เวทีแลกเปลี่ยนพันธุกรรมเครือข่ายเกษตรกรรมยั้งยืนภาคเหนือตอนบน ณ ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่าน ตอน ผู้เก็บเชื้อพันธุ์ธัญญาหาร
ช่วงหลังมานี้ห่างหายจากบรรยากาศ ธรรมชาติ กางเต็นท์ท่ามกลางหมู่ดาวบนดอยสูงมาเสียนาน จึงได้ตกปากรับคำมาเป็นหนึ่งในคณะร่วมเดินทางสหายท่านหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้พบปะกันเป็นครั้งคราในหลายเส้นทางแถบภูสูงแห่งนี้ ด้วยความตั้งใจว่าหน้าร้อนแบบนี้หลังจากสำรวจธารน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว น่าจะได้มีโอกาสมานั่งฟังสรรพเสียงตรงกลางลานหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำปัว ณ ดอยภูคาได้อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยสภาวะของร่างกายที่พักหลังมานี้ไม่ค่อยจะได้สมบุกสมบันนัก ได้แต่นั่งๆนอนอยู่เป็นส่วนใหญ่ จึงเริ่มส่งสัญญาณร้องขอการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เลยส่งผลให้อาการเริ่มกลายเป็นนอนแผ่ลงไปเสียมากกว่า จักจั่นเรไรที่เคยส่งเสียงแข่งขันกันเมื่อช่วงพลบค่ำเริ่มหายไป ความเงียบและความมืดค่อยๆปกคลุม พร้อมๆกับสายฟ้าที่พาดผ่านลงมา ขณะเดียวกันฝนก็เริ่มลงเม็ดหนักขึ้น จนต้องรีบหาที่หลบให้คนและเต็นท์กันอย่างจ้าละหวั่น ใครจะเชื่อว่าฝนจะตกหนักในเดือนเมษายนแบบนี้ แถมใครจะเชื่อได้อีกว่าในดินแดนที่อยู่ห่างไปจากนี้เลาะไปตามด้ามขวานหลาย ร้อยกิโลเมตรกำลังเผชิญกับสายน้ำอันหนักหน่วง มหาศาลในช่วงก่อนหน้านี้ อากาสมันช่างแปรปรวนจริงๆ
คืนนี้เลยได้เปลี่ยนมานอนรวมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ พร้อมๆกับเสียงดนตรีขับกล่อมจากหลายๆท่าน ทำให้รู้สึกอบอุ่นดีพิลึก เลยนึกถึงภารกิจก่อนหน้านี้ที่ได้กระทำร่วมกันมา ที่ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เพื่อมาพบเจอเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหลากหลายชนิดในงาน แลกเปลี่ยนพันธุกรรมของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือตอนบน อันประกอบด้วยตัวแทนจากแพร่ น่าน เชียงราย พิษณุโลก และแม่ฮ่องสอน
ข้อสงสัยมากมายเริ่มผุดขึ้นในหัวของฉันเอง โดยเฉพาะ เรื่องพันธุกรรมพื้นบ้าน การแลกเปลี่ยน ความรู้ภูมิปัญญา และเรื่องราวอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการหยั่งราก เติบโต ช่างยิ่งใหญ่กว่าที่คิดไว้เหลือเกิน จนต้องเข้ามาร่วมเรียนรู้กับเพื่อนพ้องพี่น้องเกษตรกรหลายท่าน โดยเฉพาะก่อนการเพาะปลูกหว่านไถแบบนี้แล้ว เชื่อได้เลยว่า การจัดการพันธุกรรมข้างโดยเกษตรกร โดยเฉพาะการเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง คงเป็นหัวข้อหลักที่ดึงดูดให้สหายของฉันเดินทางมาไกลได้ถึงเพียงนี้
ในช่วงเช้าของวันแรกจึงได้ได้มาทำความรู้จักกับสถานที่ซึ่งจะเปิดให้ได้เข้า มาเรียนรู้ ซึ่งครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า โจ้โก้ ก็อดที่จะนึกเสียไม่ได้ว่าน่าจะเป็นชุมชนที่ตั้งโดยชาวต่างชาติแน่ๆ เพิ่งมารับรู้ว่าแท้จริงแล้วคำนี้เป็นภาษาไทย กำเมืองแต้ๆ(คำเมืองเหนือ) โดยหมายถึง ที่สูง ที่เนิน ซึ่งมาจากชื่อหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ตรงเนินเขานั้นเอง ศูนย์แห่งนี้เป็นหน่วยประสานงานด้านเกษตรของมูลนิธิฮักเมืองน่าน ซึ่งมีท่านพระครูพิทักษ์นันทคุณ เป็นประธาน โดยมีคุณสำรวย ผลัดผล เป็นหัวเรือใหญ่ของศูนย์โจ้โก้แห่งนี้ ซึ่งหลังจากกล่าวต้อนรับด้วยมิตรไมตรีแล้ว คุณสำรวยยังได้ให้ทำความเขาใจเบื้องต้นของคำที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพันธุ กรรมเราจะต้องรู้ ไม่ว่า
– ความหลากหลายของชนิดพืช ซึ่งเกิดจากกการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ทำให้เรามีพันธุกรรมที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมากมาย โดยเฉพาะธัญพืชอาหารแล้วบนโลกเรามีหลายชนิดมาก ในปัจจุบันนั้นมีเพียงสี่ชนิดที่คนให้ความสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลีและข้างโอ๊ต
– ความหลากหลายของระบบนิเวศน์ เป็นความแตกต่างของพื้นที่อันเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด ซึ่งอาจจะมีที่ราบลุ่ม ที่สูง ที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ภู เป็นต้น จึงก่อเกิดการปรับตัวของพืชให้เหมาะสมกับนิเวศที่อยู่อาศัยได้
– ความหลากหลายทางพันธุ์ พืชแต่ละชนิดย่อมมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันมากมาย อย่างหากเอ่ยถึงข้าว ก็จะเป็นชนิด ซึ่งนึกถึงพันธุ์คงจะนึกกันไม่หมดเป็นแน่ จากที่ธนาคารเชื้อพันธุ์ กรมการข้าวได้ทำการรวบรวมไว้พบว่า มีข้าวที่ไม่ซ้ำชื่อกันถึงกว่าสองพันสายพันธุ์เลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ข้าวก่ำ ข้าวสังหยด ข้าวเล้าแตก ข้าวพญาลืมแกง ข้าวบือหมื่อ ข้าวลาย ข้าวปการัญโดล(ดอกลำดวน) ดอกพะยอมไร่ เป็นต้น
– ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พันธุกรรมมีความหลากหลาย เนื่องจากการใช้ประโยชน์พืชแต่ละชนิดของมนุษย์มีความต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม วิถีชีวิต เช่น การบริโภคข้าวเจ้าเมล็ดสั้นของคนปกาเกอญอทำให้มีการรักษาข้าวสายพันธุ์พื้น บ้านไว้ในครอบครัว เช่น ข้าวบือกี่โพ บือโป๊ะโหละ บือกว่า บือซูคี เป็นต้น