กิจกรรมครั้งนี้จัด ขึ้นเพื่อให้เกิดการแลก แบ่ง ปันพันธุ์ข้าว เพื่อให้เกิดการขยายผล เป็นการสร้างวัฒนธรรมอันดีงามซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง มีองค์กรร่วมจัดหลายองค์กร มีการแบ่งปัน และการแลกเปลี่ยน ซึ่งหากเยาวชน เด็ก ได้มาร่วมจะทำให้เด็กจดจำ ว่าปู่ย่าตายาย มีวัฒนธรรมดีงามอย่างไร จะได้จดจำสิ่งดีๆ กิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการช่วยอนุรักษ์พื้นที่ทำนา ซึ่งแม้มีอยู่น้อยในภาคใต้ แต่ข้าวก็ถือเป็นพืชสำคัญ เด็กๆ เยาวชน ๆ จะได้นำแนวคิดไปสู่การบอกกล่าวต่อผู้ใหญ่ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว รวมทั้งยินดีที่จะรับข้อคิดเห็นในการอนุรักษ์พันธุ์ แลกเปลี่ยน การแบ่งปัน และการจัดทำกองทุนพันธุ์ข้าวต่อไป….” และก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหากิจกรรมต่างๆ คุณสถาพร ตัมพวิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงได้มาแนะนำสถานที่และเล่าถึงความเป็นมาของ งานครั้งนี้ว่า
“…ศูนย์วิจัยข้าวเริ่มมี ความสัมพันธ์กับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้มีกิจกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะร่วมกับชาวนาจากพื้นที่ 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ในการปลูกข้าวพื้นบ้านในแปลงนารวมของศูนย์วิจัย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดงานที่ใช้ชื่อว่า “ออกปาก กินนาวาน ข้าวพื้นบ้าน สืบสานวิถีนา” เพื่อช่วยกันดำนาปลูกข้าวและได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงคน ก่อนมาร่วมงาน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ก็บอกว่าโครงการนี้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากสมควรประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะเป็นเรื่องของการสืบสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน หลังจากนั้นได้มีการดูแลรักษาร่วมกันจนกระทั้งเก็บเกี่ยวมาเป็นเมล็ดพันธุ์ ข้าวพื้นบ้านที่เห็นอยู่นี้ ซึ่ง กิจกรรมดังกล่าวสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมได้มาก รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อสรุปบทเรียนร่วมกันอีกด้วย…” คุณสถาพร ตัมพวิสิฏฐ์ ทั้งนี้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนั้นก็มีอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การแจก แลก แบ่งปันพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน การให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและวิถีชาวนา การนำเสนอกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาค ประชาชนกับศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เวทีพูดคุยแลกเปลี่ยน การแถลงข่าว ไปจนถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งสามารถประมวลได้ดังนี้
1. นำเสนอกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านทางเลือกภาคใต้ เป็นกิจกรรมแนะนำ “กองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านทางเลือกภาคใต้” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างชาวนาในสามจังหวัดลุ่มทะเลสาบสงขลา ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และองค์กรพัฒนาเอกชน ในการทำนารวมในพื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เนื้อที่ 10 ไร่ จนกระทั่งได้เป็นกองทุนเมล็ดพันธุ์จำนวน 8 สายพันธุ์ ได้แก่ ช่อจังหวัด เล็บนก เข็มทอง ไข่มดริ้น หอมจันทร์ นางกลาย เหนียวเหลือง เหนียวตอก โดยในงานมีการนำเสนอหลักเกณฑ์แนวทางการบริหารจัดการกองทุนฯ แนวทางในการขยายผลกองทุนฯ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านลงไปสู่ชุมชนและแปลงนาของเกษตรกร รวมทั้งมีกิจกรรมมอบพันธุ์ข้าวจากกองทุนฯให้กับกลุ่ม/องค์กรต่างๆ ที่เป็นแกนหลักในการนำกองทุนฯ ดังกล่าวไปขยายผลต่อไป
2. แบ่งปันพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านภาคใต้ เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาจุดรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านใน พื้นที่ต่างๆ โดยมีการลงทะเบียนกลุ่ม/เครือข่ายพื้นที่มีความสนใจ เพื่อจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มี่อยู่ให้แต่ละกลุ่ม/เครือข่าย พื้นที่นำกลับไปปลูกอนุรักษ์และขยายผล โดยทุกกลุ่ม/เครือข่ายพื้นที่ที่ลงทะเบียนไว้ จะได้รับพันธุ์ข้าวที่มาจากแปลงนารวมศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงจำนวน 8 สายพันธุ์ ได้แก่ ช่อจังหวัด เล็บนก เข็มทอง ไข่มดริ้น หอมจันทร์ นางกลาย เหนียวเหลือง และเหนียวตอก
3. แลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เป็นกิจกรรมออกซุ้มของแต่ละข่ายพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกับผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ซุ้มของวิทยาลักเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง ซุ้มเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ และซุ้มเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน เป็นต้น ซึ่งบางซุ้มก็มีการจัดเตรียมหุงข้าวพื้นบ้านที่เด่นๆ ในพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมและชิมอีกด้วย ซุ้มของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ซุ้มของวิทยาลักเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง ซุ้มของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ซุ้มของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
4. เวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนขบวนการชาวนาทางเลือก เป็นวงสนทนาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ เช่น สถานการณ์ข้าวพื้นบ้านไทย ขบวนการชาวนาทางเลือก องค์ความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน และแนวทางการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาประเด็นข้าวพื้นบ้านไทย ดังนี้ ปาฐกถานำ โดย คุณเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ คลิกเพื่อดาว์นโหลดเนื้อหาเวที วงเสวนาพูดคุย “ขบวนการชาวนาทางเลือก” โดย คุณอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน และ คุณประพัฒน์ จันทร์อักษร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ดำเนินรายการโดย คุณสวาท จันทมาส คลิกเพื่อดาว์นโหลดเนื้อหาเวที วงเสวนาพูดคุย “องค์ความรู้พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านไทย” โดย คุณบุญรัตน์ จงดี ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี คุณสำเริง แซ่ตัน ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง คุณอำมร สุขวิน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเมืองลุง และ คุณนุจนาด โฮมแพน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ดำเนินรายการโดย คุณนาถพงศ์ พัฒนพันธ์ชัย คลิกเพื่อดาว์นโหลดเนื้อหาเวที
5. กิจกรรมอื่นๆ ที่มีในงาน เช่น
1) การเชื่อมโยงวิถีวัฒนธรรมชาวนาผ่านกิจกรรมรับขวัญข้าว
2) การแถลงข่าวปฏิญญาชาวนาทางเลือกภาคใต้ “ฟื้นคืนข้าวพื้นบ้าน ปกปักษ์วิถีชาวนา” คลิกเพื่อดูเนื้อหาปฏิญญาชาวนาทางเลือกภาคใต้ “ฟื้นคืนข้าวพื้นบ้าน ปกปักษ์วิถีชาวนา”
3) กิจกรรมออกบูธและนิทรรศการให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ สาธิตการแปรรูปขนมจีน ให้ความรู้การทำน้ำข้าวกล้องงอก กิจกรรมเยาวชน กิจกรรมรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก”
4) การถ่ายทอดสดเสียงตลอดงานทางสถานีวิทยุเพื่อสุขภาพ http://healthyradio.org และ คลื่นวิทยุชุมชนจังหวัดสงขลา คลื่น 101.0 (อ.รัตภูมิ) คลื่น 101.0 (อ.หาดใหญ่) คลื่น 101.5 (อ.ท่าข้าม) และคลื่น 98.25 (อ.ควนเนียง) และวิทยุชุมชนจังหวัดพัทลุง
กล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นการจุดประกายให้เห็นถึงคุณค่าและความหมายของพันธุ์ ข้าวพื้นบ้านที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของชุมชนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ความเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ การสอดรับกับรสนิยมการบริโภคและวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งเป็นคุณค่าและความหมายที่มากกว่ามิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการก่อเกิดงานครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่าง ภาคประชาชนและภาครัฐในการขยายผลการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของขบวนการภาค ประชาชนในการยืนยันสิทธิในปัจจัยการผลิตบนฐานคิดที่ว่าทรัพยากรพันธุกรรม เป็นสมบัติสาธารณะ และอยู่บนฐานการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ โดยต้องไม่ถูกผูกขาดจากกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังเสียงสะท้อนของ พี่สมพร รัตนมาศ ที่ว่าไว้… “…แม้ว่าเหนื่อยแม้ ว่ามีอุปสรรค เราก็ต้องทำต่อไป เราคิดว่าทำไว้ให้ลูกหลานไม่ต้องเป็นทาสของบริษัท เมล็ดพันธุ์ข้าวก็เหมือนกระสุน ถ้าไม่มีก็เหมือนปืนไม่มีกระสุน แม้วันนี้ไม่สำเร็จ อีกไม่นานก็สำเร็จ ไม่มากก็น้อย…” “แลก…แบ่ง…ปัน…พันธุ์ข้าวแต่แรก” วันที่ 6 มิถุนายน 2552 (ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6) จัดโดย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ องค์กรร่วมจัด เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง มูลนิธิชีวิตไท มูลนิธิชีววิถี สนับสนุนโดย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ โครงการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ นวัตกรรมชุมชน นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)