โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 16 การจัดการวัชพืชในแปลงนาอินทรีย์

        “วัชพืช” ถูกตราหน้าว่าเป็นสิ่งเลวร้าย แก่งแย่งธาตุอาหาร น้ำ แสงแดด ทำให้พืชที่ปลูกเสียหาย ผลผลิตตกต่ำ มิหนำซ้ำยังเป็นพืชอาศัยของโรคและแมลงที่เข้ามาทำลายพืชผักในแปลง จึงต้องกำจัดออกไม่ให้หลงเหลือในแปลงเกษตร การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดจึงถูกนำมาเสนอให้ใช้อย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน จนเบียดขับคุณค่าด้านประโยชน์ หรือการมองวัชพืชให้เป็นส่วนหนึ่งของนิเวศเกษตรให้ออกไปจากความคิด ทั้งๆ ที่จำนวนชนิดพืชที่มีเมล็ดมากกว่า 250,000 ชนิด มีเพียง 3% หรือประมาณ 8,000 ชนิดที่ถูกจัดเป็นวัชพืช และมีเพียง 0.1% หรือ 250 ชนิด ที่จัดเป็นวัชพืชในแปลงเกษตร และมีเพียง 25 ชนิด หรือประมาณ 0.01% เท่านั้นที่เป็นวัชพืชทำลายความเสียหายให้แก่การเพาะปลูก และจัดเป็นวัชพืชร้ายแรง (https://keakankased.wordpress.com/)
        การทำนาอินทรีย์หลักการสำคัญ คือการไม่ใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและสารกำจัดโรคแมลง รวมถึงสารกำจัดวัชพืชทางการเกษตร สิ่งสำคัญต้องมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของวัชพืช ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนาข้าว ที่ต้องมีการจัดการควบคุมให้อยู่ร่วมในนาในปริมาณที่ไม่ทำความเสียหายให้กับต้นข้าว และไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

ควบคุมและจัดการ……ก่อนกำจัด

        บำรุงดินให้สมบูรณ์ การฟื้นฟูดินให้สมบูรณ์มีธาตุอาหารครบถ้วน โดยการจัดการให้ปริมาณธาตุอาหารในดินสูญเสียน้อยกว่า หรือเท่ากับปริมาณธาตุอาหารที่ดินได้รับในรูปของแร่ธาตุและอินทรีย์วัตถุ ด้วยการเติมอินทรียวัตถุให้กับดินอย่างเพียงพอต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้ดินว่างเปล่าโดยการปลูกพืชคลุม หรือใช้วัสดุอินทรีย์คลุมดิน ไม่ทำลายจุลินทรีย์ด้วยการใช้สารเคมี เมื่อดินสมบูรณ์แล้ววัชพืชที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นชนิดใบกว้าง หรือเป็นวัชพืชที่ไม่ทำลายต้นข้าวให้เสียหาย บางส่วนเก็บถอนมาเป็นอาหาร
        ทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ โดยการฝัดหรือโบก เพื่อให้สิ่งเจือปนที่เบากว่าเมล็ดข้าวแยกตัวออก นำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแช่น้ำคนให้ทั่วแล้วทิ้งไว้สักพัก เมล็ดที่เสียและเมล็ดวัชพืชที่ปนจะลอยอยู่ข้างบนให้ตักออกจึงนำเมล็ดที่จมน้ำไปปลูก รวมถึงการคัดแยกสิ่งเจือปนด้วยมือ
        เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม ลักษณะพันธุ์ข้าวบางชนิดสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ค่อนข้างสูง เช่น ทรงต้นสูง ใบแผ่กว้างจะช่วยปกคลุมปิดกั้นบังแสงไม่ให้ส่องผ่านสู่ดินได้ จึงลดการงอกหรือชะลอการเติบโตของวัชพืช พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะทรงใบแผ่กว้าง เช่น ข้าวเหนียวเล้าแตก ข้าวเหนียวขี้ตมใหญ่ ข้าวเหลืองปะทิว รวมทั้งข้าวมะลิ
        ทำความสะอาดเครื่องจักรและเครื่องมือในนา การทำความสะอาดเครื่องมือก่อนลงปฏิบัติงานในนา เป็นการลดปริมาณการแพร่กระจายของเมล็ดวัชพืชจากแหล่งอื่น ซึ่งติดมากับเครื่องมือนั้นๆ
        ปรับระดับพื้นที่ หากผืนนาไม่สม่ำเสมอบริเวณที่ต่ำ หรือเป็นแอ่งหากมีฝนตกน้ำจะท่วมขังไม่สามารถระบายน้ำออกได้ต้นข้าวมักจะเน่าตาย ส่วนบริเวณที่น้ำไม่ท่วมขังก็เป็นช่องทางให้วัชพืชเจริญเติบโตขึ้นมาได้
        การเตรียมดิน มีทั้งไถดะ ไถแปร คราดและทำเทือก ขึ้นกับเงื่อนไขสภาพดินฟ้าอากาศ เครื่องมือที่ใช้ ค่าใช้จ่ายและแรงงานที่มี

