กรณีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้น อาจกล่าวได้ว่าเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรอินทรีย์ต้องมีการปรับตัวมากกว่าเกษตรกรที่อยู่ในระบบการผลิตที่พึ่งพาสารเคมี เนื่องระบบการทำเกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตที่หลากหลาย และในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลทำให้การทำนาปลูกข้าวต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานเข้ามาในแปลงเพื่อดำนา และในช่วงข้าวออกรวงต้องเผชิญกับภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายกับข้าวที่รอเก็บเกี่ยว เกษตรกรจึงต้องดิ้นรนหาทางปรับตัวจากสภาวะที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในการทำเกษตรอินทรีย์เกษตรกรต้องมีความยืดหยุ่นในการเลือกชนิดพืชผักที่มาปลูกให้หลากหลาย ที่สำคัญต้องยกระดับและพัฒนาความรู้ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อการปรับตัวในการปลูกผัก เช่น ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจคุณค่าและประโยชน์ของผักพื้นบ้านชนิดต่างๆ ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกในท้องถิ่นนั้นๆ เรียนรู้การนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารต่างๆ เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ผู้บริโภค เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถผลิตผักชนิดเดิมซ้ำในพื้นที่เดิม หรือผักบางชนิดอย่างเช่นผักจีนที่ต้องอาศัยการจัดการและดูแลมาก หากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บางชนิดอาจปลูกได้ในฤดูนี้แต่พอถึงปีถัดไปสภาพอากาศเปลี่ยนไม่เหมือนเดิมผักชนิดนั้นไม่สามารถปลูกได้ เกษตรกรจึงจำเป็นที่ต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนชนิดผักที่ปลูกอยู่ตลอดเวลา
ข้อเสนอแนวทางการปรับตัวของเกษตรกร
1) ด้านเทคนิคการผลิต
เทคนิคการผลิตเป็นเรื่องสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพปัจจัยการผลิตและผลผลิต โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ปัจจัยการผลิตที่นำมาใช้ต้องช่วยควบคุมธรรมชาติให้มีผลกระทบน้อยที่สุด เช่น การจัดการแหล่งน้ำ เกษตรกรต้องวางแผนให้มีแหล่งน้ำเพียงพอในการทำเกษตรตลอดทั้งปีก็สามารถลดความเสี่ยงด้านผลผลิตได้ ไม่ว่าจะเผชิญกับภาวะแล้งฝนไม่ตกตามฤดูกาลก็ตาม หรือการมีเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือบริบทในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำมาใช้ได้หรือแก้ไขหรือสามารถผลิตเองได้ง่าย ก็จะช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิตแต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้
2) หนุนเสริมองค์ความรู้ด้านการปรับตัวแก่เกษตรกร
ความรู้ต่อการปรับตัวของเกษตรกรนั้นเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่นเกษตรกรมีความถนัดในการปลูกผักใบ แต่เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจจะต้องเปลี่ยน หรือเพิ่มทักษะที่มากกว่าการปลูกผักใบ อาจต้องมีการปลูกผักที่ต่างชนิดกันมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งเกษตรกรต้องค้นหาความรู้ หรือมีองค์กร/หน่วยงานที่เสริมความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มทักษะนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม
3) สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภค
การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้บริโภคไม่มีองค์ความรู้ในการเลือกวัตถุดิบหลากหลายและมีคุณภาพสำหรับทำอาหาร ก็จะถูกสายพานการผลิตหลักพาไปสู่การบริโภคพืชผักเพียงไม่กี่ชนิด ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องมีทักษะถ่ายทอดสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ผู้บริโภค ทั้งวิธีการเลือก วิธีทำและกินอาหารที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้าใจระบบการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ต้องผันไปตามฤดูกาล แต่เป็นระบบที่ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เหล่านี้จะทำให้เกษตรกรได้เปรียบและมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาทางกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว ได้ร่วมกับเครือเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รณรงค์ในประเด็นอาหารเป็นยา ที่เชื่อมโยงกับการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนกับผู้บริโภค โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโควิด ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพและเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดสารเคมีมากขึ้น
4)การจัดการน้ำ
ข้อมูลการพยากรณ์อากาศทุกวันนี้มีความเที่ยงตรงมากขึ้น เกษตรกรสามารถเอามาวางแผนทำกิจกรรมการเกษตร เพียงแค่รู้ว่าอีก 1 ชั่วโมงจะมีฝนตก ก็สามารถใช้เตรียมกิจกรรมเกษตรได้หลายอย่าง ยิ่งเกษตรกรรับรู้การพยากรณ์อากาศมากเท่าไร ยิ่งทำให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้ในการวางแผนการผลิตตั้งแต่ การเตรียมไถดิน การวางแผนปลูกพืช การเก็บเกี่ยว ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในกรณีฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรต้องวางแผนการจัดการแหล่งน้ำในแปลงเกษตรให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์
5)การจัดการด้านการตลาด
ในปัจจุบันผลผลิตหลักของกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว ได้นำไปร่วมกับผลผลิตของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อส่งให้กับร้านเลม่อนฟาร์ม และทางกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วเอง ได้ส่งผลผลิตให้กับโรงครัวของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี ในช่วงแรกกลุ่มต้องเผชิญกับข้อจำกัดไม่สามารถมีผลผลิตตรงตามความต้องการของโรงพยาบาลทั้งในส่วนของผลไม้และพืชผัก เช่น โรงพยาบาลต้องการผลไม้ในกลุ่มแอปเปิ้ลและสาลี่ พืชผักในกลุ่มของผักจีนต่างๆ ทางกลุ่มได้แก้ข้อจำกัดดังกล่าว โดยเชิญนักโภชนากรของโรงพยาบาลมาทำความเข้าใจระบบการผลิตของกลุ่ม ผ่านกิจกรรมทัวร์ไร่นาของสมาชิกกลุ่ม โดยกลุ่มได้นำเสนอเมนูอาหารที่มีวัตถุดิบเป็นพืชผักพื้นบ้านที่มาจากผลผลิตในแปลงของสมาชิก พร้อมทำความเข้าใจให้เห็นคุณค่าวัตถุดิบที่ต้องผลิตตามความเหมาะสมของฤดูกาล และเรียนรู้ที่จะนำผลผลิตมาทำเป็นเมนูให้กับคนไข้ที่หลากหลายมากขึ้น ที่สำคัญกลุ่มได้เชื่อมสัมพันธ์ด้านการผลิตและการตลาดกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ทั้งในและต่างจังหวัด เพื่อสร้างช่องทางการตลาดที่หลากหลายและยืดหยุ่นในการหมุนเวียนกระจายผลผลิตของกลุ่มได้ต่อเนื่อง