โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

มุมหนึ่งจากเส้นทางพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน เก็บตกจากโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์พัฒนาและยกระดับความรู้ เรื่องข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (ภาคอีสาน – ภาคใต้ )

                เก็บตกจาก โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์ พัฒนาและยกระดับความรู้ เรื่องข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (ภาคอีสาน – ภาคใต้ )

                เสี่ยวหรือเกลอ เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน มีควมผูกพันธ์ถึงขั้นพึ่งพาอาศัยกัน แลกเปลี่ยนบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ยาก ความเดือดร้อน ชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากิน คบหาสนิทสนมแนบแน่นและจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลดุจเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด เดียวกัน

เกษตรกรไทยในปัจจุบันมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบทุนแทบจะทุกด้าน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพการทำงานเพื่อให้สามารถกลับมาพึ่งตนเองได้มากขึ้น รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในด้านองค์ความรู้ เทคนิคต่างๆ ระหว่างกัน จึงได้ก็เกิดโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์ พัฒนาและยกระดับความรู้ เรื่องข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (ภาคอีสาน – ภาคใต้ ) ในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งเป็นการเดินทางของพี่น้องเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้สู่ภาคอีสาน

บรรยากาศท้องทุ่งอีสานวันนี้เหลืองอร่ามด้วยข้าวที่กำลังพร้อมที่จะเก็บ เกี่ยว ลมหนาวเริ่มพัดมาแล้ว แต่ท้องฟ้าก็ยังครึ้มด้วยเมฆฝน สถาพอากาศหลายปีนี้มันแปรปรวน ไม่ตรงตามฤดูกาลเหมือนดังเช่นอดีตเลย ชาวนาก็ยังคงขยันขันแข็งเพื่อให้ได้ข้าวใหม่บริโภคกันก่อนที่จะถึงฤดูกาล ผลิตใหม่ รวมถึงการได้นำไป

ทำบุญและต้อนรับผู้มาเยือนในโอกาสต่อไป

กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้านภูมินิเวศยโสธรได้มารวมตัวกันเพื่อ เป็นเจ้าภาพในการดูแลพี่น้องจากทางใต้ก่อนเป็นกลุ่มแรก พร้อมกับบรรยากาศแห่งการทักทายโอภาปราศัยในแบบพื้นเมือง ทั้งแหลงใต้ เว่าลาว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสำเนียงแบบใดพวกเราก็สามารถสื่อความหมายกันได้ ด้วยความเป็นเชื้อสายเกษตรกรร่วมกัน ที่น่าประทับใจคือพี่น้องใต้ได้หอบเอาอาหารท้องถิ่น ทั้งน้ำบูดู ปลาท่องเที่ยว แกงไตปลา ข้าวยำ ข้าวพื้นบ้านและพันธุ์ไม้ อาทิ สะตอ ขมิ้น ผักเหรียง มาแลกเปลี่ยนกับปลาร้า ส้มตำ ป่น อ่อมของทางอีสาน วงอาหารเย็นค่ำนี้จึงเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมการกินที่ลงตัวแถมยังมี สเน่ห์ในแบบที่ไม่ซ้ำใครอีกด้วย

เมื่อ มาศึกษาเรื่องข้าวแล้ว สิ่งที่พลาดไม่ได้เลยก็คงไม่พ้นการลงไปสัมผัสกับแปลงอนุรักษ์พันธุ์ข้าว เริ่มจากของพ่อถาวร พิลาน้อย ซึ่งมีการรวมรวมข้าวไว้กว่า 80 สายพันธ์ รวมถึงพืชผักสมุนไพรอีกหลากหลายชนิด ให้เราได้เห็น ได้สัมผัสกัน ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังแปลงรวมของกลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน ภูมินิเวศยโสธร ที่อยู่ในพื้นที่ของพ่อวรรณา ทองน้อย อันเป็นสถานที่ทดลอง ศึกษาและพัฒนาเรื่องพันธุ์ข้าว สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้กันของเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ของภูมินิเวศนี้ ทั้งด้านการทำงานและสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบันเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุค โลกาภิวัฒน์ แถมวันนี้ยังได้เห็นลีลาการเกี่ยว(เก็บ)ข้าวแบบใต้ที่ใช้แกะหรือแกละกับ ข้าวออกมาทีละรวง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการจัดการข้าวของแต่ละพื้นที่ โดยทางใต้จะนำข้าวมามัดรวมกันเป็นเลียง(เรียง) ตากให้แห้ง แล้วเก็บเข้ายุ้ง ส่วนอีสานจะเก็บเป็นข้าวเปลือก ซึ่งจะมีการนวดข้าวออกเป็นเมล็ด ตากให้แห้งและเก็บขึ้นฉางเช่นกัน

ได้เห็นทุ่งข้าวสีทองแล้วก็อดไม่ได้ที่จะตามรอยการเดินทางของข้าวต่อไปยัง โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ อ.กุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นโรงสีที่มีสมาชิกเป็นชาวบ้านในท้องถิ่น ร่วมกันสร้าง พัฒนาขึ้นมาร่วมกัน จนปัจจุบันสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ส่งขายยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้พอสมควร

