โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ พลอย​ กษมา​ แย้มตรี​ สถาปนิกชุมชน ​และคนทำอาหารที่เชื่อมโยงผู้คน ผ่านบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร ในนาม ​”เยียวยาคิทเช่น” แถมด้วยตำแหน่งผู้บริโภคสายเข้ม กินข้าวแบบลึกซึ้ง และจะทำให้การกินข้าวของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

พลอย คือผู้บริโภคเพียงหนึ่งเดียวที่เราสัมภาษณ์ เพื่อนำเข้าสู่การเฉลิมฉลองข้าวใหม่ของฤดูกาล เทศกาลข้าวใหม่ 2567: ข้าว’ อาหารแห่งรัก(ษ์) เพราะเธอคือผู้บริโภคที่มีมุมมองความรักต่ออาหารที่กิน ความรักต่อเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร ยึดโยงเป็นข่ายใยความรักในกระบวนการปรุง สู่เพื่อนร่วมโต๊ะอาหารของเธอ การกินข้าวของเธอจะลึกซึ้งแค่ไหน ลองลิ้มรสจากบทสัมภาษณ์นี้กัน

เมื่อถามว่าข้าวที่ชอบกินเป็นประจำคือข้าวอะไร​ มาจากพื้นที่ไหน​ พลอยบอกว่า มีที่อยู่ติดครัว เป็นประจำอยู่​ 3 สายพันธุ์​ แต่ละพันธุ์​ก็ใช้ในโอกาสที่แตกต่างกัน​ เช่น​ กินเวลาไม่สบาย​ ก็จะเลือกข้าว ไบโอไดนามิกของเพื่อนในกลุ่ม​ เรารู้สึกว่าข้าวนี้มีพลังชีวิตสูง​ ส่วนถ้าเอามาทำแหนม ซึ่งเป็น​เมนูที่ชอบทำกินและทำจำหน่ายด้วย​ ก็จะใช้ข้าวหอมใบเตย​ของพื้นที่มหาสารคาม ส่วนข้าวที่กินประจำทุกวัน คือ​ ข้าวผกาอำปึล​ ของพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

“ข้าวกาอำปึลของพ่อภาคภูมิ​ คือจริง ๆ​ เราไม่ได้มีแบล็กกราวด์เกี่ยวกับข้าวพันุธ์นี้มาก่อนเลย​ รู้จักจากงานเทศกาลข้าวใหม่ของปีหนึ่งที่จัดที่มูลนิธิเกษตรฯ นานแล้ว​ ได้กินครั้งแรกก็รู้สึกเลยว่า​ มันมีความอบอุ่น​ ละมุน​ และสมบูรณ์​ เวลาที่เอาข้าวเข้าปาก​ ตอนที่มันอยู่บนลิ้นของเรา​ อันนี้เป็นความรู้สึกนามธรรมมาก ๆ​ แต่มันเป็นความรู้สึกเดิมทุกครั้งที่กิน​ มันทำให้รู้สึกเสถียรมาก​ พอกินข้าวอันนี้แล้วไปกินข้าวอันอื่น​ มันจะรู้เลยว่าส่วนผสมมันไม่ครบบนลิ้นของเรา​ มันจะบาดลิ้น​ มันเป็นความรู้สึกเหมือนมีอะไรคม ๆ​ แล้วเราจะรู้สึกว่ามันไม่อบอุ่น​ ละมุน​ และสมบูรณ์ คือ​เราเสพข้าวในความเป็นนามธรรมของมัน​ เสพสุนทรียะของมัน​ เสพความรู้สึกที่ดีที่เราได้จาก มันมากกว่าที่กินข้าว

