โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

แนวทางการปรับตัวในการปลูกไม้ผล

อาจารย์บุญรุ้ง สีดำ ชุมชนศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ
        อาจารย์บุญรุ้งได้ขอเกษียณจากข้าราชการ เพื่อมาทำเกษตรอินทรีย์พร้อมการปฏิบัติธรรมร่วมกับศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ โดยได้รับผิดชอบการเรียนการสอนของโรงเรียนสัมมาสิกขา และเป็นวิทยากรบรรยายการทำเกษตรอินทรีย์

 แนวคิดของศีรษะอโศก

        ศีรษะอโศกเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์กับผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ โดยเริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2539 และมีแนวคิดการบริหารจัดการที่เน้นการปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เพื่อนำไปสู่ความสุข 2 ด้าน คือ สุขแรกเป็นการทำเกษตรด้วยความสุขผ่านการปฏิบัติธรรม สุขที่สอง คือ สุขภาพที่ดีจากการบริโภคผลผลิตปลอดภัยจากสารเคมีจากการเพาะปลูกกันเอง ไม่เอาเงินมาเป็นตัวตั้ง จึงไม่ได้วางแผนการตลาด และจะไม่เอาเงินไปซื้อของจากภายนอกมาบริโภคเพื่อหลีกพ้นจากการปนเปื้อนสารเคมี

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการปรับตัว

        ทางศีรษะอโศกไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน หรือปรับตัวมากนักต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นอยู่ได้ใช้หลักเลี้ยงดินแล้วให้ดินเลี้ยงพืช เมื่อพืชแข็งเรงก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนั้นจะตัดหญ้าให้น้อยที่สุด เพราะมองว่าหญ้าที่งอกมาพร้อมกับพืชที่ปลูกในแปลงไม่ใช่ศัตรู แต่มีประโยชน์ทั้งเป็นปุ๋ยบำรุงดินและรักษาความชื้นให้ดิน ดังนั้น แม้มีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็ไม่ได้ส่งผลกระทบพืชผักที่ปลูก

เริ่มต้นการจัดการแปลงผลิต

        ในปี 2562 ทางศีรษะอโศกได้ซื้อที่ดินเพิ่ม 2 ไร่ ใช้ชื่อว่า สวนปลูก-ปัน ซึ่งมีความหมายเป็นแปลงที่ปลูกพืชด้วยความรักที่ให้กับต้นไม้ และปลูกไว้สำหรับแบ่งปัน เดิมพื้นที่นี้ปลูกมันสำปะหลังและมีการใช้สารเคมีเข้มข้น แต่เมื่อเอาดินมาวิเคราะห์ พบว่ายังคงมีธาตุอาหารที่สามารถปรับปรุงบำรุงดินได้ อีกทั้งต้องการให้เป็นแปลงสำหรับให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้ทดลองการจัดการแปลงผลิตที่เริ่มต้นจากการบุกเบิกใหม่ โดยเน้นการปลูกทุเรียนเป็นหลัก รองมาเป็นพืชผักหลากหลายชนิดเพื่อไว้บริโภค

        เริ่มแรกจัดหาแหล่งน้ำ โดยขุดเจาะน้ำบาดาลและวางระบบท่อน้ำ ดังภาพที่ 1 ตามด้วยผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อนำมาควบคุมเชื้อราไฟทอฟธอราในการปลูกทุเรียน ภาพที่ 2 แล้วถึงนำทุเรียนมาปลูกแบบนั่งแท่น คือ หลังจากได้ต้นพันธุ์มาเอาไปแช่กับน้ำหมักจากปลา 30 วินาที แล้วนำขึ้นมากรีดหรือตัดก้นถุงออก จากนั้นวางต้นพันธุ์ทุเรียนแล้วนำเอาดินที่อยู่รอบๆ กลบ ค่อยๆ ดึงถุงพลาสติกขึ้นมาเอาดินถม ดังภาพที่ 3 แล้วเอาฟางประมาณ 1.5 ก้อนมาห่มดินเพื่อรักษาความชื้นให้กับต้นทุเรียน ดังภาพที่ 4

ภาพ 4 ห่มดินด้วยฟางข้าวบริเวณโคนต้นทุเรียนต้นละ 1.5 ก้อน

        หลังจากปลูกทุเรียนกว่า 20 วัน ยอดอ่อนเริ่มแตกออกมา เมื่อทิ้งไว้ราว 1-2 เดือนจะมองไม่เห็นต้นทุเรียน เนื่องจากมีหญ้าขึ้นเต็มพื้นที่ ดังภาพที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นถั่วผี ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วจึงเหมือนกับการปลูกปุ๋ยนั่นเอง สวนทุเรียนแปลงนี้ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพเพียง 2 ครั้งต่อปี คือใส่ในช่วงเดือนที่ 3 และเดือนที่ 8 โดยช่วงแรกไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย เนื่องจากได้ปุ๋ยจากต้นถั่วผีที่ดึงไนโตรเจนได้มาก และยังช่วยคลุมและรักษาความชื้นให้หน้าดิน รวมถึงเป็นร่มเงาการทำงานของจุลินทรีย์ที่พืชต้องการใช้ประโยชน์ สำหรับต้นไมยราพที่เจริญเติบโตมา ทางศูนย์ฯ ใช้วิธีการปลูกต้นตะไคร้เพื่อให้แตกกอคลุมพื้นที่แทนต้นไมยราพ นอกจากนี้มีการปลูกข้าวโพดเพื่อให้ร่มเงาแก่ต้นทุเรียนในช่วงแรก รวมทั้งมีการตัดแต่งกิ่งใบข้าวโพดเพื่อไม่ให้ทึบเกินไป

        สิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณที่ปลูกต้นทุเรียนในระยะเวลา 2-3 เดือน คือฟางที่ใช้คลุมดินจะมีเห็ดงอกขึ้นมา สามารถเก็บเห็ดเอาไปบริโภคได้ จากนั้นให้ตัดต้นถั่วผี เศษหญ้าต่างๆ หรือฟางมาห่มดินให้กับต้นทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินอย่างต่อเนื่อง ดังภาพที่ 6

        ทางศูนย์ฯ ได้มีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบการใช้วัสดุห่มดินให้กับต้นทุเรียน เพื่อรักษาความชุ่มชื้น กับแปลงปลูกทุเรียนที่ไม่ได้มีการห่มดินแต่รดน้ำทุกวันโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ในขณะที่แปลงทุเรียนที่ห่มดินนั้น จะรดน้ำวันแล้วเว้นไป 2 วัน พบว่า แปลงที่ห่มดินมีความชื้นพอๆ กับแปลงที่ไม่ได้ห่มดินแต่ต้องรดน้ำทุกวัน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าสูบน้ำแปลงห่มดินเพียง 600 บาทต่อเดือนเท่านั้น  

 จุลินทรีย์กับการทำการเกษตร

        ศูนย์ฯ มีความมั่นใจในองค์ความรู้การใช้จุลินทรีย์ในการทำการเกษตรผ่านการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ เพียงแค่เอาไปหว่านลงบนดินจะทำให้ดินมีเชื้อราที่มีประโยชน์ขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งเป็นการยืนยันว่าจุลินทรีย์ที่อยู่บนโลกมีกลุ่มที่ทำให้เกิดโรคเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น สำหรับร้อยละ 98 จะเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และช่วยควบคุมจุลินทรีย์กลุ่มน้อยไม่ให้ทำให้เกิดโรคพืช

 ความสมดุลของระบบนิเวศ

        การปลูกต้นพืชในช่วงแรกมักมีแมลงมากินใบจนใบพรุน แต่ทางศูนย์ฯ ไม่ได้กลัวหรือกังวลในการเข้าทำลายของแมลงมากนัก เพราะเมื่อต้นพืชดูดซึมเอาธาตุอาหารในดินที่เตรียมไว้อย่างดี ส่งผลให้ต้นพืชนั้นๆ เจริญเติบโตและแข็งแรง ซึ่งสามารถป้องกันและควบคุมโรคแมลงได้ด้วยตัวของต้นพืชเอง ดังภาพที่ 7 แสดงสภาพนิเวศของสวนที่ดูรก แต่เป็นระบบนิเวศที่สมดุล สมบูรณ์ และยั่งยืน ต้นอะโวคาโดที่เห็นในภาพมีอายุเพียง 7 เดือนแต่ต้นมีการเจริญเติบโตที่ดีมาก ส่วนวัสดุคลุมดินยังคงมีเชื้อราที่เป็นประโยชน์ต่อการย่อยสลายเป็นอินทรีย์วัตถุให้กับต้นพืชต่อไป

        การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงามทุกต้น แต่บางต้นอาจมีปัญหาเหมือนกันแต่ต้นพืชไม่เคยยอมแพ้ พยายามสร้างและรักษาตัวเองโดยการแตกยอดใหม่จนสามารถเติบโตขึ้นมาได้ และหญ้าไม่ใช้ศัตรู ดังภาพที่ 8 แต่หญ้าจะช่วยคลุมดิน เก็บความชื้น เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ และเป็นปุ๋ย ทางศูนย์ฯ มีตัดหญ้าเพียง 2 ครั้ง ในช่วงการปลูกต้นไม้ลงไปในปีแรก แต่หลังจากนั้นจะใช้วิธีการเหยียบหญ้าให้แบนราบ ด้วยวิธีการนี้จะทำให้หญ้าเติบโตช้ากว่าการตัดหลายสิบเท่า

        แม้ว่าสภาพอากาศจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม หากทำให้ต้นพืชแข็งแรงก็สามารถอยู่รอดได้ แต่ต้นไม้จะแข็งแรงได้ต้องทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ก่อน เมื่อดินสมบูรณ์พืชจะสมบูรณ์และสามารถต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโรคแมลง หรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป และนี่คือการสร้างระบบนิเวศในแปลงเกษตรให้มีความสมดุล

ที่มาภาพอ.บุญรุ้ง สีดำ : www.news1live.com

บทความแนะนำ