โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551
• แปลงต้นแบบบ้านกุดตาใกล้ ตำบลสายนาวัง จังหวัดกาฬสินธุ์

                 เช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 คณะชาวนาใต้-อีสาน ตื่นกันแต่เช้าและชักชวนกันไปเยี่ยมชมแปลงต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืนของบ้านกุด ตาใกล้ จำนวน 2 แปลงที่มีการปลูกพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย มีการเลี้ยงสัตว์ผสมผสานอย่างลงตัว

แปลงพี่บำรุง คะโยธา

แปลงพ่ออำนาจ วิลาศรี

                 จากนั้นได้แลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับภาพรวมงานของภูมินิเวศกาฬสินธุ์-นครพนม โดยพ่ออำนาจ วิลาศรี ได้เล่าถึงความเป็นมาของเครือข่ายว่าเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาว บ้าน มีการรวมกลุ่มตั้งธนาคารข้าว ต่อมาได้รวมกลุ่มเลี้ยงหมู ทำการผลิตอาหารเอง จนกระทั่งสามารถเข้าไปกุมสภาพสหกรณ์ ต่อมาในช่วงรัฐบาลชาติชายมีการเปิดเสรีค้าหมูทำให้บริษัทเข้ามาแข่งขันการ ค้าหมูกับทางกลุ่ม ทำให้กลุ่มหมูล้มในที่สุด และได้เข้าร่วมต้องสู้กับกลุ่มสมัชชาคนจน ในปัญหาหมูเสรี จนกระทั่งได้รับโครงการนำร่องฯ และได้ไปศึกษาดูงานจากหลายที่ จึงได้กลับมาลงมือทำอย่างจริงจังกับสมาชิกที่เหลืออยู่ 52 คน โดยเริ่มจากให้ทุกคนปลูกพริกคนละ 5 ต้น มีการเวียนไปประชุมตามแปลงสมาชิกทุกเดือน จนปี 2545-46 เริ่มต้นทำงานเรื่องพันธุกรรมข้าว เรื่องการเก็บพันธุ์ไว้เองและสรุปกันว่าจะรักษาไว้อย่างน้อย 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวก่ำ ข้าวกอเดียว ข้าวเล้าแตก ข้าวมะลิแดง ข้าวเจ้าแดง โดยให้คณะกรรมการ 13 คนเป็นผู้ทำการรักษา

                 นอกจากนี้ในปัจจุบันเริ่มพบปัญหาเบาหวานในชุมชน (เกือบถึง 50%) คนที่เป็นก็อายุน้อยลง เมื่อมาศึกษาก็พบว่าแต่ก่อนคนเฒ่าคนแก่กินข้าวหลากหลายสายพันธุ์ปนกัน แต่ทุกวันนี้กินแต่ กข.6 จึงมีแนวคิดจะทดลองให้กลุ่ม อสม. ที่เป็นเบาหวานลองกินข้าวมะลิแดงกับข้าวก่ำที่เชื่อว่าลดเบาหวานได้ เพื่อทดสอบดูว่าข้าวเป็นยาจริงหรือไม่ เป็นการมองข้าวที่มากกว่าเพื่อการขายเพียงอย่างเดียว ซึ่งพ่ออำนาจกล่าวสรุปไว้อย่างชัดเจนว่า “อำนาจของเราคือต้องอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไว้ในมือ”

