ความเป็นมา ข้าวทับทิมชุมแพ เกิดจากการผสมพันธุ์ของสายพันธุ์ข้าวระหว่างข้าวเจ้าขาวดอกมะลิ ซึ่งเป็นสายพันธุ์กลายที่มีลักษณะ ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้ ไม่ไวต่อช่วงแสงเป็นแม่พันธุ์ กับข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยดพัทลุง ซึ่งเป็นข้าวเจ้าที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ไวต่อช่วงแสง อายุหนัก ต้นสูง มาเป็นพ่อพันธุ์ ความเป็นมาของข้าวทับทิมชุมแพนั้นเกิดขึ้นที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ในฤดูนาปรัง 2549 ได้มีการคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมแบบสืบตระกูล ชั่วที่ 1 – 6 ในฤดูนาปี 2549 – 2554 ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ และชั่วที่ 7 ในฤดูนาปี 2555 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ โดยปลูกแบบเปรียบเทียบผลผลิตในสถานีในฤดูนาปี 2556 หลังจากนั้นนำผลผลิตมาวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางเคมี ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีโนลิกและลาโวนอยด์และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคราม ปลูกประเมินลักษณะประจำพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ และทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญในฤดูนาปี 2557 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์2.ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา 3.ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร 4.ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น 5.ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ 6.ศูนย์ข้าวหนองคาย 7.ศูนย์วิจัยข้าวอุดรธานี ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในแปลงนาเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 แห่ง รวมทั้งปลูกทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนที่ศูนยิ์จัยข้าวอุดรธานี และประเมินการยอมรับของเกษตรกร จังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา ในฤดูนาปี 2558 ประเมินการยอมรับของผู้ใช้ประโยชน์ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2558 ประเมินการยอมรับของเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์ ผู้ประกอบการ ปละผู้บริโภคที่จังหวัดขอนแก่น นครศรีธรรมราช และ กรุงเทพมหานคร วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพทางเคมี และการหุงต้มรับประทานเพื่อการรับรองพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี พ.ศ.2559
ลักษณะพันธุ์ เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 106 วัน มีลักษณะกอตั้งตรง ความสูงประมาณ 113 เซนติเมตร ลำต้นแข็งมาก ใบสีเขียว ปลายใบอยู่ในแนวตั้ง ใบแก่ช้า ใบธงยาว 43.6 เซนติเมตร กว้าง 2.14 เซนติเมตร มุมใบธงตั้งตรง รวงยาว 28.7 เซนติเมตร ลักษณะรวงแน่นปานกลาง คอรวงสั้น จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 167 เมล็ด เมล็ดร่วงยาก เปลือกสีฟาง ข้าวเปลือกมีความยาวเฉลี่ย 10.17 มิลลิเมตร กว้าง 2.47 มิลลิเมตร หนา 1.96 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีแดง มีความยาวเฉลี่ย 7.75มิลลิเมตร กว้าง 2.04 มิลลิเมตร หนา 1.74 มิลลิเมตรจัดเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาว รูปร่างเมล็ดเรียว (อัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง 3.80)ลักษณะท้องไข่ขุ่นทั้งเมล็ด คุณภาพการสีดีได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 49.40 คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี โดยข้าวสารหุงสุกนุ่ม ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือหุงสุกนุ่มข้าวกล้องหุงสุกมีสีแดงใสคล้ายสีของทับทิม (Ruby) ระยะพักตัวของเมล็ด 6 สัปดาห์
ลักษณะเด่น ข้าวทับทิมชุมแพมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีนอลิกสูง และฟลาโวนอยด์สูง ซึ่งสูงกว่าข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุง (ปริมาณฟีโนลิก 4,661.05มิลลกรัมต่อ100กรัม และปริมาณฟลาโวนอยด์ 2,989.21 มิลลกรัมต่อ100กรัม) โดยสารต้านอนุมูลอิสระทั้งสองมีส่วนช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ช่วยให้เม็ดเลือดไม่จับตัวเป็นก้อนจนอุดตัน ป้องกันการเกิดมะเร็ง อีกทั้งยังมีปริมาณอมิโลสต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อหุงสุกจะนุ่มมาก
แหล่งอ้างอิง https://www.thairicedb.com/rice-detail.php?id=10