โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชาวนาอยู่ตรงไหนในแผน 13

          สถานการณ์ปัญหาของชาวนามีมากมาย และการแก้ไขก็มีมาหลายยุคหลายสมัย จนดูเหมือนว่า “การทำนาปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวนั้นไปไม่รอด” กลายเป็นคำตอบของชาวนา เช่นเดียวกันในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีจินตนาการด้านเศรษฐกิจชุมชนชาวนาที่ชัดเจนว่าชาวนา คือฐานสำคัญของการผลิตที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับเกษตรกรรมยั่งยืน และสามารถกระจายความมั่งคั่งของทรัพยากรในระดับชุมชนสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสังคมได้ ก็ไม่แน่ใจว่า..ชาวนาอยู่ตรงไหนในแผน 13

ปัญหาชาวนาจะแก้อย่างไร ?

          สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาชาวนา ต้องเข้าใจเงื่อนไขที่ทำให้ชาวนากลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางในสังคมโดยเฉพาะชาวนารายย่อย ตัวอย่างเช่น

  • วิกฤตด้านราคาข้าวและรายได้ ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำมาตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี 2564 ราคาข้าวเปลือกสำหรับข้าวทั่วไป เกี่ยวสดจากนาเฉลี่ยเหลือ 6,000-6,500 บาทต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ในระดับ 7,000-8,000 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับราคาข้าวสารอย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เหลือเพียง 30 บาทต่อกิโลกรัมจากที่เคยขายได้ในราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม รวมไปถึงราคาข้าวอินทรีย์ที่ตกอยู่ในสภาพการแข่งขันสูงทั้งการแข่งขันระหว่างกลุ่มเกษตรกรกันเอง และการแข่งขันจากบริษัทค้าข้าวใหญ่ๆ ที่ให้ความสนใจข้าวอินทรีย์
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวนา และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความเปราะบางของชาวนาหรือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างมาก ข้าวได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรองจากมันสำปะหลัง และการปลูกข้าวเชิงเดี่ยวจะได้รับความเสี่ยงสูงกว่าการปลูกข้าวในแปลงผสมผสานที่มีพืชผักหรือการเลี้ยงสัตว์ร่วมที่ทำให้ผลตอบแทนดันให้รายได้ชาวนาอยู่ในสภาวะเสี่ยงน้อยกว่าถึงร้อยละ 92 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ข้าวไม่ผสมเกสร เกิดการแย่งชิงน้ำในการทำนา เกิดปัญหาการระบาดของศัตรูข้าวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหนูและนก และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวมักเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นา เหล่านี้ทำให้ต้นทุนในการทำนาสูงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตข้าวลดลงจากเดิมถึงร้อยละ 40-50
  • นโยบายและมาตรการในนามความช่วยเหลือของรัฐ ถึงแม้ที่ผ่านมารัฐมีมาตรการ และนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวนา แต่กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ส่งผลต่อชาวนาในระยะสั้นๆ เท่านั้น และเป็นการช่วยเหลือชาวนาแบบให้เปล่า จึงลดแรงจูงใจในการปรับตัว แต่ได้กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการผลิตให้แก่ชาวนามากขึ้น เช่น นโยบายประกันราคาผลผลิตทางการเกษตรจำนวน 7 แสนล้านบาท สามารถประกันราคาข้าวให้กับชาวนาไม่มากนัก อย่างข้าวหอมปทุมได้ส่วนต่างจากการประกัน 300 บาทต่อเกวียน ในขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าได้ 700 บาทต่อเกวียน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเท่านั้น ส่วนนโยบายส่งเสริมระบบนาแปลงใหญ่ในปี 2563 ที่พบว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นการอบรมให้ความรู้มากกว่าสร้างให้กลุ่มชาวนาสามารถบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนและสร้างประสิทธิภาพการผลิต นโยบายนาแปลงใหญ่จึงเกิดการผลิตแบบอินทรีย์ของชาวนารายย่อยน้อยมาก แต่กลับมีทุนใหญ่เข้ามาจัดการและผลิตนาอินทรีย์แทน สำหรับนโยบายส่งเสริมนาอินทรีย์ล้านไร่ในปี 2564 ปรากฏว่าชาวนาสามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้ในปริมาณมากจนล้นตลาด และไม่มีที่จำหน่าย ไม่ต่างกับการผลักดันเพื่อจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่พบว่ากลุ่มที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่คน ไม่สามารถกระจายสู่คนทั้งชุมชนได้

