โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

       ขอนแก่นเป็นหัวเมืองใหญ่ของภาคอีสาน จึงมีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้าอยู่อาศัย หนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นคือปริมาณขยะจำนวนมากที่ต้องจัดการ ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นเพียงลำพังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ แนวคิด “ขยะเกิดที่ไหนกำจัดที่นั่น” โดยเทศบาลร่วมมือกับชุมชน เน้นให้มีการคัดแยกขยะ 4 ประเภทตั้งแต่ต้นทาง คือ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะมูลฝอย และขยะพิษ ซึ่งได้ดำเนินการมานานกว่า 10 ปี จนมีชุมชนได้รับรางวัลโครงการชุมชนปลอดขยะ Zero Waste และเป็นต้นแบบเรียนรู้ด้านการจัดการขยะให้กับชุมชนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะของเทศบาลนครขอนแก่น ยังคงมีปัญหาการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ถึงแม้จะมีความรู้ความเข้าใจแต่ยังขาดวินัยและความตระหนักในการจัดการขยะ เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของเทศบาล อีกทั้งมีกลุ่มประชากรแฝงที่ไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนอยู่ด้วย

       ดังนั้น เพื่อสนับสนุนและยกระดับพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะที่ต้นทาง “โครงการการจัดการขยะที่ต้นทางอย่างยั่งยืน” มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ภายใต้โครงการสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงได้สร้างความร่วมมือกับชุมชนและภาคีต่างๆ ในการจัดการขยะ และ 4 ชุมชน คือ บ้านโนนชัย 1 ชุมชนการเคหะขอนแก่น ชุมชนโนนหนองวัด 1 และชุมชนบะขาม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่เป้าหมาย และการสรุปบทเรียนการดำเนินงานในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญต่อการจัดการขยะที่ต้นทางของชุมชนเมืองขอนแก่น ดังนี้

       1.ความตระหนักและให้ความสำคัญการจัดการขยะของชุมชน คนชุมชนต้องตระหนักและเห็นว่าขยะเป็นปัญหาส่งผลกระทบในชุมชนจำเป็นต้องจัดการ โดยทั้ง 4 ชุมชนได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหาขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลายประการ เช่น ความเป็นชุมชนกึ่งเมืองที่วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป การมีประชากรแฝงที่เข้ามาพักอาศัยในชุมชนมากขึ้น ซึ่งทำให้ปริมาณขยะในชุมชนเพิ่มปริมาณมากขึ้น เกิดการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ทิ้งเศษอาหารรวมลงไปในถังขยะ มีสุนัขมาคุ้ยเขี่ย รถขยะไม่มาเก็บตรงตามเวลา ขยะล้นถัง เน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ จากปัญหาดังกล่าว ชุมชนจึงหาแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีเวทีประชุม อบรม รวมทั้งศึกษาดูงาน เพื่อให้คนในชุมชนได้เกิดความตระหนักร่วมกัน สำหรับ ชุมชนบะขามใช้การรณรงค์และเปิดเพลงเป็นสื่อ ให้ความรู้ในแหล่งชุมชน เช่น ตลาดนัด เพื่อเปลี่ยนทัศนะจากขยะที่เหม็นและน่ารังเกียจ ต้องเกิดจัดการด้วยคนในชุมชน

       2.การมีส่วนร่วมชุมชนและภาคีเครือข่าย เทศบาลนครขอนแก่นได้ให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะภายใต้แนวคิด “ขยะเกิดที่ไหนกำจัดที่นั่น” และต้องมีการคัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท ซึ่งชุมชนได้มีการแจกวัสดุ อุปกรณ์ให้แต่ละครัวเรือนเพื่อสะดวกในการแยกขยะ เช่น ถุงดำ ถังขยะใบเล็ก รวมถึงถุงที่ชุมชนจัดทำขึ้นเองจากตาข่ายสีฟ้า อย่างไรก็ตามการจัดการขยะให้ได้ผลสำเร็จนั้น ต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าองค์กรพัฒนาเอกชน โรงเรียนในชุมชน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ฯลฯ สำหรับบทเรียนการคัดแยกขยะของ 4 ชุมชนในจังหวัดขอนแก่นนั้น มีดังนี้

  • ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ จะมีแกนนำชุมชนช่วยเก็บจากครัวเรือน หรือสมาชิกในครัวเรือนนำมาไว้ที่จุดรวบรวมขยะอินทรีย์ของชุมชน ซึ่งเรียกว่า “ถังข้าวหมูฟื้นฟูชีวิต” เพื่อทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และสมาชิกสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผัก สำหรับกินในครัวเรือน บางชุมชนมีการแจกเมล็ดพันธุ์ผักให้กับครัวเรือนเพื่อปลูกผักด้วย สำหรับชุมชนโนนหนองวัด 1 หากน้ำหมักชีวภาพมีปริมาณมาก ทางเทศบาลตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จะมาขอซื้อเพื่อนำไปใช้ล้างพื้นตลาดสด ใส่ลงในแหล่งน้ำเพื่อจัดการน้ำเสีย รวมทั้งนำไปรดกองขยะเพื่อลดกลิ่นเน่าเหม็น
  • ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กล่องกระดาษ เศษกระดาษต่างๆ กระป๋อง สมาชิกในครัวเรือนจะรวบรวมใส่ถุงที่ได้รับการแจก แล้วนำมาขายให้กับจุดรวมของชุมชน รายได้จะถูกรวมในกองทุนฌาปนกิจ ซึ่งเรียกว่า “กองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ” เมื่อสมาชิกเสียชีวิตจะจ่ายให้โดยหักจากบัญชีคนละ 20 บาท นอกจากนี้ในชุมชนโนนหนองวัด 1 ได้นำเงินกองทุนสำหรับสวัสดิการคนในชุมชน เช่น กองทุนการศึกษาสำหรับเด็ก ส่วนชุมชนการเคหะขอนแก่น ได้นำเศษกระดาษหนังสือพิมพ์มาทำเปเปอร์มาเซ่ เป็นกระถางต้นไม้ แจกัน สัญลักษณ์เมืองขอนแก่น สามารถเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน ในขณะที่ขวดและถังพลาสติก หรือวัสดุเหลือใช้ต่างๆ คนในชุมชนนำมาทำเป็นกระถางสำหรับปลูกพืชผัก
  • ขยะมูลฝอย จากปัญหาขยะล้นถัง รถขยะไม่มาเก็บ จึงได้มีการจัดการโดยไม่มีการวางถังขยะรวมของชุมชน แต่แจกถุงดำให้กับครัวเรือนเพื่อทิ้งขยะมูลฝอยต่างๆ แล้วกำหนดวันที่รถขยะเทศบาลมาเก็บ จากนั้นขยะมูลฝอยจะถูกนำไปจัดการต่อที่โรงไฟฟ้ากำจัดขยะที่บ้านคำบอน ตำบลโนนท่อน อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้าของเทศบาลนครขอนแก่น
  • ขยะพิษ หรือขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุสารเคมีอันตรายชนิดต่างๆ ที่เป็นสารไวไฟ สารเคมี วัสดุที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่โทรศัพท์ กระป๋องสเปรย์สี ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วถือเป็นขยะติดเชื้อชนิดหนึ่ง ขยะเหล่านี้ต้องมีการจัดการเฉพาะ ดังนั้น ชุมชนทั้ง 4 จึงมีถังและจุดสำหรับทิ้งโดยเฉพาะ เพื่อให้รถเทศบาลมาจัดเก็บแล้วนำไปจัดการอย่างถูกวิธี

      3.สร้างแรงจูงใจให้เกิดการจัดการขยะ การสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนร่วมมือในการจัดการขยะมีหลายวิธี เช่น

  • สร้างขยะให้เกิดการใช้ประโยชน์และมีมูลค่า เช่น การนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ สำหรับการปลูกผักอินทรีย์ไว้กินในครัวเรือน การนำขยะรีไซเคิลมาแปรรูปทำเปเปอร์มาเซ่ หรือใช้ขวด ตะกร้าพลาสติก ล้อยางรถยนต์ กระสอบปุ๋ยเอามาปลูกพืชผัก หรือเอาขยะรีไซเคิลไปขายนำรายได้มาทำกองทุนฌาปนกิจ หรือสวัสดิการให้ชุมชน
  • มีกฎกติกาในชุมชน เช่น กำหนดวัน เวลาเก็บขยะเพื่อมีรถมาเก็บและจัดการได้เหมาะสม กำหนดกติกาห้ามเผาขยะในชุมชน ห้ามปล่อยสัตว์เลี้ยงหมา/แมวบนถนนในชุมชน อย่างบ้านโนนชัย 1 ถ้าพบหมา/แมวขับถ่ายบนถนนในพื้นที่ชุมชนจะมีการปรับเงินผู้เลี้ยงกองละ 50 บาท
  • มีผู้รับผิดชอบดูแลและจัดเก็บขยะในชุมชน เพื่อความสะดวกในการจัดการขยะ และป้องกันขยะล้นถัง หรือสุนัขคุ้ยเขี่ย จึงจำเป็นต้องมีคนในชุมชนมาดูแลและจัดเก็บขยะ รวมทั้งทำความสะอาดตามถนน ตรอก ซอยในพื้นที่ชุมน และจัดเก็บค่าธรรมเนียมของสมาชิกในชุมชนสำหรับการดูแลและจัดการขยะ ทำให้สมาชิกบางรายมีรายได้จากการจัดการดังกล่าว และเป็นการจัดการตนเองของชุมชนที่ทางเทศบาลนครขอนแก่นให้อำนาจแก่ชุมชน ดังนั้นหลายชุมชนจึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลนครขอนแก่นผ่านการทำสัญญาจ้างกับชุมชน
  • สร้างการยอมรับต่อการจัดการขยะของชุมชน ผ่านการสร้างเครือข่ายชุมชนที่มีการจัดการขยะให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ศึกษาดูงานระหว่างกัน การมอบรางวัลให้สมาชิกในชุมชนที่มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน การเข้าร่วมประกวดชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ของกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดในวันที่ 5 พฤศจิกายน ชุมชนโนนชัย 1 ได้รับรางวัลผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ในกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ประจำปี 2564

การจัดการขยะกับสิ่งที่เกิดในชุมชน

       สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน คือ สามารถจัดการขยะที่เคยล้นถัง การส่งกลิ่นเหม็นหรือการมีสุนัขมาคุ้ยเขี่ย รวมทั้งการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนและเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น หรือการเป็นต้นแบบของการจัดการตนเองในการจัดการขยะ นอกเหนือจากการสร้างชุมชนที่มีสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ดี

       อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางในชุมชนนั้น ต้องขับเคลื่อนร่วมไปกับการสนับสนุนจากภาคีและองค์กรภายนอกเพื่อให้ชุมชนพัฒนาและต่อยอดงานได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นข้อท้าทายสำหรับการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของคนในชุมชนเองและประชากรแฝงที่ได้เข้าอยู่อาศัยในชุมชน ร่วมถึงการสานต่อกับคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนในชุมชน เพื่อคิดค้นนวัตกรรมในการจัดการขยะเพื่อให้มีความหลากหลายและสามารถสร้างมูลค่าหรือให้ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจได้

 

บทความแนะนำ