โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ในแต่ละเขตจะมีรูปแบบเกษตรที่ต่างกัน ซึ่งในประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ระบบนิเวศตามธรรมชาติประกอบไปด้วยพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดใน ขณะที่ผิวหน้าดินชั้นบนเปราะบางและถูกยึดเกาะไว้ด้วยรากพืชนานาพันธุ์ อินทรีย์วัตถุส่วนใหญ่ในระบบนิเวศนี้ถูกสะสมไว้ในพืชพรรณ ซึ่งปกคลุมอยู่เหนือผิวดิน การโค่นไม้ใหญ่เพื่อทำการปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่กว้างๆ จะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างรุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบนิเวศอื่น

เขตนิเวศเกษตร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเสนอรูปแบบของระบบเกษตรกรรมในประเทศไทย มี 5 เขตสำคัญ คือ
1. เขตนิเวศเกษตรบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง หรือพื้นที่ดินพรุ
2.เขตนิเวศเกษตรในที่ราบลุ่ม
3.เขตนิเวศเกษตรในที่ราบสุง
4.เขตนิเวศเกษตรในที่ดอนและที่สูง
5.เขตนิเวศเกษตรรอบบ้านเรือน

ภาพประกอบเขตนิเวศทั้ง 5 เขตในประเทศไทย

1.เกษตรกรรมในเขตพื้นที่ดินพรุ

ดินพรุ เป็นลักษณะดินที่พบทางภาคใต้ของไทย เช่น นราธิวาส นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง ปัตตานี ในสภาพธรรมชาติจะมีสภาพพืชพรรณธรรมชาติที่เรียกว่า “ป่าพรุ” ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
ดินพรุเป็นดินที่เกิดใหม่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพชายฝั่งทะเลมีการทับถมของอินทรีย์วัตถุ และตะกอน ดินพรุจึงมีอินทรีย์วัตถุมากกว่า 35% มีสภาพเป็นกรด และน้ำท่วมขังตลอดปี

ทางเลือกของการเกษตรในพื้นที่ดินพรุ

ภาพการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในคอกและบ่อดิน

1.1 การส่งเสริมการเลี้ยงปลาในคอกและบ่อดิน
การเลี้ยงปลาพื้นเมืองในคอกทำได้ผลดี หากมีการจัดการเรื่องคอกที่เหมาะสมโดยเลือกบริเวณที่น้ำท่วมขังตลอดปี ทำคอกด้วยอวนหรือไม้พร้อมทั้งทำทางล่อปลาเข้าไปในคอกด้วย แต่ขนาดของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงควรมีขนาดใหญ่พอที่จะไม่ตกเป็นอาหารของปลาธรรมชาติ ปลาที่ควรเลี้ยง ได้แก่ ปลาดุกอุย ,ประดุกรำพัน,ปลาสลิด,ปลานิล ฯลฯ ส่วนขุดบ่อเลี้ยงปลานั้น เนื่องจากสภาพดินเป็นกรดจัดจึงต้องมีการปรับปรุงดินก้นบ่อ โดยการใช้ปูนขาวและปุ๋ยคอกใส่ในอัตรา 600 กก.ต่อพื้นที่บ่อ 1 ไร่ ที่ลึกประมาณ 1 เมตร และหว่านปุ๋ยคอกให้ทั่วประมาณ 1 ตัน/ไร่ และใส่ติดต่อกัน 2-3 ปี

ภาพการขุดโคกขนาดเล็กปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นร่วมกับการทำนากระจูด

1.2 การขุดโคกขนาดเล็กปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นร่วมกับการทำนากระจูด
กระจูดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาใช้เพื่อทำหัตถกรรม เช่น กระสอบจูด และเป็นของที่ระลึกต่างๆ จนทำให้กระจูดที่ขึ้นตามธรรมชาติร่อยหรอลงทุกขณะ สำหรับการปลูกไม้ผลไปในนากระจูดนั้นทำได้โดยการขุดเอาหน้าดินประมาณ 30 เซนติเมตร มากองรวมกันเป็น”โคก”ขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร สูงให้พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมสูงสุด แล้วปลูกไม้ยืนต้นที่ทนต่อสภาพดินกรดและน้ำท่วมได้ดี เช่น มะม่วงหิมมะพานต์ มะพร้าว เป็นต้น

13.ระบบวนเกษตรในพื้นที่ป่าพรุ
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตดินพรุ คือป่าพรุธรรมชาติเกษตรกรที่อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตชายพรุจึงอาศัยป่าพรุเป็นแหล่งทำกินมาช้านาน เช่น อาชีพถอนกระจูด การเก็บน้ำผึ้ง และของป่าอื่นๆ แต่ปัญหาที่สำคัญคือ มีการลักลอบตัดไม้เสม็ดออกมาขายซึ่งเป็นการทำลายป่าพรุอย่างรุนแรง พืชพรรณในป่าพรุส่วนใหญ่ปัจจุบันคงเหลือเพียง “เสม็ด”เป็นไม้หลัก พันธุ์อื่นๆกว่า 100 ชนิดในป่าพรุส่วนใหญ่ได้สูญหายไปเกือบทั้งหมด

การฟื้นฟูสภาพป่าพรุดังกล่าว นอกเหนือจากเป็นการจัดการทางเฉพาะเทคนิคด้านวนเกษตรแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้แนวคิดเรื่อง “ป่าชุมชน” มาดำเนินการไปพร้อมๆกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากป่าพรุและรักษาระบบนิเวศป่าพรุเอาไว้

ที่มา : หนังสือเกษตรกรรมทางเลือก : ความหมาย,ความเป็นมา,และเทคนิควิธี
คณะผู้เขียน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ/ณรงค์ คงมาก/ฐิรวุฒิ เสนาคำ/วิฑูรย์ ปัญญากุล/ไชยา เพ็งอุ่น

**ถ้าชอบการสื่อสารเนื้อหาประเภทนี้ หรือ อยากอ่านระบบนนิเวศ อีก 4 ระบบเพิ่ม สามารถแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้เลยครับ**

บทความแนะนำ