แนวทางการแก้ปัญหาชาวนา

  • ต้องเข้าใจเรียนรู้และทำความเข้าใจภาพชีวิตเศรษฐกิจของชาวนา ว่ารายได้ไม่ได้มาจากการทำนาเพียงอย่างเดียว ชาวนาต้องดิ้นรนและปรับตัวเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายทั้งการปลูกพืชเสริม การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางเกษตร และการนำผลผลิตไปจำหน่าย รวมไปถึงการออกรับจ้างในภาคเกษตรและไปขายแรงงานข้างนอก
  • นโยบายแก้ปัญหาชาวนาต้องหนุนเสริมความจำเป็นในการปรับตัวของชาวนา ในเชิงโครงสร้างการปรับตัวของระบบการผลิตจากการทำนาหรือปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู่การทำเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายของพืชและสัตว์ การปรับตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงการเป็นแรงงานรับจ้าง แม่ค้าพ่อค้ารถเข็นบนพื้นที่สาธารณะ รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาในการปรับตัว เพื่อเข้าถึงและได้รับสวัสดิการหรือบริการต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เพราะนี่คือการดิ้นรนในชีวิตชาวนา
  • ทบทวนและสรุปบทเรียนการดำเนินงานนโยบายและมาตรการหนุนเสริมชาวนาที่ผ่านมา ต้องมีกระบวนการสรุปบทเรียนให้เห็นข้อดี ข้อด้อย ปัญหา อุปสรรคต่างๆ แล้วนำมาปรับแก้ไขที่สอดคล้องเหมาะสม ภายใต้ภาพชีวิตแท้จริงของชาวนา เพื่อหนุนเสริมและแก้ปัญหาของชาวนาได้อย่างแท้จริง โดยไม่ตกอยู่ในมายาคติของกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งหมายถึงชีวิตชาวนายังคงต้องดิ้นรนชีวิตไปในหลายทิศหลายทาง
  • สร้างตลาดในระดับชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนมีตลาดสีเขียว ตลาดทางเลือก ที่เชื่อมโยงและรองรับผลผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพจากชาวนารายย่อย และคนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย กรณีนี้จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อตลาดในเมืองถูกปิดตัวลง ผลผลิตในชุมชนไม่สามารถส่งขายตลาดในเมืองได้ แต่ได้กลายเป็นแหล่งอาหารที่ทำให้คนในชุมชนอยู่รอดได้ ข้อสำคัญการสร้างตลาดในระดับชุมชนท้องถิ่นต้องมีกระบวนการคัดสรร จัดหาพร้อมทั้งสนับสนุนผลผลิต ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในชุมชนเอง เพื่อไม่ให้ตลาดตกกับดักของความสำเร็จที่กลายเป็นอนุสาวรีย์ในชุมชน
  • สนับสนุนการรวมกลุ่มองค์กรหรือสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นกลไกด้านอำนาจในการเข้าถึงการบริการและการต่อรอง เพื่อแก้ปัญหาของชาวนารายย่อย ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการรวมกลุ่มองค์กร หรือสถาบันเกษตรกรหลากหลาย ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สหกรณ์การเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมัชชาเกษตรกรรายย่อย เครือข่ายหนี้สินชาวนา สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาพันธ์ข้าวและชาวนาไทย ฯลฯ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านพบว่า มีการช่วยเหลือและแก้ปัญหาเพียงเฉพาะประเด็น เช่น หนี้สิน เงินกู้ ราคาข้าวในบางช่วง แต่ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองให้กับชาวนาเพื่อแก้ปัญหา และสร้างความยั่งยืนในการทำเกษตรในระยะยาวได้ หรือบางกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมีข้อจำกัดในการกระจายทรัพยากรในชุมชนที่มักกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มคนเล็กๆ ในชุมชน ดังนั้น การขับเคลื่อนงานกับกลุ่มองค์กรหรือสถาบันเกษตรกรเหล่านี้ ต้องมีการคิดและคำนึงถึงการหนุนเสริมว่าจะมีแนวทางอย่างไร ที่สามารถให้ชาวนาหรือเกษตรกรมีส่วนร่วม เข้าถึงการบริการและสามารถต่อรองเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

          ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ในมิติเกี่ยวกับชาวนาและเกษตรกรรายย่อย จึงควรมีฐานคิดสำคัญของเศรษฐกิจครัวเรือนและเศรษฐกิจชุมชนในฐานะเป็นหน่วยการผลิตที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และมีศักยภาพในฐานะหน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และการด้นชีวิตเพื่อแสวงหารายได้จากหลายลักษณะ รวมทั้งสามารถกระจายความมั่งของทรัพยากรธรรมชาติสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