“ส่วนหอมใบเตย​ สำหรับเรามันจะไม่อร่อยที่สุดถ้าเรากันข้าวนี้กับกับข้าว​ มันมีความเฉพาะตัวสูง​ เขาชัดเจนว่าเขาคือใคร​ แต่สำหรับเรา หอมใบเตยมันพิเศษกับบางเมนู​ที่เราชอบทำ​ ก็คือแหนม​ พอใช้หอมใบเตยทำแหนม ค้นพบว่ามันเป็นตัวกลาง​ไปทำให้เนื้อสัตว์​มีความละมุนมากขึ้น​อาจจะเป็นเพราะหอมใบเตยมีความเป็นยางหรือเหนียวกว่าข้าวอื่น ๆ ​ มันเป็นตรงกลางระหว่าง ข้าวที่นิ่มเหมือนข้าวขัดขาวทั่วไป​กับข้าวกล้องที่มันแข็งกว่ามีความติดเปลือก​ เวลาที่แหนมมันได้ที่​ เราจะไม่รู้สึกถึงเมล็ดข้าวที่ชัดมาก​ แต่จะรู้สึก​ว่ามันมีแกนบางอย่างของเมล็ดอยู่ตรงนั้น​ แต่มันไม่เละ”       พอได้ฟังรายละเอียดที่พลอยสื่อสารออกมาแล้วก็อยากสัมผัสรสชาติข้าวหอมใบเตยในแหนมหมูที่ พลอยทำขึ้นมาทันที

เมื่อถามความเชื่อมโยงระหว่างการกินข้าวกับความรัก​ การรักษา หรืออนุรักษ์​ พลอยตอบคำถามนี้ว่า

“ทุกครั้งที่กินข้าว​ ความรู้สึกมันจะเป็นสองเลเยอร์ทับกันอยู่​ อันแรก เราจะนึกถึงบทสนทนา​ที่เรามี กับครอบครัวเกี่ยวกับข้าว​ใหม่ ข้าวเก่า​ ข้าวนี้มาจากนาของลูกศิษย์​คนนั้นคนนี้ของแม่​ มันเป็นพลัง ความผูกพัน​ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการกินข้าวในจานของเรา เรารู้สึกได้ถึงความรักความอบอุ่นใน ครอบครัว​ มันไปถึงตรงนั้น​ แต่ในขณะเดียวกัน​ ระหว่างกระบวนการหุง การตักข้าวสารออกมา​ เอามาซาวน้ำ​ กำลังติดไฟ​ เราจะนึกถึงหน้าของเกษตรกรที่เขาผลิต​ แล้วเราจะรู้สึกขอบคุณเขามากเลยที่ผลิตข้าวพวกนี้ออกมาให้​

ซึ่งเรารู้สึกว่าการขอบเกษตรกรคุณนี้ หรือการระลึกถึงใบหน้าของผู้ผลิต​ มันเป็นยึดโยงสำคัญที่ทำให้ เรายังคงความสัมพันธ์ระหว่าง​เรากับคนที่ผลิต​ข้าว ทั้งที่เราไม่ได้รู้จักกันเลย​ และความสัมพันธ์ตรงนี้​ สำหรับเรามันก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่วมรักษาพันธุ์​ข้าวโดยที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะมุ่งประเด็นนี้โดยตรง​ แต่ว่าด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์​ระหว่างการกินของเรา​ และการขอบคุณที่เรามีต่อเขา​ มันเลยทำให้ การคงอยู่ของเราในการร่วมรักษานี้มันยาวนาน”

“ความผูกพันหรือความสัมพันธ์​ตรงนี้​ที่มันมีต่อคนที่เราไม่ได้​รู้จัก​ด้วยซ้ำ​ แต่เรารู้ว่าเขาเป็นใครและเขา ทำอะไร​ มีการส่งต่อสิ่งนี้มาให้เรา​ อันนี้สำหรับเราคือโคตรมั่นคงเลย​ แล้วก็​ยาวนานมากและสำคัญ​ คือมันจะอยู่อย่างนี้ไปโดยที่ไม่รู้ว่ามันจะมีวันจบหรือเปล่า​ แต่ถ้าวันนึงเราไปเจอข้าวที่มันรู้สึกสมบูรณ์กับเราใน ช่วงเวลานั้น​กว่าผกาอำปึล​ แต่การสนับสนุน​บางอย่างก็จะเกิดขึ้นระหว่างเราและผกาอำปึล​และเกษตรกร​ที่ผลิตผกาอำปึล​นี้​ ซึ่งไม่รู้นะว่ามันจะเป็นยังไง​ แต่ว่ามันมีการสนับสนุนแน่นอน”