คณะเดินทางก็มุ่งหน้าต่อไปยังจังหวัดมุกดาหาร เพื่อสัมผัสบรรยากาศของการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าริมฝั่งโขง ณ ตลาดอินโดจีน ก่อนที่จะเลียบเทือกเขาภูพานเพื่อเข้าสู่ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อพูดคุยกับเครือข่ายเกษตกรทางเลือกของที่นี่ และคุณบำรุง คะโยธา แกนนำชาวบ้านผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิของชาวนา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนผู้ผันตัวเองมาเป็นตัวแทนในการบริหารงานภายในท้องถิ่น สร้างมิติใหม่ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลไทยในการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วย วิธีการให้ภาคประชาคมท้องถิ่นสามารถตรวจสอบถ่วงดุล อบต.ได้   ผ่านตัวแทนประชาคมท้องถิ่นที่ต้องเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นใน อบต.ทุกครั้ง อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างในการทำเกษตรอินทรีย์ผ่านทางสวนครัวเศรษฐกิจพอเพียง ภายในพื้นที่ของอบต. เพื่อแสดงให้เห็นทุกพื้นที่สามารถสร้างวิถีแห่งการพึ่งตนเองได้และผู้นำที่ ดีจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ใต้ปกครองได้ ทั้งนี้ครอบครัวของคุณบำรุงยังเป็นเกษตรกรที่มีการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ที่มีตั้งแต่ ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ผักผลไม้ สมุนไพร หมูหลุม แพะ เป็ด ไก่ ปลา ที่ปราศจากการใช้เคมี มีความปลอดภัยกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง

สายนาวังยังมีประชาธิปไตยในครอบครัวที่มั่นคงแข็งแรง เพราะได้เปิดโอกาศให้กลุ่มแม่หญิง อันเกิดจากการรวมตัวกันของเหล่าแม่ๆทั้งหลาย มีสิทธิมีเสียงในงานประชาคมท้องถิ่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การทอผ้าย้อมครามธรรมชาติ การร่วมศึกษาดูงานภายนอก เนื่องจากการทำงานเกษตรอินทรีย์ที่จะมุ่งไปสู่ความยั่งยืนนั้นจะต้องอาศัย ความเข้าใจจากครอบครัว กำลังใจในการทำงานและการร่วมมือร่วมใจกันในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ดี ที่สุด ไม่ว่าเพศใดก็ตามต่างก็มีบทบาทให้งานพันธุกรรมพื้นบ้านรุดหน้าไปได้เท่า เทียมกัน

ออกจากสายนาวังมายังศูนย์อีสานมั่นยืน จังหวัสารคาม ได้ประจักษ์ว่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นเป็นระบบที่ไม่ได้ละเลยสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคเลย ผลผลิตภายในระบบจะถูกแจกจ่ายออกไปผ่านทางตลาดทางเลือกของแต่ละพื้นที่ส่งถึง มือผู้ใส่ใจสุขภาพ ต้องการอาหารที่ปลอดภัยที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้เลือกชม เลือกชิมกันอย่างจุใจ ด้วยหลักประกันในคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น ปราศจากสารเคมีเจือปนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผ่านการตรวจในระดับแปลงผู้ผลิตอย่างสม่ำเสมอ สินค้าในตลาดเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานจึงเป็นตลาดของชุมชน เพื่อชีวิตของคนในชุมชนทุกคน

หลังจากจับจ่ายสินค้าพื้นบ้านหลากชนิด จากมือผู้ผลิตที่ส่งตรงมายังผู้บริโภคแล้ว ก็ได้มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของตลาดแห่งนี้ เพื่อการขยายผลในการสร้างตลาดอาหารปลอดภัยให้กับผู้ซื้อต่อไป ก่อนที่จะมาเปิดวงพูดคุยร่วมกันอย่างเป็นกันเอง ณ อาศรมกุดร่อง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัมหาสารคาม ท่ามกลางบรรยากาศของสวนเกษตรอินทรีย์ริมแม่น้ำชี ที่สร้างความประทับใจให้หลายๆคนได้อย่างไม่น้อย ทั้งอาหารพื้นบ้านจากฝีมือเจ้าของพื้นที่และพี่น้องทางภาคใต้ ทำให้การพูดคุยเป็นไปอย่างลื่นไหล สนุกสนาน มาเยือนอีสานครั้งนี้ได้รับความรู้และความสุขกลับไปกันทั่วหน้า แถมยังได้มิตรร่วมอาชีพใหม่ที่จะก้าวไปในเส้นทางสายเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยกัน

เหล่าเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ได้รับการดูแลจากพี่น้อง อีสานเป็นอย่างดี ทั้งในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิค สารทุกข์สุขดิบจากผู้ร่วมอาชีพของภาคอีสาน ก่อให้เกิดความรู้จักสนิทสนมกัน สร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกัน ซึ่งชาวนาไทยแทบจะทุกพื้นที่ในปัจจุบันไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ยังต้องผูกติดกับระบบทุนไม่เป็นธรรม ความผันผวนของราคาผลผลิต ความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์ พัฒนาและยกระดับความรู้ เรื่องข้าวพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (ภาคอีสาน – ภาคใต้ ) จึงเป็นเสมือนการผูกเสี่ยว สร้างเกลอในการทำงานเพื่อการก้าวไปสู่ความมั่นคงและการพึ่งตนเองได้ในอนาคตสืบไป

บทความแนะนำ