การไถ

เป็นการพลิกหน้าดินส่วนล่างขึ้นมาอยู่ข้างบน การไถครั้งแรก(ไถดะ) เป็นการกลบทำลายวัชพืชที่อยู่ด้านบน ส่วนวัชพืชที่อยู่ด้านล่างก็จะถูกพลิกขึ้นมาข้างบน จากนั้นเว้นช่วงให้เมล็ดวัชพืชงอกแล้วไถครั้งที่สอง (ไถแปร) เพื่อฝังกลบวัชพืชลงในดิน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณวัชพืช

การคราด

เป็นการกำจัดวัชพืชที่ใช้ลำต้นหรือเหง้าในการขยายพันธุ์ รวมทั้งต้นอ่อนหลังการไถ และยังทำให้ดินร่วนซุยรากข้าวต้นข้าวชอนไชได้ง่าย แต่ถ้าเป็นดินทรายไม่ควรย่อยดินให้ละเอียดเกินไป

การทำเทือก

เป็นการทำให้ดินที่ผ่านการไถดะหรือไถพรวนแล้ว ให้อยู่ในสภาพที่เละง่ายต่อการปักดำ หรือการทำนาหว่านน้ำตม เป็นการปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอป้องกันการงอกของวัชพืช

        การปลูก การทำนาดำจะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้มากกว่าวิธีอื่น เพราะต้นกล้าสามารถเติบโตแข่งขันกับวัชพืชได้ อีกทั้งสภาพที่มีน้ำท่วมขังในแปลงทำให้วัชพืชประเภทใบแคบไม่สามารถงอกได้
        การควบคุมระดับน้ำ หากสามารถควบคุมและจัดการน้ำเข้า-ออกจากแปลงได้ การปล่อยน้ำให้ขังอยู่ในแปลงที่เหมาะสมช่วยลดปัญหาวัชพืชใบแคบที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำขัง โดยมีการจัดการดังนี้

ระยะต้นกล้า

ระบายน้ำออกให้เหลือหมาดๆ จนต้นข้าวจะสูงประมาณ 7-10เซนติเมตร ระบายน้ำเข้าให้น้ำอยู่บริเวณโคนต้นกล้า 3-5 เซนติเมตรแล้วค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำ

ข้าวแตกกอ

ระดับน้ำที่เหมาะสมประมาณ 5-10 เซนติเมตร

สร้างรวงถึงข้าวออกดอก

ปล่อยให้น้ำท่วมขังในระดับ 10-20 เซนติเมตร

หลังข้าวออกดอก

รักษาระดับน้ำ 10-20 เซนติเมตร ไปจนข้าวออกดอก 15-20 วัน ลดระดับน้ำให้ดินพอมีความชื้นแต่ไม่มีน้ำท่วมขัง จนกระทั่งเก็บเกี่ยว

หลังการเก็บเกี่ยว

ถ้าดินมีความชื้นพอเหมาะ ควรไถกลบฟางข้าวและหว่านปุ๋ยพืชสด พืชตระกูลถั่ว เพื่อคลุมดินป้องกันวัชพืชและเป็นการบำรุงดินด้วย

        การควบคุมโดยชีววิธี เป็นวิธีการเอาสิ่งมีชีวิตเข้ามาควบคุมเช่น การเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และปลูกแหนแดง จะมีส่วนช่วยป้องกันและกำจัดวัชพืชได้เป็นอย่างดี และเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินอีกด้วย