สำหรับเรา​ เรารู้สึกว่าการกินข้าวที่มาจากผู้ผลิตแบบนี้​ ที่อยู่ในเครือข่ายพวกเราที่ตั้งใจผลิต ในระบบที่เป็นธรรมชาติ​ที่สุด​ มันเป็นการส่งต่อ​ความดีงามและพลังงานที่ดีมากๆ​ ที่เราสัมผัสได้​ มาถึงตอนนี้ตัวข้า มัน ก็จะไม่ใช่แค่สสารอีกต่อไปแล้ว​ ตัวผลผลิตมันก็จะไม่ใช่แค่วัตถุที่เรากินเข้าร่างกาย​ ทำให้เราเติบโต​ ​หรือว่าเชื่อมโยง​เรื่องสุขภาพอย่างเดียว​ แต่เรากินเพราะว่าเรารู้สึกถึงพลังที่ดี​ ไม่ว่าจะเป็นพลังชีวิต ที่เกิดมาจากธรรมชาติ​ทั้งหมด​ก่อรวมกัน​ หรือว่าเป็นพลังที่่ดีที่เกิดมาจากความตั้งใจดีของผู้ผลิต​ คือเราอาจจะแคร์เรื่องความตั้งใจอันดีของผู้ผลิตมาก​ และพอรู้สึกมาก​ มันก็เลยทำให้​เราเลือก​ที่จะอยู่กับความตั้งใจที่ดีผ่านวัตถุดิบ​ต่างๆ​ ที่เกษตรกร​ผลิตมา​ เพราะฉะนั้นเป็นเวลาหลายปีแล้วที่เรา ไม่กินข้าวนอกเครือข่ายเราเลย

แล้วเมื่อเราปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ​มา​ 4 – 5 ปี เรารู้เลยว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลง​ที่ดีกับชีวิตของเรา​ เช่น​ ความรู้สึกข้างในสมดุล​ขึ้น​ อารมณ์​ที่เรารู้สึกเหมือนอาจจะแกว่งขึ้นแกว่งลงได้ง่าย​ สวิงได้ง่าย​ สำหรับเรามัน เสถียรภาพ​มากขึ้น​ อันนี้จากการสังเกตของตัวเองและเราก็คิดว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดก็เห็นว่าเราเปลี่ยนไป”

“สำหรับ​เรา​ ข้าวมันเป็นเมล็ด​พันธุ์​ มันไม่ใช่ปลายทาง​ แล้วการที่เรากินเมล็ด​พันธุ์​ที่มันมีความสมบูรณ์​และสมดุล​ มันจะสนับสนุน​การเติบโ​ตที่ดีของเรา​ สำหรับเรา​อันนี้คืออิทธิพล​ที่มีพลังแรงกล้ามาก

เพราะ​ลองนึกถึง​เมล็ด​พันธุ์​หนึ่งเมล็ด​ แค่ดูฟอร์ม​ของมันจากภายนอก​ เราสงสัยเสมอว่า​ มันเติบโตมาเป็น​ก้านเป็นกิ่งเป็น​ดอกได้ยังไง​ มันรวมอะไรอยู่ในนั้น​ ไอ้ลูกระเบิดนี้​ และที่มันจะระเบิดออกมาเป็นพลังที่ดี เข้ามาอยู่ในตัวเรา​  เข้ามาผ่านตัวเรา​ ความเป็นเมล็ดพันธุ์​นี้มันมีพลังมหาศาล​มาก​ เพราะฉะนั้นถ้าเรา ไม่เลือกเมล็ดพันธุ์ปั๊บ​ เราอาจจะยับได้”

สำหรับงานเทศกาลข้าวใหม่​มีความสำคัญกับพลอย​ ไม่ใช่เพียงการได้กินข้าวใหม่​ แต่เชื่อมโยงไปถึง ความรู้สึกขอบคุณผู้คนและสิ่งรอบตัว

