โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 24 ความหลากหลายพันธุกรรมสัตว์: พันธุ์แท้ดีอย่างไร?

“หากมองถึงความหลากหลายพันธุกรรมสัตว์สิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดการเลี้ยงที่ยั่งยืนคือการคัดเลือกและพัฒนาเพื่อให้ได้พันธุ์แท้” เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากการแลกเปลี่ยนโดยคุณก้องเกียรติ ถาดทอง เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ในเมือง จ.กรุงเทพฯ ที่มีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายประเภท เช่น เป็ดสวยงาม เป็ดเนื้อ เป็ดไข่, ห่านสายพันธุ์ต่างประเทศ, ควาย, แพะ และไก่ชน และให้ความสำคัญของการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ให้ได้พันธุ์แท้

การพัฒนาพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้พันธุ์แท้

พันธุกรรมสัตว์ที่สร้างรายได้หลักของคุณก้องเกียรติ คือ ไก่ชน และแพะนม ไก่ชนถือเป็นพันธุ์หลักที่ได้พัฒนาสายเลือดจากไก่ไทยไม่ได้ผสมสายพันธุ์อื่น การพัฒนาไก่ชนต้องดูตั้งแต่ต้นตระกูลว่ามาจากสายเลือดไหน เพราะผู้เลี้ยงไก่ชนมักตามกันที่พันธุกรรมเป็นหลัก ซึ่งตรงข้ามกับเรื่องใกล้ตัวเกษตรกรในเรื่องการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ที่ทุกวันนี้ทางรัฐไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงพันธุ์แท้ แต่ส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงพันธุ์ลูกผสมที่เป็นพันธุ์การค้า เป็นพันธุ์ไข่ดก กินน้อย ซึ่งเท่ากับว่าเกษตรกรต้องซื้อจากฟาร์มตลอด

เหตุที่ทำให้เกษตรกรหาพันธุ์แท้ได้ยากนั้นมองได้ 2 แบบ คือ 1) เกษตรกรก็มองหาสายพันธุ์แท้เช่นกันแต่การได้มานั้นใช้เวลาค่อนข้าง เพราะต้องไปจองพันธุ์ล่วงหน้าตามศูนย์พันธุ์สัตว์ต่างๆ และ 2) เกษตรกรมักมองว่าการพัฒนาพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้พันธุ์แท้นั้นใช้เวลานาน ทำให้ไม่ทันกับเวลาในกลุ่มธุรกิจสัตว์บางประเภทที่ผลผลิตสู้กับพันธุ์ลูกผสมไม่ได้ อย่างกรณีของคุณก้องเกียรติได้พยายามรวบรวมและพัฒนาสายพันธุ์เลือดสัตว์ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้พันธุ์แท้ที่มีคุณภาพสูง อย่างเช่นการเลี้ยงแพะสายพันธุ์ซาแนน (Saanen goat) เป็นแพะสายพันธุ์นมที่ให้น้ำนมมาก มีปริมาณไขนมต่ำ จากการทำสถิติการรีดนมพบว่าสามารถรีดนมได้ 1 ปี และขยายพันธุ์แพะต่อในแต่ละรุ่นก็ยังคงสถิติน้ำนมได้เหมือนรุ่นแม่

การให้ข้อมูลควบคู่กับการทำการตลาด

กลไกทางตลาดของคุณก้องเกียรติ คือ การเน้นความยั่งยืนของครอบครัวก่อน ในการผลิตเป็นอาหาร จากนั้นถึงจำหน่ายสายพันธุ์สัตว์เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดกลุ่มเฉพาะไม่ใหญ่เหมือนกับระบบธุรกิจขายเนื้อขายไข่โดยทั่ว แต่เน้นให้ข้อมูลลูกค้าว่าสายพันธุ์นี้เป็นอย่างไร ดีอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจในการนำพันธุ์นั้นๆ ไปเลี้ยงต่อ หรือพัฒนาพันธุ์ขยายได้อย่างยั่งยืน

การให้เกิดความยั่งยืนในระบบการเลี้ยงปศุสัตว์ นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องพันธุ์แท้แล้ว การสร้างความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะการทำปศุสัตว์อินทรีย์มีต้นทุนการผลิตที่สูงโดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ที่เกษตรกรบางรายไม่สามารถผลิตอาหารอินทรีย์ให้สัตว์ได้ทั้งหมดและยังจำเป็นต้องซื้อปัจจัยการผลิตนอกไร่นาตนเอง ซึ่งถือเป็นประเด็นหนึ่งที่คนมักมองว่าทำไมราคาถึงแพง โดยที่ไม่ได้มองถึงการเลี้ยงเชิงระบบ และคุณค่าจากการเลี้ยงที่ให้ความสำคัญกับพันธุกรรมสัตว์ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการบริโภคหรือการเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพและยั่งยืน

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมสัตว์: ความหลากหลายเกื้อกูลต่อระบบเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืน” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร คนคืนถิ่น: ประสบการณ์การส่งต่อจากคนรุ่นบุกเบิกสู่คนรุ่นใหม่ของชุมชนแม่ทา โดย นายอภิศักดิ์ กำเพ็ญ วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่