        การปลูกพืชหมุนเวียน สลับกับการปลูกข้าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนทั้งสภาพของดิน และชนิดของวัชพืช หากเป็นการทำนาปี หลังการเก็บเกี่ยวควรปลูกพืชคลุมดินตลอดเวลา เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน ปรับโครงสร้างของดินและช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชด้วย


กำจัดวัชพืช…..หลังการจัดการและควบคุม

        หากมีการควบคุมวัชพืชแล้วปรากฏว่ายังมีวัชพืชเกิดขึ้นแปลงนา ถ้าวัชพืชเติบโตในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อข้าว ก็ไม่จำเป็นต้องกำจัด แต่หากวัชพืชเกิดขึ้นในปริมาณมาก จำเป็นต้องมีการกำจัดซึ่งต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำลายระบบนิเวศนาข้าว มีวิธีการเช่น
        ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปกิน โดยปล่อยสัตว์เลี้ยง(ควาย)ลงไปในแปลงนา ปล่อยให้กินทั้งวัชพืชและต้นข้าว โดยผูกควายเพื่อกำหนดขอบเขตให้ควายแทะเล็มวัชพืชและต้นข้าว เมื่อฝนตกลงมาต้นข้าวจะงอกขึ้นใหม่และเติบโตเร็วกว่าวัชพืช แต่ถ้าเห็นว่าวัชพืชมีปริมาณมากกว่าต้นข้าว ก็ถอนต้นข้าวออกมาก่อนแล้วปล่อยควายลงไปกินวัชพืชจากนั้นก็ไถกลบวัชพืช แล้วนำข้าวที่ถอนมาปักดำ วิธีนี้จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวดี
        ใช้มือถอน โดยเลือกเฉพาะวัชพืชบางชนิดที่เห็นว่าหากปล่อยทิ้งแล้วเป็นอันตรายต่อต้นข้าว ควรทำเมื่อวัชพืชมีขนาดเล็กเพราะรากหยั่งดินไม่ลึก และยังไม่ออกดอก
        ใช้เคียวและเครื่องตัด การใช้เคียวเกี่ยว แล้วนำวัชพืชไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก หรือการใช้เครื่องตัดหญ้า ซึ่งจะตัดทั้งวัชพืชและต้นข้าวให้มีระดับความสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ข้อมือ หลังการตัดก็ปล่อยเศษวัชพืชและต้นข้าวทิ้งไว้ในแปลง เมื่อฝนตกมาน้ำท่วมขังเศษวัชพืชจะเน่าเป็นปุ๋ยให้ต้นข้าวที่งอกงามและเติบโตขึ้นมาใหม่
        ใช้วัสดุคลุมดิน หลังการเก็บเกี่ยวโดยใช้ฟางข้าว ตอซังพืช คลุมผิวดินบนแปลงให้หนาประมาณ 1-2 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นวัชพืชได้รับแสง และจะตายไปในที่สุด
        อย่างไรก็ตาม การจัดการวัชพืชในนานั้น จำเป็นต้องสังเกต เข้าใจและเอาใจใส่แปลงนาเพื่อให้รู้จักวงจรวัชพืชและรู้จักชนิดวัชพืชว่ามีชนิดใดบ้าง เกิดขึ้นช่วงใด ลักษณะเป็นเช่นไร เพื่อจัดการได้ถูกต้อง ที่สำคัญหากมีการปฏิบัติตามหลักการเกษตรอินทรีย์แล้ว ความสมดุลของระบบจะเกิดขึ้น ดินมีความอุดมสมบูรณ์ การใช้พันธุ์พืชท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมก็เป็นวิธีการที่ทำให้โรค แมลง วัชพืช ไม่เข้ามาทำลายพืชจนเสียหาย

บรรณานุกรม

HOME

http://www.ricethailand.go.th/rkb/data_006

http://web.ku.ac.th/agri/rice/rice.htm

http://www.doa.go.th/botany/rice.html

บทความแนะนำ

การเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีรักษาความหลากหลายพันธุกรรมพืช ….แต่การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว และการจำกัดสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นปัจจัยทำให้พันธุกรรมพืชลดลง : สุพจน์ หลี่จา