“เราเคยมีประสบการณ์​ทำงานในวัยเด็กของเรากับกลุ่มพี่น้องปกาเกอะญอ​ที่เขามีพิธีกรรม​ข้าวใหม่ทุกปี​ ทุกวันนี้จะนึกถึงพิธีกรรม​นั้นเสมอ​ สำหรับ​เรา​ การกินข้าวใหม่ไม่ได้สำคัญ​เท่าการที่เราเอาข้าวใหม่นั้นไป ขอบคุณเครื่องมือ​ หรือขอบคุณ​องค์ประกอบ​ในชีวิตที่ทำให้เรามีชีวิตมาจนถึงวันสุดท้าย​ของปี​ มันมีพลัง สำหรับชีวิตมาก​ และทำให้เกิดการปฏิบัติ​ต่อเนื่องในชีวิตเรา​ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่​ในวัฒนธรรม​นั้น​ก็ตาม​ มันทำให้เราระลึก​ถึงสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมด​ แล้วมันมีกระบวนการแสดงความขอบคุณอย่างง่าย​ ชัด​ และไม่ ซับซ้อน​

สิ่งที่เขาทำคือ เขาเอาข้าวใหม่​ที่หุงกับกับข้าวไปวางตามมีดพร้า​ ตามเตา​ ตามพื้น​ ตามก้อนหินจุดไฟ สำหรับเรา​ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้​มันละเอียดและงดงามมากที่เกิดการขอบคุณขึ้น​ แล้วเราก็กลับมามองว่า ในชีวิตเรามีเครื่องมืออะไรบ้าง​ หรือเรามีใครในชีวิต​บ้างที่เราจะต้องไปแสดงความขอบคุณ​อย่างง่ายแบบนี้​ มันอาจไม่ใช่การเอาข้าวไปวางให้เขา​ แต่เรามองไปที่คอมพิวเตอร์​ของเรา​ มองไปที่โต๊ะ​ มองไปที่ต้นไม้ ที่เรามองทุกวัน​ มันคือเครื่องมือประกอบร่าง​ที่เป็นเราในปีนี้​ ข้าวมันทำให้เราเห็นจุดที่ละเอียดมากขึ้น ในส่วนประกอบในชีวิต”

พลอยเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของการตักอาหารเข้าสู่ปาก​ เราจึงขอให้พลอยแนะนำขั้นตอน หรือเชื้อเชิญให้คนมีหันมากินข้าวด้วยความรักและความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น​

อันที่หนึ่ง อย่ากินข้าวคนเดียวตลอด​ ควรให้เปอร์เซ็นต์​การกินข้าวร่วมกับผู้อื่นให้มันสมดุลกับ การกินข้าว คนเดียวด้วย​ การกินข้าวร่วมกับคนอื่น​ มันจะเกิดความ​ผูกพันใหม่บางอย่างผ่าน กระบวนการกินร่วม​ และกระบวนการกินร่วมนั้น​ เราว่ามันจะมีความหมายบางอย่างเกิดขึ้น

อันที่สอง​ กินข้าวด้วยความสงบ​ หมายถึง​ว่า​ ใส่ใจกับสิ่งที่กิน​ อย่าเล่นโทรศัพท์​ แล้วก็เคี้ยวข้าว ให้นาน​ แล้วเซนส์มันจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ​”

อยากให้พลอยทิ้งท้ายเชิญชวนทุกคนมางานเทศกาลข้าวใหม่ปีนี้

“เราคิดว่างานข้าวใหม่เป็นงานเฉลิมฉลอง​ของการเปิดประตูใหม่สู่ปีใหม่ของชีวิต เราควรจะมาเฉลิมฉลอง​ เราควรจะมาอยู่กับความเบิกบานกัน​ และสัมผัส​ได้ถึงพลังแห่งเมล็ด​พันธุ์​ที่ถูกสร้างสรรค์​ไว้จากคนที่ตั้งใจ จากธรรมชาติ​ที่ตั้งใจเหมือนกัน​

เรารู้สึกว่าแค่มาสัมผัส​ ชิมข้าวหนึ่งอย่างจากความตั้งใจ​เหล่านี้​ ยังไงชีวิตมันก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีแน่นอน​ มันจะมีอะไรบางอย่างที่แทบเปิดประตู​ให้เราไปรู้ไปเข้าใจระลึก​อะไรได้มากขค้นได้แน่นอน​เลย​ เรื่องอะไรไม่รู้ แต่ว่าสำหรับเรา​ รู้สึก​ถึงขั้น​ว่ามันสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในได้”

บทความแนะนำ