โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2551
แปลงนารวมกลุ่มอาสาสมัครฯ

แปลงนารวมพันธุ์ข้าวของ กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์ พัฒนาและปรับปรุงพันธุกรรมพื้นบ้าน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ตั้งอยู่ที่ 151 หมู่16 บ้านกำแมด ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร โดยใช้พื้นที่แปลงของพ่อวรรณา ทองน้อย เพราะเป็นพื้นที่จุดศูนย์กลางของสมาชิกกลุ่ม ทั้งยังมีลำห้วยอยู่บริเวณใกล้เคียง หากเกิดภาวะน้ำไม่พอ สามารถสูบน้ำมาใช้ในแปลงได้

อ้ายดาวเรือง พืชผล ได้กล่าวถึงแนวคิดที่ผ่านมาของการทำงานกลุ่มอาสาสมัครฯ ว่าเกษตรกรต้องเป็นเจ้าของพันธุกรรมเอง โดยสร้างให้เป็นแหล่งรวบรวมฐานพันธุกรรมพื้นบ้าน และสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชน เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองด้านเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรและชุมชน ซึ่งแปลงนารวมนี้มีการเก็บรวบรวมพันธุ์ไว้จำนวน 13 สายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการฟื้นคืนพันธุ์ข้าวที่เคยมีอยู่ในพื้นที่แล้วหายไป รวมทั้งนำมาพัฒนาให้มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้การทำงานในแปลงนารวมของกลุ่มก็มี 3 ลักษณะคือ

1. การปลูกอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไว้หลากหลายสายพันธุ์ (ส่วนเรื่องการขยายพันธุ์ยังไม่ได้ดำเนินการมากนัก ส่วนมากเน้นขยายในพื้นที่นาของสมาชิก 12 ครอบครัวเป็นหลัก)

2. การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ โดยมีวิธีการคัดเมล็ดข้าวกล้องจากรวงที่สมบูรณ์สำหรับตกกล้า ปลูกเป็นแถวและปักดำข้าวต้นเดียว และบางส่วนก็ทำการตกกล้าเป็นรวงแล้วปลูกเป็นแถว ทั้งนี้ต้องทำการจดบันทึกคุณลักษณะพันธุ์ข้าวตามช่วงระยะการเจริญเติบโตของ ต้นข้าว ซึ่งบางครั้งก็ค่อนข้างเป็นภาระโดยเฉพาะเป็นภาระแก่ครอบครัวพ่อวรรณา ทองน้อย ที่เป็นเจ้าของแปลง ชาวนาที่จะมาทำงานด้านนี้ จึงต้องอาศัยความใจรักค่อนข้างมาก

3. การเปรียบเทียบพันธุ์ข้าว เช่น ค้นหาข้าวหอมนางนวลจากพื้นที่ต่างๆ มาปลูกเปรียบเทียบกันว่าพันธุ์จากพื้นที่ไหนมีความหอมมากที่สุด

ทั้งนี้ กลุ่มจะมีการประชุมกันทุกเดือน ในปีนี้กำหนดไว้ว่าทุกวันที่ 9 ของเดือนจะมาเจอกันที่แปลงนารวมแห่งนี้ มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ช่วยกันแก้ปัญหา และวางแผนการทำงานต่างๆ รวมทั้งมีนัดหมายมาเจอกันเพิ่มเติมตามช่วงที่จะมีกิจกรรมในแปลงนา เช่น ช่วงดำนา ช่วงเกี่ยวข้าว เป็นต้น อ้ายดาวเรือง กล่าวสรุปไว้ว่า “ที่ ผ่านมาด้วยความพยายามและใจรักของพวกเรา ถ้าทำให้สนุกมันก็สนุก เหมือนที่มีคนบอกว่าถ้าเราเข้าถึงสิ่งที่เราอยากเรียนมันก็จะสนุก และได้เห็นอะไรมากมาย”

หลังจากที่พี่น้องชาวนาภาคใต้ได้ลงไปดูแปลงนารวมและ ร่วมแลกเปลี่ยนในแปลงนาแล้ว ก็ชวนกันมาพูดคุยเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับเทคนิคการทำแปลงรวม โดยได้พ่อทองหล่อ ขวัญทอง มาช่วยให้ข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถสรุปวิธีการปลูกเพื่อคัดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ได้ดังนี้

1. การเตรียมแปลง เริ่มจากไถกลบตอซัง หว่านปุ๋ยพืชสด

2. เตรียมปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากมูลสัตว์ ปุ๋ยคอก แกลบดิบ รำอ่อน และน้ำหมักชีวภาพ โดยในแปลงรวมนี้พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ปุ๋ยครั้งละ 10 กระสอบ (กระสอบละ 18 กิโลกรัม) ใส่ในช่วงก่อนปักดำ (หรือใส่ในอัตราไม่เกิน 250 กิโลกรัมต่อไร่) ใส่เพียงครั้งเดียว หลังจากปักดำเมื่อข้าวแตกกอแล้ว จะใส่น้ำหมักชีวภาพอีกครั้งหนึ่ง

