวนคน ความต้องการที่คนคืนถิ่นกลับมา แล้วรวบรวมให้เป็นข้อมูลในระดับจังหวัด เพื่อออกแบบการหนุนเสริมการมีชีวิตอยู่รอดในชุมชน
  2. มีแนวทางการสร้างกลุ่มหรือเครือข่าย เพื่อให้คนคืนถิ่นได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ในการสร้างและกอบกู้ความสัมพันธ์ของชุมชนใหม่
  3. รัฐต้องสนับสนุนและให้โอกาสคนคืนถิ่นในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อสมทบการกลับมาของคนคืนถิ่น ส่งเสริมการมีอาชีพที่สามารถตั้งหลักปักฐานในการสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งเชื่อมโยงและสนับสนุนความรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชนให้เกิดการต่อยอดกับคนคืนถิ่นโดยเน้นการผ่านกระบวนการกลุ่มและการสร้างเครือข่าย ทั้งนี้รัฐต้องให้ความสำคัญกับความสำเร็จการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มคนเล็กคนน้อยที่มีอยู่แล้วในชุมชน

บทความแนะนำ