                 ถัดจากนั้นทางกลุ่มแม่หญิงได้ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการทำงานของกลุ่มแม่บ้านกุดตาใกล้ โดยแม่ตุ่ม (กาฬสินธุ์ วิลาศรี) เป็นตัวแทนกลุ่มแม่หญิงบอกเล่าถึงที่มาของกลุ่มว่าเกิดจากปี 2532 แม่บ้านที่เป็นเครือญาติกันได้มารวมตัวกันทอผ้าไปขาย ปี 2541 ได้ไปดูงานย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้ ในปี 2548 นายก อบต. บำรุง คะโยธา ก็ได้ผลักดันเรื่องของกลุ่มผู้หญิง ให้ผู้หญิงได้เข้าร่วมประชุมทำประชาคม จนปี 2550 มีงบจาก อบต.มาสนับสนุนเรื่อง “คราม” มีการทำแปลงปลูกครามมาใช้ย้อมผ้าและพัฒนาเป็น “กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหมย้อมคราม บ้านกุดตาใกล้” โดยมีแม่บ้านเข้ามาเป็นสมาชิกทั้งหมู่บ้าน 80 ครอบครัว ดำเนินกิจกรรมทั้งทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายย้อมครามและการแปรรูปมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้กลุ่มแม่หญิงยังได้มีการแปรรูปสมุนไพร แปรรูปข้าวและทำขนมมากมาย เช่น ทำข้าวฮาง ข้าวโป่งว่าว โดยทางกลุ่มไม่ได้มุ่งเน้นทำการตลาดเพื่อขาย แต่จะจำหน่ายตามโอกาสที่มีคนมาเยี่ยมชมหรือไปจัดแสดงในงานต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งการแลกเปลี่ยนครั้งนี้กลุ่มแม่หญิงก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็น ชาวนาแม่หญิงจากภาคใต้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย เพราะโอกาสของผู้หญิงในการไปเรียนรู้ต่างพื้นที่ยังมีน้อย และอยากให้มีผู้หญิงหลายๆ คนมาช่วยกันสืบทอดภูมิปัญญาของผู้หญิงและได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนกันมากยิ่ง ขึ้น

• อบต.เกษตรอินทรีย์ ที่ตำบลสายนาวัง จังหวัดกาฬสินธุ์

                 ช่วงสายคณะชาวนาใต้-อีสาน ได้เดินทางไปยังสำนักงาน อบต.สายนาวัง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกับพี่บำรุง คะโยธา แกนนำที่ทำงานด้านเกษตรยั่งยืนมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายก อบต. สายนาวังด้วย ทำให้มีการนำงานด้านเกษตรยั่งยืนเข้ามาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่าง เป็นรูปธรรม ซึ่งพี่บำรุง ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการทำงานว่าได้นำประสบการณ์จากอดีตรวมทั้งองค์ความรู้ ที่เกิดจากโครงการนำร่องฯ มาปรับประยุกต์ใช้กับการทำงานใน อบต. ซึ่งช่วงแรกก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เปรียบเสมือนแกะดำใน อบต. เพราะพี่บำรุงต้องการบริหารงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิเสธการทุจริตคอรัปชั่นทุกชนิด ก็นับว่ายากลำบากพอสมควรเพราะการทุจริตคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ใน หน่วยงานภาครัฐทุกระดับ ประกอบมองว่า 90% ของสมาชิกชุมชนก็เป็นชาวนา ดังนั้นการทำงานของ อบต. ก็ต้องมาพัฒนาคุณภาพชีวิตในส่วนนี้เป็นหลัก ไม่ใช่ไปเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหมือน อบต.อื่นๆ พี่บำรุงกล่าวในช่วงหนึ่งว่า

“สิ่งสำคัญอยู่ที่ความมุ่ง มั่น ตั้งใจว่าจะเดินบนเส้นทางนี้ ผมเชื่อว่างบประมาณเท่าที่มีของ อบต. 5-6 ล้านกว่าบาท สำหรับประชากร 800 ครัวเรือน ถ้ามาทำตรงนี้จะทำให้ชีวิตคนเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้มาก ขอให้ทำจริงๆ”

                 ทั้งนี้ พี่บำรุง ได้ฝากถึงกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการทำงานกับ อบต. ว่าสามารถทำผ่านประชาคม และพัฒนาแผนร่วมกับ อบต. ได้ ในช่วงกลางปี (เดือนมิถุนายน) เพื่อปรับแผน 3 ปี และเมื่อถึงเดือนสิงหาคมก็ทำข้อบัญญัติออกมาได้ โดยเฉพาะถ้าเชื่อมโยงประเด็นเกี่ยวกับการลดโลกร้อน หรือ ประเด็นเศรษฐกิจพอเพียงที่ภาครัฐเปิดช่องไว้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วใน อบต.จะมีเรื่องผลประโยชน์ค่อนข้างมาก การที่จะลงมาทำเรื่องคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอย่างจริงจังยังมีอยู่น้อย ดังนั้นกลุ่มชาวบ้านจำเป็นต้องสร้างพลังเข้าไปกดดันหรือต่อรองกับ อบต. ด้วย เช่น เสนอเชิงนโยบายว่าคนที่จะมาเป็น นายก ต้องทำเรื่องอะไรบ้าง เป็นต้น

