โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 1 ชาวนาต้องเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าว บนฐานความหลากหลายสายพันธุ์ : ดาวเรือง พืชผล

          “ชาวนาต้องเป็นเจ้าของพันธุ์บนฐานการรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว”  ดาวเรือง พืชผล ประธานกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ได้กล่าวย้ำให้เห็นถึงความเป็นชาวนาในตัวตนของเขา ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมข้าว ความหลากหลายที่ท้าทายสถานกาณ์ปัจจุบัน” ภายใต้งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 ที่จัด ขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา

          กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ตำบลกำแมด ได้มีการรื้อฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ได้หายไปหรือลดลงของชุมชนมานานเกือบ 20 ปี หลังจากการทบทวนการทำนาที่ต้องเร่งผลิตเพื่อขาย มีการใช้ปุ๋ยเคมี อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่เคยมีอยู่ในชุมชนได้หายไป หรือลดลงถึง 62 สายพันธุ์ เหลือเพียงข้าวมะลิ 105 และข้าว กข.6 ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ข้าวไม่พอกิน  ดาวเรือง ได้ฉายให้เห็นภาพชัดว่า “ข้าวถือเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่ด้วยระบบการทำนาเพื่อตอบสนองการค้า ต้องเร่งผลผลิตให้ได้หลายรอบต่อปี ส่งผลให้ข้าวมีความแปรปรวนอ่อนไหว ในพื้นที่นาน้ำฝนไม่สามารถผลิตข้าวได้หลายรอบต่อปีตามความประสงค์ที่มาส่งเสริม จนถึงปัจจุบันถึงแม้มีความถึงแม้มีความพยายามจากหน่วยงานรัฐในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่พบว่าบางครั้งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เช่น การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง แต่เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ พันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงมานั้นไม่เหมาะสมกับน้ำท่วมที่มีลักษณะน้ำขุ่น ข้าวจึงไม่เจริญเติบโต”

การกลับคืนมาของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านในชุมชน

          การได้มาของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่สูญหาย หรือลดลงไปนั้น เริ่มต้นจากที่ชุมชนได้ทบทวนสาเหตุและผลกระทบของการลดลงพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน แล้วต่างตระหนักเห็นความสำคัญพร้อมที่นำพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกลับคืนมาในแปลงนาของชุมชน การได้มาของพันธุ์ข้าวนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น จากชาวนาสู่ชาวนา โดยผ่านการแลกเปลี่ยนพันธุ์ของกลุ่มชาวนากันเองที่พบว่ายังมีข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่หลงเหลือ และยังคงปลูกกันอยู่ และการรวมตัวของชาวนาเพื่อขอเชื้อพันธุ์ข้าวจากธนาคารเมล็ดพันธุ์ และด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนจากชาวนาสู่ชาวนานี่เองที่ทำให้การกลับคืนมาของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกระจายไปให้กับชาวนาทั้ง 4 ภาคอย่างรวดเร็ว

กระบวนการรื้อฟื้นของพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

กลุ่มใช้ความรู้ภูมิปัญญาเดิมของชุมชนมาประสานกับความรู้ใหม่ในการฟื้นข้าวพื้นบ้าน เช่น

  • การทำนาในอดีต ชาวนาเลือกใช้พันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ในชุมชน หากเป็นที่ดอนหรือโคกจะเลือกใช้ข้าวอายุสั้น (ข้าวเบา) ที่ลุ่มหรือนาทุ่งใช้พันธุ์ข้าวอายุปานกลาง (ข้าวกลาง) ส่วนพื้นที่ทามหรือนาลุ่มมีน้ำท่วมขังใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวนาน (ข้าวหนัก) ส่งผลดีต่อการใช้แรงงานในการทยอยการเก็บเกี่ยว และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ที่สำคัญเป็นหลักประกันว่า ในแต่ละปีจะมีข้าวกิน ความรู้เดิมนี้ได้นำมาใช้ เมื่อมีการรื้อฟื้นพันธุ์ข้าวกลับคืน ด้วยการเลือกพันธุ์ข้าวปลูกให้เหมาะสมตามสภาพื้นที่ สามารถสร้างความหลากหลายของพันธุกรรมข้าว และเป็นหนทางที่นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร
  • ในอดีตชาวนาคัดเลือกพันธุ์ข้าวเอง โดยคัดเลือกจากรวง จากเมล็ด ซึ่งชาวนาต้องรู้ว่าลักษณะของพันธุ์ข้าวที่ต้องการคัดพันธุ์นั้นเป็นอย่างไร มีอายุเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ การแตกกอเป็นอย่างไร รสชาติเป็นแบบไหน ด้วยวิธีการนี้ ทำให้ชาวนาเป็นเจ้าของพันธุ์ เมื่อนำพันธุ์ข้าวมารื้อฟื้น การรู้จักลักษณะพันธุ์และศักยภาพของสายพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดมีความจำเป็น

ชาวนากับการคัดพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์แท้

          การคัดพันธุ์ให้ได้คุณภาพตรงตามสายพันธุ์ ต้องอยู่ในมือของชาวนา ทั้งนี้ชาวนาต้องคำนึงถึงศักยภาพของพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด ที่มีลักษณะแตกต่างกันไป จำเป็นที่ต้องรู้ซึ้งถึงลักษณะสายพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดที่ต้องการคัดพันธุ์ ไม่ว่าอายุการเก็บเกี่ยว ลักษณะสีเมล็ด การแตกกอ ลักษณะใบธง ความสูง สีใบ ฯลฯ แล้วนำเมล็ดมาแแกะเปลือก เพื่อดูลักษณะภายใน ต้องดูไปถึงแกน เช่น ข้าวเหนียวต้องมีลักษณะเมล็ดสีขาวขุ่น หักดูแกนในต้องสีขาวขุ่นเช่นกัน จากนั้นนำเมล็ดที่แกะเปลือกแล้วไปเพาะกล้า โดยปักดำต้นเดียว ดำเป็นแถวเป็นแนว ถึงเวลาคัดเลือกต้องเลือกต้นที่แตกกอดี ผลผลิตดี ข้าวลีบน้อย มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ แล้วเก็บเป็นรวงเพื่อนำมาดำเป็นรวง และต้องมีการคัดเลือกซ้ำให้ตรงสายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์แท้ เป็นสายเลือดเดียวกัน อันจะนำไปสู่ ความเป็นเจ้าของที่สามารถเก็บ คัดเลือก ปรับปรุง รวมไปถึงการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์โดยชาวนาเอง

คำนึงความหลากหลายสายพันธุ์

          การรื้อฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกลับคืนสู่ผืนนา สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความหลากหลายของสายพันธุ์ นอกจากการนำมาปลูกตามความเหมาะสมในนิเวศที่แตกต่างแล้ว ยังต้องทำให้เห็นศักยภาพของพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด ที่มีคุณค่า มีโภชนาการที่แตกต่างกัน เพราะการสร้างความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเป็นหนทางที่นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และผู้บริโภคเองมีส่วนสนับสนุนโดยการรู้จักบริโภคข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะลิแดงน้ำตาลต่ำเหมาะกับคนเป็นเบาหวาน แต่ถ้าต้องการน้ำตาลเยอะต้องเป็นมะลิดำ

ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมข้าว ความหลากหลายที่ท้าทายสถานการณ์ปัจจุบัน” มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 ขอบคุณภาพจาก คุณมงคล ด้วงเขียว

บทความแนะนำ