องค์การบริหารส่วนตำบลกับการรับรองสิทธิพันธุกรรมของชุมชน
การขึ้นทะเบียนพันธุกรรมชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างการทบทวนความรู้ในด้านพันธุกรรมซึ่งมีอยู่ในมือเกษตรกร จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างคนภายในชุมชนถึง การดูแล การเก็บรักษา และการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พันธุกรรมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของเกษตรกรกำลังถูกคุกความจากบรรษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการสิทธิในการผูกขาดความเป็นเจ้าของ
องค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานและมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ร่วมกันจัดกิจกรรมในการรับรองสิทธิเกษตรกรในท้องถิ่นผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุกรรมชุมชน โดยสาระหลัก คือ
1.รวบรวมความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เป็นลายลักษณ์อักษร
2.สร้างการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ด้านพันธุกรรมพืชท้องถิ่นภายในชุมชน
3.นำไปสู่การรับรองพันธุกรรมภายในชุมชนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสร้างสิทธิในการเป็นเจ้าของพันธุกรรมโดยชุมชนและช่วยกันปกป้อง รักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้ภายในท้องถิ่น
การรับรองสิทธิเกษตรกรผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชชุมชนนั้น กระทำโดยอาศัยนัยยะของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา74 ซึ่งให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการคุ้มครองสิทธิของชุมชน ดังนั้นการเก็บรวบรวมภูมิปัญญาชุมชนในเรื่องพันธุกรรมพืช อันประกอบลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แหล่งที่มา การปลูกการดูแลรักษา การใช้ประโยชน์ (การกิน การเป็นยารักษาโรค ใช้ในพิธีกรรม เป็นต้น) ไปจนถึงสถานภาพการคงอยู่ของพันธุ์พืชในชุมชน เป็นเอกสารความรู้ของชุมชนเพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลออกการรับรองการมีองค์ความรู้เหล่านี้ภายในชุมชน ผ่านประชาคมหมู่บ้านและสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
“สร้างอยู่ สร้างกิน” เป็นเป้าหมายสำคัญของการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมของชุมชน เพราะในปัจจุบันนั้นการเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เองนั้นมีลดน้อยลง พืชหลายชนิดถูกบรรจุอยู่ในซอง กระป๋อง ถูกปรับให้ไม่สามารถเก็บเชื้อเพื่อขยายต่อได้ หรือแม้ขยายต่อก็ได้คุณลักษณะที่ไม่เหมือนเดิม จนท้ายที่สุดจะนำไปสู่การผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์อย่างเช่นที่เคยเกิดกับข้าวโพดมาก่อนหน้านี้ จากเดิมที่เคยมีพันธุ์สุพรรณ จนถูกพัฒนามาจนเป็นพันธุ์ปรับปรุงเป็นพันธุ์ลูกผสมจนเกษตรกรต้องซื้อในฤดูกาล
กระบวนการขึ้นทะเบียนพันธุกรรมชุมชนครั้งนี้ทำบทบาทหลักอยู่กับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวังโดยมีพี่เลี้ยงจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานและมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นเสมือนการนำร่องในการรวมรวมภูมิปัญญาของชุมชน ซึ่งหลักๆจะเป็นการชี้ให้ชุมชนเห็นถึงสถานการณ์ด้านพันธุกรรมของหมู่บ้านตนเอง ทั้งการสูญหายไปของพืชบางชนิด การต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ และการให้เจ้าของพันธุกรรมนำพืชที่ตนเองปลูกอยู่มาแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับคนอื่นๆในชุมชน ครั้งนี้มีพันธุกรรมที่นำมากว่า 71 สายพันธุ์ ทั้งบวบ แตง ฟักทอง กระเพรา ผักอีตู่ ฟัก ผักขะแยง ผักแพว มะเขือ บักเขือเครือ(มะเขือเทศ) พริก ข่า ข้าวโพด เป็นต้น
พื้นที่ปลูกน้อยลง พืชบางชนิดปลูกยาก การไม่ทนทานต่อโรค ไม่รู้จักสรรพคุณของพืช เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พันธุกรรมเหล่านี้เริ่มลดน้อยจนเกือบสูญหายไปจากชุมชน แต่หลังจากทำการแลกเปลี่ยนในด้านกระบวนการในการปลูกดูแลรักษาของปราชญ์หลายๆคนแล้วก็ทำให้ทราบว่าแท้จริงแล้วเทคนิค วิธีการในการปลูก ดูแลรักษาพันธุกรรมพื้นบ้านนั้นก็มิได้ยากเลย เพียงแต่จะต้องค้นให้พบผู้รู้ในด้านนั้นหรือจัดให้มีการรวบรวมแลกเปลี่ยนเทคนิคกันอยู่เสมอๆความรู้เหล่านี้ก็จะกระจายออกไปพร้อมๆกับตัวพันธุกรรมสู่ผู้สืบทอด เช่น การปลูกข่าให้ได้กินตลอดทั้งปีสามารถทำได้โดยการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือขลำในการปลูกมะเขือขื่น คือ ห้ามปลูกใกล้มะเขือชนิดอื่น เพราะจะทำให้มะเขือชนิดอื่นรสชาติไม่ดีไปด้วยเป็นต้น
การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พันธุกรรมเหล่านี้สามารถดำรงอยู่ได้ เช่น การเป็นเครื่องปรุงในการประกอบอาหารของผักอีตู่ ผักแขยง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมในการบริโภคว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการคงอยู่ของพันธุกรรมชุมชน ประกอบกับการรู้จักสรรพคุณของพืชเหล่านั้น วิธีการปลูกการดูแลรักษา และความสำคัญของพันธุกรรมในการเป็นรากฐานของชีวิต เป็นต้นกำเนิดของสิ่งต่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน พิธีกรรม ความเชื่อ และปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์
องค์กรบริหารส่วนตำบลสายนาวังเป็นเพียงหนึ่งหน่วยของท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับสิทธิในพันธุกรรมของชุมชน ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีพื้นที่ต่างๆที่ได้ดำเนินการในการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพันธุกรรมเพื่อเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนพันธุ์และรับรองสิทธิเกษตรกร คือ พื้นที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลราศีไศล อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีษะเกษและตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งกำลังอยู่ในการดำเนินการในการขอรับรองโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแต่ละท้องที่
กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อรับรองสิทธิเกษตรกรผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุกรรมชุมชนสามารถกระทำได้ในหลากหลายรูปแบบทั้งการทำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างในพื้นที่ตำบลสายนาวัง ผ่านกระบวนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ตำบลแม่ทา ทำโดยเกษตรกรในพื้นที่ตำบลกำแมด และใช้งานวิจัยชาวบ้านของตำบลราษีไศล ล้วนแล้วแต่มุ่งสร้างการเก็บรวบรวม แลกเปลี่ยน ความรู้ พันธุกรรม และนำไปสู่การสร้างความภาคภูมิในสิทธิของเกษตรกรในการเป็นเจ้าของพันธุกรรมต่อไป