• ตลาดนัดสีเขียว จังหวัดมหาสารคาม

                 ช่วงบ่ายๆ ของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 คณะชาวนาใต้-อีสาน ได้เดินทางมาถึงตลาดสีเขียว เมืองมหาสารคาม และได้เดิมชมและสอบถามเกี่ยวกับสินค้าอินทรีย์ ทั้งพืชผัก ข้าว ขนม และเนื้อสัตว์ต่างๆ กับบรรดาแม่ค้ากลุ่มตลาดสีเขียวก่อนที่จะชวนกันมาพูดคุยถึงเรื่องราวของตลาด แห่งนี้

                 พี่ฐิติพร สกุลจร ผู้ประสานงานตลาดสีเขียว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมหาสารคาม ได้เป็นตัวแทนกล่าวถึงความเป็นมาของตลาดแห่งนี้ว่าเริ่มเปิดตลาดครั้งแรกวัน ที่ 15 ธันวาคม 2547 เป็นตลาดนัดทุกวันพุธ เปิดครั้งแรกมีคนมาน้อยมาก ก็พยายามเรื่อยมา สร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคในเมือง จนกระทั่งผู้บริโภคมีความเข้าใจในสินค้าอินทรีย์และมั่นใจในสินค้าของตลาด มากขึ้น เมื่อตลาดเริ่มเข้าที่ก็ได้ขยายตลาดไปที่โรงพยาบาลเมืองมหาสารคามในปี 2548 และขยายไปที่สวนสันติภาพในปี 2549 ส่วนปีนี้ก็มีการเปิดตลาดสีเขียวในมหาวิทยาลัยมหาสารคามด้วย โดยผู้ที่จะเข้ามาขายสินค้าในตลาดทางคณะกรรมการก็ได้ออกระเบียบไว้ว่า ต้องเป็นสมาชิกของตลาด ต้องมีหุ้นหรือเงินออมในกลุ่มผู้ผลิตของตลาดสีเขียว และต้องผ่านการตรวจแปลงจากคณะกรรมการตลาด ซึ่งจะมีการตรวจสอบสินค้าที่นำมาจำหน่ายที่ตลาดกับผลผลิตที่มีในแปลงด้วยว่า ตรงกันหรือไม่ โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ช่วยในการดูแลเป็นหลัก เพราะตลาดแห่งนี้เป็นของทุกคน สมาชิกต้องช่วยกันดูแลรักษา

                 นอกจากนี้วงพูดคุยได้ชวนกรรมการตลาดสีเขียวที่เป็นเกษตรกรในเครือข่ายฯ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการทำงานที่ผ่านมาของตลาด เอื้อยหวาน หรือ นางรัศมี ตะนัน ได้เล่าถึงการทำงานวิจัยเรื่องมาตรฐานตลาดสีเขียว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพืชผักจะปลอดสารพิษอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบันเห็นว่ามีตลาดสีเขียวเกิดขึ้นมากในเมืองมหาสารคาม ก็ค้นหาข้อตกลงหรือมาตรฐานทั้งในระดับแปลง การเข้ามาขายในตลาด การตรวจสอบผลผลิต โดยร่วมมือกับโรงพยาบาล เทศบาล สสส. สปก. ผู้บริโภค และเครือข่ายเกษตร จนเป็นเครือข่ายการทำงานที่อยู่ในเมืองมหาสารคาม

                 ทั้งนี้ ระหว่างที่นั่งล้อมวงพูดคุยกันก็มีการนำสินค้าในตลาดสีเขียวมาให้ชิมกัน บางคนก็เอาพันธุ์ผักพื้นบ้านที่แปลกๆ มาแลกเปลี่ยนกับพี่น้องภาคใต้ ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างสนุกสนาน

บทความแนะนำ