3. การเตรียมพันธุ์ข้าว เริ่มจากเอารวงข้าวที่เลือกไว้แล้วจากการเก็บเกี่ยวครั้งก่อน (เก็บไว้ในถุงผ้าเขียวและติดชื่อพันธุ์ วันที่เก็บเกี่ยว รวง-แถวที่ปลูก เป็นต้น) มาคัดเอารวงที่มีเมล็ดข้างนอกถูกต้องตามลักษณะพันธุ์ และมาสุ่มคัดจากข้าวกล้องข้างในด้วย นำไปตกกล้าเป็นรวงเลย จะไม่แยกเมล็ดออก ข้าวหนึ่งพันธุ์จะตกกล้า 50 รวง (ทำเป็น 50 หย่อมกล้า)

4. เวลาปักดำก็จะถอนกล้าจากแต่ละหย่อม (จาก 1 รวงได้ประมาณ 40 ต้น) มัดไว้แยกจากกัน แล้วจึงนำไปปักดำเป็นแถวด้วยการขึงเชือกเป็นแนว (โดยวิธีการปลูกข้าวต้นเดียว ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่าข้าวต้นไหนเป็นข้าวที่ขึ้นมาแปลกปลอม) ระยะห่างการปักดำคือ 25 X 25 เซนติเมตร (ถ้าให้ดีควรถอนกล้าทิ้งไว้ข้ามคืน ต้นกล้าจะแข็งแรง ปักดำง่าย) และควรปล่อยน้ำออกจากแปลงปักดำให้หมด ให้เป็นโครนตรมยิ่งดีอย่าให้มีน้ำอยู่บนผิว แต่ถ้าควบคุมน้ำไม่ได้ก็ควรปักดำต้นกล้าอายุมากสักหน่อย (30 วัน)

5. ทำการบันทึกข้อมูลข้าวตามช่วงเวลา ตั้งแต่วันตกกล้า วันปักดำ เรื่อยไปจนถึงวันเก็บเกี่ยว รวมทั้งลักษณะการเจริญเติบโตของข้าว

6. หลังจากปักดำแล้วสองสัปดาห์ เมื่อข้าวตั้งตัวได้แล้ว ค่อยปล่อยน้ำเข้านาพอท่วมหน้าดิน อย่าให้สูงเกินไป

7. การจัดการปัญหาศัตรูพืชมีหลายเทคนิคโดยไม่ใช้สารเคมีเลย เช่น

• การควบคุมระดับน้ำ เช่น ปัญหาปูนาและหอยเชอรี่ แก้ไขโดยช่วงปักดำใหม่ๆ พยายามอย่าให้น้ำขัง ให้ปล่อยน้ำทิ้งให้หมด เพราะปูและหอยจะหากินในน้ำ

• ถ้าเจอหอยเชอรี่ ในช่วงหลังปักดำอาจใช้วิธีการเอาปลายข้าวสารไปโรยๆ ริมคันนาให้หอยกิน หอยจะกินปลายข้าวแล้วท้องอืดตายไปเอง

• วิธีการดักปูในนา ใช้ถังพลาสติกความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ไปฝังตรงมุมนาที่ต่ำที่สุด ปูจะไต่ลงไปเองและจะปีนขึ้นมาไม่ได้ ปูตัวอื่นๆ ได้ยินเสียงก็จะตามลงไปด้วย แล้วหมั่นไปเก็บ ก็สามารถนำปูมากินเป็นอาหารได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ข้อดีของการทำงานกลุ่มคือ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน บางอย่างทำคนเดียวจะมีข้อจำกัด แต่ทำหลายคนสามารถช่วยกันได้ บางครั้งเทคนิคบางอย่างถ้าทำคนเดียวเราอาจมองข้ามไป แต่ถ้าทำหลายคนก็จะช่วยเตือนกันได้ เวทีกลุ่มจึงเป็นเวทีของการปรึกษาหารือ มีการตัดสินใจร่วมกัน ส่วนข้อจำกัดก็มีบ้าง เช่น บางทีอาจรวมตัวกันทำกิจกรรมได้ไม่พร้อมเพรียงนัก ซึ่ง พ่อทองหล่อ ก็ได้สรุปไว้ในช่วงท้ายว่า

“เป็นธรรมดาว่าถ้ารวม กลุ่มกันใหญ่เกินไปไม่สอดคล้องกับกิจกรรม ก็จะทำให้ไม่สนุกในการทำงาน…ถ้ากลุ่มใหญ่ก็อาจใช้รูปแบบเครือข่ายกลุ่ม ให้มีความสะดวกในการเดินทางมาร่วมกิจกรรม อย่างไรเสียการสร้างกระบวนการกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เกิดการช่วยกันวางแผน แก้ไขปัญหา และสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน เราต้องรักษาตรงนี้ไว้ให้ได้”

• ศูนย์สุขภาพและพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรชุมชน วัดท่าลาด

เมื่อชาวนาภาคใต้พบชาวนาภาคอีสานใน…

บทความแนะนำ